โครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่าอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (พ.ศ. 2506)  ต. หนองแก  อ. หัวหิน  จ. ประจวบคีรีขันธ์

ที่ตั้ง

         ต. หนองแก  อ. หัวหิน  จ. ประจวบคีรีขันธ์

การพัฒนา

         ด้านแหล่งน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ความเป็นมา

          พระบาทสมเด็จพระบรม เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียง ตั้งแต่ปี ๒๔๙๕ เป็นต้นมา ทรงทราบปัญหาความยากลำบากของราษฎรบ้านเขาเต่า ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน ซึ่งเป็นหมู่บ้านใกล้ชายทะเล ที่ขาดแคลนน้ำจืดบริโภค ราษฎรต้องไปหาน้ำจากภูเขาทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน เป็นระยะทางไกลและขนน้ำมาได้ครั้งละน้อยๆ ประกอบกับราษฎรได้รวมกลุ่มกันน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน ประมาณ ๓๐๐ ไร่ บริเวณที่น้ำทะเลท่วมถึง ที่เรียกว่า “ทุ่งตะกาด” เป็นดินเค็มไม่สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้

          จึงมีพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาสร้างอ่างเก็บน้ำเขาเต่าโดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน ๖๐,๐๐๐ บาท ใช้เป็นงบประมาณดำเนินการในระยะแรกและเสด็จฯ ไปทรงเจิมเสาเข็มเอก เมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๐๖

          อ่างเก็บน้ำเขาเต่า มีความจุ ๖๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร ขนาดหลังคันดินกว้าง ๑.๕๐ เมตร ยาว ๑,๕๐๐ เมตร ใช้เวลาก่อสร้าง ๑ ปี สภาพน้ำในระยะแรกมีความเค็ม ไม่สามารถใช้บริโภคได้ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ดินเค็ม มีพระราชดำริให้ทดลองเลี้ยงปลาหมอเทศ ซึ่งเป็นปลาที่เลี้ยงในน้ำเค็มได้ ได้รับทูลเกล้าฯ ถวายพันธุ์จากองค์การอาหารแห่งสหประชาชาติ (FAO) เพื่อเป็นแหล่งอาหารและส่งเสริมอาชีพรายได้แก่ราษฎรบ้านเขาเต่า แต่ไม่ได้รับความนิยม ในการบริโภคเพราะราษฎรคุ้นเคยกับการบริโภคปลาทะเลและมีอาชีพประมงชายฝั่งอยู่แล้ว เกิดปัญหาปลาตาย ทำให้น้ำในอ่างเก็บน้ำเน่าเสีย จึงยุติการเลี้ยงปลาหมอเทศไป

          ต่อมาสภาพน้ำค่อยๆ จืดขึ้น สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ โดยใช้วิธีระบายน้ำเพื่อชะล้างความเค็มในอ่างเก็บน้ำเป็นระยะๆ มีการก่อสร้างระบบส่งน้ำและระบบระบายจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ เมื่อปี ๒๕๑๙ แต่สภาพน้ำก็ยังมีรสกร่อยเล็กน้อย

          เมื่อปี ๒๕๒๓ มีการต่อท่อน้ำดิบจากโครงการปราณบุรี มาช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่อ่างเก็บน้ำหาดทรายใหญ่ ซึ่งก่อสร้างเสร็จแล้วน้ำยังมีความเค็มใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ และแยกท่อส่งน้ำมาช่วยเหลือราษฎรบ้านเขาเต่าด้วยทำให้ราษฎรได้ใช้น้ำจากระบบส่งน้ำนี้เป็นหลัก สามารถแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำจืดบริโภคของชุมชนเขาเต่าได้อย่างสมบูรณ์

สถานที่ตั้ง  

           บ้านเขาเต่า ตำบลหนองแก  อำเภอหัวหิน  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

วัตถุประสงค์

          โครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่าเป็นโครงการเพื่อจัดหาแหล่งน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค ให้แก่ประชาชน ในหมู่บ้านชายทะเลเขาเต่า

สภาพทั่วไป

          เดิมก่อนปีพุทธศักราช 2506 สภาพภูมิประเทศของบริเวณทุ่งตะกาด ตำบลหนองแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประกอบด้วย ด้านทิศตะวันตกเป็นภูเขา ชื่อเขาอีหรุ่น เป็นเส้นแบ่งปันน้ำของลุ่มน้ำ สภาพพื้นดินลาดเอียงไปทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นชาวฝั่งทะเล และมีถนนเพชรเกษมและทางรถไฟกั้นขวางระหว่างความลาดเอียงนั้น มีพื้นที่ลุ่มน้ำ 8 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 5,000 ไร่ มีปริมาณฝนตกเฉลี่ยจาก 3 สถานี วัดน้ำฝนได้ 990 มิลลิเมตร ปริมาณน้ำทั้งหมดไหลลงทุ่งตะกาด จำนวน 4 ลำห้วย คือ ลำห้วยหุบตาเจี๊ยบ ลำห้วยเขาน้อย ลำห้วยหุบประดิษฐ์ และลำห้วยเจ็กกัง จากนั้นไหลออกสู่ทะเล ระยะเวลาก่อสร้าง 1 ปี (พ.ศ. 2506)

รายละเอียดโครงการ

          กรมชลประทานได้ดำเนินการออกแบบและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเขาเต่าแล้วเสร็จใน ปีพุทธศักราช 2506 ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทำพิธีเจิมเสาเข็ม พืดท่อระบายน้ำ เมื่อวันที่ 9 เมษายน2506  ในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำสามารถเก็บกักน้ำได้ 600,000 ลูกบาศก์เมตร โดยก่อสร้างทำนบดินกั้นน้ำ ที่ระดับ + 4.00 เมตร (ร.ท.ก) ขนาดหลังคันกว้าง 1.50 เมตร ยาว 1,500 เมตร พร้อมอาคารระบายน้ำ เป็นท่อคอนกรีตเสริมเหล็ก จำนวน 1 แห่ง ขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 1  เมตร ใช้เงินงบประมาณ 1 ล้านบาทและได้ทำการปรับปรุงขยายท่อระบายน้ำจากอ่างและบานบังคับน้ำบานสี่เหลี่ยม ขนาด 1.50 x 1.50 จำนวน 1 ท่อ ค่าปรับปรุงประมาณ 800,000 บาท ปรับปรุงเสร็จในปีพุทธศักราช 2519

            สำหรับสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำเขาเต่าในระยะแรกเค็ม เนื่องจากพื้นดินเดิมเค็ม ในระยะต่อมาน้ำค่อยจืดขึ้น ในปัจจุบันนี้สภาพน้ำยังมีรสกร่อยเล็กน้อย กรมชลประทานจึงได้ระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำเพื่อชะล้างความเค็มของดินในอ่างเก็บน้ำ

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ 

           1. น้ำสำหรับอุปโภค – บริโภค ของชุมชนเขาเต่า

                    ในปี  พ.ศ. 2519 – 2520  โครงการฯ  ปราณบุรี  ก่อสร้างท่อส่งน้ำดิบสายปราณบุรี – หัวหิน  เสร็จ จึงมีการต่อท่อน้ำดิบ  ขนาด  Ø  8”  มาลงที่อ่างเก็บน้ำเพื่อการอุปโภค – บริโภค  และเพื่อการเกษตร  แต่เนื่องจากความเค็มยังมีอยู่จึงไม่ก่อประโยชน์มากนัก

                    ในปี  พ.ศ. 2522  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เจ้าหน้าที่ชลประทาน  เข้าเฝ้า ณ พระตำหนักพระราชวังไกลกังวล เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน  2522 ได้มีพระราชดำรัสให้  กรมชลประทาน พิจารณาสร้างอ่างเก็บน้ำบริเวณหาดทรายใหญ่ เพื่อใช้สำหรับการอุปโภค-บริโภค  มีปริมาณน้ำน้ำเก็บกักประมาณ 10,000 ลูกบาศก์เมตร

                     ในปี  พ.ศ. 2523  ได้มีการต่อท่อน้ำดิบไปที่อ่างเก็บน้ำหาดทรายใหญ่  โดยออกจากท่อน้ำดิบ  สายปราณบุรี – หัวหิน(สายเก่า) เป็นท่อซีเมนต์ใยหินขนาด Ø  8”  แล้วแยกเป็นท่อเหล็กเหนียวขนาด Ø  3”  ไปที่หาดทรายใหญ่กับต่อท่อให้ราษฎรไปใช้สำหรับผู้บริโภค บริโภค  ในหมู่บ้านและวัดเขาเต่า  จึงทำให้ราษฎรในบริเวณเขาเต่า  หมดความจำเป็นที่จะใช้น้ำในอ่างเก็บน้ำเขาเต่าตั้งแต่ปี  2523  เป็นต้นไปจนถึงปัจจุบัน

                    ปัจจุบันมีระบบประปาหมู่บ้านโดยใช้น้ำจากท่อน้ำดิบสายปราณบุรี-หัวหิน (สายเก่า) ในการผลิตประปาหมู่บ้าน แต่ก็ยังใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำเขาเต่าเป็นแหล่งน้ำสำรองเพื่อใช้ในการผลิตประปาหมู่บ้าน

          2. การประมงหาเลี้ยงชีพของราษฏรชุมชนเขาเต่า

          3. แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดเนื่องจากเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งแรกของกรมชลประทาน

ที่มา

          - สำนักงาน กปร.. (2562). องค์ความรู้เรื่อง "โครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่า". สืบค้น 25 มี.ค. 2565 จาก http://km.rdpb.go.th/Knowledge/View/132 

          - กรมชลประทาน. (2552). โครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่า อันเนื่องมาจากพระราชดำริ. สืบค้น 25 มี.ค. 2565 จาก https://www.rid.go.th/royalproject/index.php?option=com_content&view=article&id=111:2009-05-19-08-18-38&catid=85:2009-05-04-07-35-38 


รับชมแบบเสมือนจริง