ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (พ.ศ. 2526) ต. สามพระยา  อ. ชะอำ  จ. เพชรบุรี

ที่ตั้ง

          ต. สามพระยา  อ. ชะอำ  จ. เพชรบุรี

การพัฒนา

          ด้านสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมอาชีพ การเกษตร และแหล่งน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

พระราชดำริ

          แต่เดิมสภาพภูมิประเทศในเขตพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดใกล้เคียงอื่นๆ มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก แต่ภายหลังได้มีราษฎรเข้ามาบุกรุกแผ้วถางป่า ทำลายป่า ทำการเกษตรอย่างผิดวิธี และใช้สารเคมีที่ส่งผลเสียต่อดินและน้ำ ขาดการบำรุงรักษาคุณภาพดิน ทำให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวเปลี่ยนแปรสภาพไปอย่างรวดเร็ว หน้าดินถูกชะล้างความอุดมสมบูรณ์ไปหมดสิ้น ดินกลายเป็นดินทรายและดินดานที่ไม่มีแร่ธาตุ ความสมดุลทางธรรมชาติถูกทำลายโดยสิ้นเชิง เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงความแห้งแล้งของพื้นที่แผ่ขยายเป็นวงกว้างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ความตอนหนึ่งว่า

          “...ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี : เดิมเป็น ป่าโปร่ง คนไปตัดไม้สำหรับเป็นฟืนและสำหรับเผาถ่าน ต่อจากนั้น มีการปลูกพืชไร่และสับปะรดจนดินจืดกลายเป็นทราย ถูกลมและน้ำชะล้างไปหมด จนเหลือแต่ดินดาน ซึ่งเป็นดินที่แข็งตัวเมื่อถูกอากาศ ดินนี้ก็ไม่มีแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์...”

          ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๒๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริให้พัฒนาพื้นที่เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมด้วยการปลูกป่า และจัดหาแหล่งน้ำโดยจัดให้ราษฎรที่ทำกินเดิมได้มีส่วนร่วมในการรักษาป่าไม้และ ได้ประโยชน์จากป่าไม้ควบคู่ไปกับการพัฒนาเกษตรกรรมที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาอาชีพ

ความเป็นมา              

          ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน  ตำบลสามพระยา  อำเภอชะอำ  จังหวัดเพชรบุรี  แต่เดิมพื้นที่แห่งนี้มีผืนป่าขนาดใหญ่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ  มีพืชพันธุ์ไม้และสัตว์ป่านานาชนิด  ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม  ราษฎรได้เข้ามาบุกรุกแผ้วถางป่า เพื่อประกอบอาชีพในห้วงเวลาไม่ถึง  40  ปี  พื้นที่ป่าไม้ได้ถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง ดินขาดการบำรุงรักษาทำให้ธรรมชาติขาดความสมดุล เกิดความแห้งแล้ง วันที่  5  เมษายน  2526  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่  และทรงมีพระราชดำริให้พัฒนาพื้นที่ส่วนหนึ่งในเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวันเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาป่าไม้เอนกประสงค์  มุ่งหมายศึกษารูปแบบการพัฒนาเกษตรกรรมควบคู่ไปกับการปลูกป่า  เพื่อฟื้นฟูสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  พัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อใช้ในการเกษตรและปลูกป่า จัดสรรที่ทำกินให้ราษฎรที่ได้เข้ามาบุกรุกทำกินอยู่เดิมให้ได้เข้าอยู่อาศัยและให้ความรู้แก่ราษฎร ให้ทำการเกษตรอย่างถูกวิธี  รวมทั้งให้มีส่วนร่วมในการปลูกป่าดูแลรักษาป่า ตลอดจนให้ได้รับประโยชน์จากผลผลิตจากป่า เพื่อที่ราษฎรจะได้ไม่บุกรุกทำลายป่าอีกต่อไป

วัตถุประสงค์              

          1. เพื่อจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดินและฟื้นฟูสภาพความเสื่อมโทรมของพื้นที่พระราชนิเวศน์

          2. เพื่อให้เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริในภาคตะวันตกของประเทศไทยดำเนินการศึกษา ค้นคว้า วิจัย หาวิธีการพัฒนาภายใต้สภาพพื้นฐานปัญหาและภูมิสังคมของพื้นที่ใน  5  ด้าน ที่สำคัญ ได้แก่ การอนุรักษ์ดินและปรับปรุงบำรุงดิน  การอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งน้ำการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่า การสร้างอาชีพและผลิตอาหาร และพลังงานทดแทน

พื้นที่ดำเนินการ         

          ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ในเขตตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ด้านตะวันตกของประเทศไทย อยู่ห่างจากกรุงเทพฯตามเส้นทางถนนสายเพชรเกษม ประมาณ 220 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 6,356.92 ตารางกิโลเมตร หรือ 3,973,075 ไร่

          ทิศเหนือ มีอาณาเขตบ้านบางไทรย้อยจดเขาเสวยกะปิ

          ทิศตะวันออก บ้านบางไทรย้อยจดบ้านบ่อเดี๊ยะ

          ทิศตะวันตก เขาสามพระยาจดเขาเสวยกะปิ

          ทิศใต้ เขาสามพระยาจดบ้านบ่อเดี๊ยะ

หน่วยงานรับผิดชอบ  

          ศูนย์อำนวยการโครงการพัฒนา กองบังคับการฝึกพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายเดน/กองอำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี 76120 โทร. 0-3259-3252-3 โทรสาร 0-3259-3252

ผลการดำเนินงาน 

          1. การจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดิน ดำเนินงานตั้งแต่ปี 2526 เกิดปัญหาข้อพิพาทกับกลุ่มผู้บุกรุกที่ดินผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีในฐานะประธานอรุกรรมการดำเนินงาน จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่ดิน 2 ระดับ โดยมีนายอำเภอชะอำเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหาร/ติดตามผล และมีเจ้าหน้าที่ดินจังหวัดเพชรบุรี สาขาชะอำ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน  สามารถแก้ไข      ปัญหาข้อพิพาทกับกลุ่มผู้บุรกที่ดินได้เสร็จสิ้นในปี 2548  ดังนี้

              1.1 มีผู้บุกรุกส่งคืนพื้นที่โดยขอรับค่าชดเชย จำนวน 384  ราย พื้นที่รวม 6,415 ไร่ 3  งาน  คิดเป็นเงินค่าชดเชยทั้งสิ้น จำนวน 53,324,887.50 บาท

              1.2  มีผู้บุกรุกยินยมเข้าร่วมในโครงการ โดยไม่ขอรับค่าชดเชยและยินยอมลดขนาด

              การถือครองที่ดิน  จำนวน 64  ราย  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  พระราชทานพื้นที่ทำกินให้ในพื้นที่โครงการฯ  รายละ  11  ไร่  โดยให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ออกเอกสารสิทธิทำกิน ให้มีสิทธิทำกินตลอดไป และตกทอดถึงทายาทโดยชอบธรรมทางมรดกได้ แต่ไม่สามารถซื้อขายหรือโอนสิทธิได้ รวมพื้นที่ 580  ไร่ 1  งาน 90 ตารางวา  โดยจัดเป็นหมู่บ้าน ในพื้นที่โครงการจำนวน  2  หมู่บ้าน คือ

               - หมู่บ้านชาวไทย-พุทธ ตั้งอยู่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำเขากะปุก  จำนวน 35  ราย เนื้อที่รวม 265  ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา  ปัจจุบันคือ หมู่บ้านเขากะปุกพัฒนา หมู่ที่ 7 ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

               - หมู่บ้านชาวไทย-มุสลิม ตั้งอยู่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำห้วยทราย จำนวน 29  ราย เนื้อที่รวม 316   ไร่  ปัจจุบันคือหมู่บ้านโครงการพัฒนา หมู่ที่ 8 ตำบลสามพระยา  อำเภอชะอำ  จังหวัดเพชรบุรี

 

          2. การฟื้นฟูสภาพความเสื่อมโทรมของพื้นที่ ดังนี้

               2.1 การฟื้นฟูสภาพของดิน จากสภาพื้นที่ที่มีการชะล้างพังทลายเป็นทรายบางแห่งแข็งเป็นดาน  ได้ดำเนินการตามพระราชดำริที่สำคัญคือใช้หญ้าแฝกในการพัฒนาโครงสร้างดินกักเก็บความชุ่มชื้นให้กับพื้นดิน  จัดทำระบบกระจายความชุ่มชิ้นในพื้นที่โดยการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น คันดินกั้นน้ำ ปัจจุบันมีสภาพที่ดีขึ้น สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ แต่ยังคงต้องสร้างอินทรีย์วัตถุ     เติมลงในดินอย่างต่อเนื่อง  และสร้างหน้าดินให้กับพื้นที่ดินแข็งเป็นดาน

               2.2 การพัฒนาแหล่งน้ำ ได้ดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำตามพระราชดำริ โดยกรม      ชลประทานได้สร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่โครงการ คือ ในปี 2526-2527  สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทราย ความจุ 1.94 ล้านลูกบาศก์เมตร ปี 2527-2528  สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยตะแปด ความจุ 4 ล้านลูกบาศก์เมตร และบ่อพักน้ำเขากะปุก ความจุ 0.312 ล้านลูกบาศก์เมตร  โดยสนับสนุนน้ำในการเพาะปลูกพืชและฟื้นฟูสภาพป่าไม้ในพื้นที่โครงการ รวมถึงสนับสนุนน้ำให้หมู่บ้านในพื้นที่  โครงการทั้งสองหมู่บ้าน และสนับสนุนน้ำให้กับสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หมู่บ้านอ่างหินซึ่งอยู่นอกพื้นที่โครงการ แต่เนื่องจากพื้นที่โครงการเป็นที่อับฝนมีปริมาณน้ำฝนน้อย น้ำในอ่าง  เก็บน้ำไม่เพียงพอในการดำเนินกิจกรรมในโครงการฯ ในปี 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ได้มีพระราชดำริให้จัดสร้างระบบเครือข่ายอ่างเก็บน้ำขึ้น โดยเชื่อมอ่างเก็บน้ำเข้าด้วยระบบทางท่อ     โดยมีหลักการว่าให้น้ำส่วนที่เหลือจากอ่างเก็บน้ำที่มีขนาดใหญ่กว่า มาเติมให้กับอ่างเก็บน้ำที่มีขนาดเล็กกว่า  ซึ่งในปี พ.ศ. 2536 งานชลประทานโดยกรมชลประทานได้ดำเนินการสร้างระบบท่อผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยตะแปดไปยังอ่างเก็บน้ำห้วยทราย  และต่อมาในปี 2540 ได้ขยายเครือข่ายโดยดำเนินการเชื่อมระบบท่อผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำทุ่งงามมายังอ่างเก็บน้ำห้วยตะแปด และอ่างเก็บน้ำห้วยทราย (หุบกะพง)  ในปี พ.ศ. 2549  ได้เชื่อมระบบท่อผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไทรงามมายังอ่างเก็บน้ำทุ่งขา

               2.3 การฟื้นฟูป่าไม้ได้ดำเนินการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าตามแนวพระราชดำริ โดยการ “ปลูกป่าสามอย่างเพื่อประโยชน์สี่อย่าง”  ในพื้นที่ 9,190  ไร่ เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 โดยทำการปลูกเฉลี่ยปีละประมาณ  500 ไร่  ซึ่งมีทั้งการปลูกขยายพื้นที่และปลูกซ่อมบางส่วนของพื้นที่เดิม  โดยสามารถปลูกครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดได้ในปี พ.ศ. 2544  รวมระยะเวลา 18  ปี  นับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน  ยังคงมีการปลูกซ่อมเสริมป่าและปรับเปลี่ยนพันธุ์ไม้ตามระบบนิเวศน์ที่ฟื้นฟูขึ้น  สำหรับบนพื้นที่ภูเขา ดำเนินการตามพระราชดำริ “ภูเขาป่าหรือป่าเปียก”  โดยใช้ปั้มน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สูบน้ำขึ้นไปยังถังพักน้ำบนภูเขาแล้วให้น้ำค่อย ๆ ไหลลงมาสร้างความชุ่มชื่นให้กับพื้นที่ปลูกต้นไม้ด้านบน แล้วให้เมล็ดร่วงหล่นลงมางอกขึ้นเองในพื้นที่ด้านล่าง  เริ่มดำเนินการในพื้นที่เขาเสวยกะปิในปี พ.ศ. 2529  พื้นที่เขาบ่อขิง ปี พ.ศ. 2542  และพื้นที่เขารังแร้ง ปี พ.ศ. 2546  ปัจจุบันยังคงมีติดตั้งและใช้งานอยู่ที่เขาเสวยกะปิ  แต่ใช้ระบบไฟฟ้าสูงน้ำแทนตามพระราชดำริ เพราะต้องส่งน้ำขึ้นไปฟื้นฟูป่าไม้ในระดับที่สูงขึ้น  ซึ่งระบบสูงน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ไม่สามารถสูงน้ำขึ้นไปถึง ปัจจุบันพื้นที่ 4,018.75  ไร่  เป็นป่าเต็งรัง  พื้นที่ 5,168.75  ไร่  เป็นป่าเบญจพรรณ และ 2.50  เป็นสังคมพืชริมน้ำ

               2.4  การเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าเพื่อปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ งานเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่า โดยกองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ ในขณะนั้นได้เข้ามาดำเนินการตามพระราชดำริที่ให้เร่งขยายพันธุ์สัตว์ป่าโดยเฉพาะเนื้อทราย  ซึ่งเป็นสัตว์พื้นเพดั้งเดิมให้สามารถนำไปปล่อยให้ใช้ชีวิตกลับคืนสู่สภาพป่า  ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531  ปัจจุบันนอกจาเนื้อทรายแล้วยังได้ทำการเพาะขยายพันธุ์สัตว์ป่าที่ไม่มีอันตรายรวม 63  ชนิด  ปล่อยไว้รอบเขาเตาปูนเป็นสวนสัตว์ที่ประชาชนสามารถเข้าเยี่ยมชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  และมีสัตว์บางส่วนที่ปล่อยให้อาศัยอยู่ตามธรรมชาติในพื้นที่ป่าของโครงการ ปัจจุบันสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยรวมของพื้นที่โครงการเริ่มฟื้นคืนกลับมีความหลากหลายทางพันธุกรรมทั้งพืชและสัตว์ทั้งที่เกิดจากการฟื้นฟูและ ที่กลับคืนมาเองตามธรรมชาติ ที่มีผลผลิตจากป่าที่หลากหลายให้ประชาชนได้เข้ามาใช้ประโยชน์ตามพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานไว้

 

          3. การศึกษา ทดลอง วิจัย  ได้ดำเนินการศึกษา ทดลอง วิจัย  ตามพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานไว้ในการดำเนินงานพัฒนาด้านต่าง ๆ และเน้นการศึกษา ทดลอง วิจัย ที่สามารถแก้ไขปัญหาของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป  ซึ่งตั้งแต่เริ่มดำเนินงานโครงการจนถึงปัจจุบัน (2556)  มีการศึกษา ทดลอง วิจัย ที่เสร็จสิ้นแล้ว  รวมทั้งสิ้น 78  เรื่อง  9 ประเภท

 

          4. การขยายผลการพัฒนา เพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน ได้ดำเนินการนำผลการศึกษา ทดลอง วิจัย ขยายผลสู่ประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้

               4.1 จัดพื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาดูงาน ด้านการฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้านเกษตรกรรม ด้านปศุสัตว์ ด้านการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และด้านพลังงานทดแทน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 ถึงวันที่ 23 พฤษภาคม 2556 มีผู้เข้าศึกษาดูงาน ทั้งสิ้น 203 คน 

               4.2 จัดการฝึกอบรมให้กับประชาชน  โดยนำผลการศึกษา ทดลอง วิจัย มาจัดทำเป็นหลักสูตรฝึกอบรมให้กับประชาชนร่วมกับหลักสูตรดื่น ๆ ที่มีอยู่แล้วของหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งมีความจำเป็นในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งการอบรมจะจัดทำเป็นแผนปฏิบัติงานประจำปี ในปี 2556 มีแผนการฝึกอบรม จำนวน  17  หลักสูตร เป้าหมายผู้เข้ารับการอบรม จำนวน  2,800 ราย

ประโยชน์ที่ได้รับ

         ผลของการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่อง มาจากพระราชดำริ นับเป็นรูปแบบการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสื่อมโทรมที่ประสบผลสำเร็จ อันเป็นแบบอย่างที่ดีในการนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อการพัฒนาในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีปัญหาในลักษณะใกล้เคียงกัน จากสภาพความอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ ดิน น้ำ ป่าไม้ และสัตว์ป่า เมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา ได้ถูกทำลายเปลี่ยนแปลงกลายเป็นไร่สับปะรด พื้นดินเสียหายเสื่อมโทรม ไม่สามารถเพาะปลูกพืชใด ๆ ได้ ณ บัดนี้ ผืนดินที่เคยแห้งแล้งดังกล่าว ได้พลิกฟื้นกลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์เช่นเดิมอีกครั้ง ทั้งป่าเขาต้นน้ำลำธาร สัตว์ป่า โดยเฉพาะเนื้อทราย แม้แต่ราษฎรที่ได้อาศัยอยู่ใน ผืนแผ่นดินนี้ ก็ได้รับการพัฒนาจนสามารถพึ่งตนเองได้ และมีความอยู่ดีมีสุขในวิถีชีวิตตามอัตภาพของตนเอง

ที่มา

          - สำนักงาน กปร. (ม.ป.ป.). ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี. สืบค้น 25 มี.ค. 2565. จาก http://www.rdpb.go.th/th/Studycenter

          - ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (ม.ป.ป.). สืบค้น 25 มี.ค. 2565. จาก http://huaysaicenter.org