โครงการตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย (พ.ศ. 2514) ต. ดอนขุนห้วย อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี และ ต. ท่าคอย อ. ท่ายาง จ. เพชรบุรี

ที่ตั้ง

            ต. ดอนขุนห้วย อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี และ ต. ท่าคอย อ. ท่ายาง จ. เพชรบุรี

ด้านสิ่งแวดล้อม

           การส่งเสริมอาชีพ การเกษตร และแหล่งน้ำ ตามพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 

ความเป็นมา

          โครงการดอนขุนห้วย หรือ โครงการตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย จ.เพชรบุรี และเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงศึกษาวิเคราะห์ปัญหาดินไว้พร้อมกับโครงการหุบกะพง ดังปรากฏในเอกสาร “Soil Dev การพัฒนาดิน” ที่พระราชทานแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับปัญหาดินของโครงการหุบกะพง - ดอนขุนห้วย จ.เพชรบุรี สรุปว่า : ดินทราย มีแร่ธาตุน้อย ดินดาน ขาดน้ำ ต้นเหตุของปัญหามาจาก มีการทำลายป่าไม้ เมื่อเริ่มพัฒนาพื้นที่มีสภาพคล้ายศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และมีพระราชดำริให้จัดหาที่ดินช่วยเหลือราษฎรที่ยากจน ขาดแคลนที่ดินทำกิน โดยพัฒนาให้มีการรวมกลุ่มประกอบอาชีพในรูปแบบหมู่บ้านสหกรณ์คล้ายกับโครงการหุบกะพง ซึ่งหน่วยงานได้ร่วมกันจัดตั้งโครงการ ตั้งแต่ปี 2514 ในพื้นที่สาธารณะและรกร้างว่างเปล่า พื้นที่โครงการรวม 3,990 ไร่ 3 งาน 83 ตารางวา แบ่งเป็น 2 พื้นที่ คือ

          - ดอนขุนห้วย 1 พื้นที่ 2,581 ไร่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ต.ดอนขุนห้วย อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี

          - ดอนขุนห้วย 2 พื้นที่ 1,409 ไร่ 3 งาน 83 ตารางวา ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 และ 6 ต.ท่าคอย อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี

          โดยจัดสรรที่ดินให้แก่ราษฎร ครอบครัวละ 15 ไร่ คัดเลือกราษฎรที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง เข้ามาอยู่อาศัย และส่งเสริมการประกอบอาชีพเกษตรกรรมตามหลักวิชาการแผนใหม่ ปรับปรุงพื้นที่ให้ใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกโดยอาศัยเทคโนโลยีใหม่ๆ ฟื้นฟูอนุรักษ์ป่าไม้ให้เป็นแหล่งอาหารชุมชน มีการจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรดอนขุนห้วย จำกัด มีสมาชิก 224 คน ดำเนินกิจการในรูปของสินเชื่อเงินฝาก จัดตั้งกลุ่มเลี้ยงไก่ กลุ่มปลูกหม่อนไหม กลุ่มสมุนไพรแปรรูป กลุ่มแปรรูปสับปะรด กลุ่มเกษตรผสมผสาน กลุ่มแปรรูปขนุน กลุ่มปุ๋ยหมักชีวภาพ กลุ่มกระดาษสาจากใบสับปะรด เป็นต้น นอกจากนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ประสานงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนโครงการ ได้แก่ การขยายพันธุ์หญ้าแฝก ส่งเสริมการปลูกสับปะรด เลี้ยงสุกร ทำการเกษตรผสมผสานและเลี้ยงปลา ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมตามโครงการศิลปาชีพ ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ปลูกผักปลอดสารพิษ เป็นต้น

ความเป็นมา    

          เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราช ฐานไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมสมาชิกชาวไร่ ผักด้วยความห่วงใย และทรงมีพระราชดำริ สมาชิกกลุ่มชาวไร่ผักมีที่ดินทำกินเพียงครอบครัวละ 2-8 ไร่ ไม่เพียงพอแก่การประกอบอาชีพ จึงทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ นายเอนก พยัครฆันตร ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีในสมัยนั้น จัดหาที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งสามารถประกอบอาชีพการเกษตรได้ ให้แก่สมาชิกทำกินครอบครัวละ 15 ไร่ คล้ายกับสมาชิกรุ่นที่ได้ย้ายไปอยู่ในโครงการหุบกะพง

          ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีได้จัดหาที่ดินในตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ ที่ชาวบ้านเรียกว่า "ดอนขุนห้วย" เป็นที่สาธารณะประเภททุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ และที่รกร้างว่างเปล่า จำนวน 2,581 ไร่ พร้อมทั้งได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงทราบเกี่ยวกับโครงการเมื่อเดือนพฤษภาคม 2514 ซึ่งพระองค์ทรงเห็นชอบ และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งหม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ องคมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินงานมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ เริ่มดำเนินการจัดสรรที่ดินและก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภค ตั้งแต่ปี 2514 โดยรัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินสาธารณประโยชน์ดอนขุนห้วยและทำการรังวัดจัดสรรที่ดินเป็นแปลง ๆ ละ 15 ไร่ รวม 153 แปลง ต่อมาได้คัดเลือกสมาชิกชาวสวนผักและจากผู้สมัครทั้งในจังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม ซึ่งไม่มีที่ดินทำกิน จับสลากเข้าอยู่อาศัยและทำกินตั้งแต่กลางปี 2515

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมเกษตรกรในโครงการตามพระราชประสงค์ ดอนขุนห้วยทุกคราเมื่อเสด็จฯ ไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวลหัวหิน ต่อมาได้ทรงให้จัดสรรที่ดินเพิ่มอีก 1,409 ไร่ ๓ งาน 88 ตารางวา แบ่งเป็นแปลง ๆ ละ 15 ไร่ รวม 97 แปลงตังอยู่หมู่ที่ 5 และ 6 ตำบล ท่าคอย อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งติดกับโครงการแรกเรียกว่า "ดอนขุนห้วย 2" เพื่อให้ลูกหลานของสมาชิกในโครงการดอนขุนห้วย 1 และราษฎรในเขตจังหวัดเพชรบุรี ที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองเข้าอยู่อาศัยทำการเกษตร ตั้งแต่ปี 2519

วัตถุประสงค์  

         1. ช่วยเหลือสมาชิกกลุ่มไร่ผัก ตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี รวมถึงบุคคลในครอบครัว สมาชิกฯ และราษฏรที่ยากจนในจังหวัดเพชรบุรีให้มีที่ทำกินเพียงพอต่อการดำรงชีวิต

         2. ส่งเสริมราษฏรที่เป็นสมาชิกฯ ให้รวมกลุ่มในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมอันเป็นพื้นฐานในการจัดตั้งสหกรณ์

         3. ให้สมาชิกได้ประกอบอาชีพทางการเกษตรกรรมที่ถูกต้องตามหลักวิชาการแผนใหม่ 

         4. ปรับปรุงพื้นที่ที่ยังไม่เคยทำประโยชน์ ให้สามารถเพาะปลูกได้ โดยใช้วิธีการและเทคนิคใหม่ๆ

         5. ส่งเสริมให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการประกอบอาชีพของตนเอง ในที่ดินที่ได้รับการจัดสรร              

พื้นที่ดำเนินการ  

เนื้อที่ประมาณ 3,990 ไร่ แบ่งพื้นที่เป็นแปลงจัดสรรเพื่อการเกษตรรายละประมาณ 15  ไร่  รวม  250 แปลง ดังนี้

        1. โครงการจัดสรรที่ดินตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย 1  พื้นที่ 2,581  ไร่ (แปลงจัดสรร 153  แปลง)  ตั้งอยู่หมู่ที่  5  ตำบลดอนขุนห้วย  อำเภอชะอำ

        2. โครงการจัดสรรที่ดินตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย 2  พื้นที่ 1,409 ไร่ (แปลงจัดสรร 97  แปลง)  ตั้งอยู่หมู่ที่ 5  และ 6  ตำบลท่าคอย  อำเภอท่ายาง

        3. กลุ่มสตรีในโครงการพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย ละติจูด 12.869855, ลองติจูด 99.920393

จากผลการพัฒนา

มีองค์ความรู้ที่สามารถนำมาขยายผล ดังนี้

       1. รูปแบบการบริหารจัดการหมู่บ้านสหกรณ์

       2. การอนุรักษ์ดินและน้ำโดยใช้หญ้าแฝก

       3. การแปรรูปสมุนไพรและแปรรูปอาหาร

       4. การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม

       5. การเกษตรแบบผสมผสาน

หน่วยงานรับผิดชอบ

       กองพลพัฒนาที่ 1 ค่ายศรีสุริยวงศ์ ตำบลดอนตะโก อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โทร. 0-3232,7801-2 ต่อ 52428 , โทรสาร 0-3232-8561

ที่มา

       - สำนักงาน กปร. (2562). องค์ความรู้จากโครงการดอนขุนห้วย. สืบค้น 24 มี.ค. 2565. จาก  http://km.rdpb.go.th/Knowledge/View/114