โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ (พ.ศ. 2551) บ้านหนองคอกไก่ ต. เขากระปุก อ. ท่ายาง จ. เพชรบุรี

ที่ตั้ง

         บ้านหนองคอกไก่ ต. เขากระปุก อ. ท่ายาง จ. เพชรบุรี

การพัฒนา

         ด้านการเกษตร พลังงานทดแทน และแหล่งน้ำ ตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

พระราชดำริ

          “...คนที่ไปดูก็เห็นได้ว่า เริ่มต้นด้วยไม่มีอะไรเลย แต่ว่าต่อมาภายในวันเดียว ทุกคนในท้องที่นั้น ก็เข้าใจว่าต้องช่วยกัน และยิ่งในสมัยนี้ในระยะนี้เราต้องร่วมมือกันทำ เพราะว่าถ้าไม่มีการร่วมมือกัน ก็ไม่ก้าวหน้า ไม่มีความก้าวหน้า ฉะนั้นการที่ท่านได้ทำแล้วมีความก้าวหน้านี้เป็นสิ่งที่ดีมาก หลักการก็อยู่ที่ทุกคนต้องช่วยกันเสียสละ เพื่อให้กิจการในท้องที่ก้าวหน้าไปด้วยดี ก้าวหน้าได้อย่างไร ก็ด้วยการช่วยเหลือกัน แต่ก่อนนั้นเคยเห็นว่ากิจการที่ทำ มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งทำแล้วก็ทำให้ก้าวหน้า แต่อันนี้มันไม่ใช่กลุ่มหนึ่ง มันทั้งหมดร่วมกันทำและก็มีความก้าวหน้าแน่นอน อันนี้เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์และเป็นสิ่งที่ทำให้มีความหวัง มีความหวังว่าประเทศชาติจะก้าวหน้า ประเทศชาติจะมีความสำเร็จ...” 

 

พระราชดํารัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2552

ความเป็นมา

          เมื่อปลายปี พ.ศ. 2551 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงซื้อที่ดินจากราษฎร พื้นที่ประมาณ 120 ไร่ ณ บริเวณอ่างเก็บน้ำหนองเสือ บ้านหนองคอไก่ หมู่ที่ 5 ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ต่อมา ปี พ.ศ. 2552 ทรงซื้อแปลงติดกันเพิ่มอีก 130 ไร่ รวมพื้นที่ทั้งหมด 250 ไร่ และทรงมีดำริให้ทำเป็นโครงการตัวอย่างด้านการเกษตร รวบรวมพันธุ์พืชเศรษกิจในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง มาปลูกไว้ที่นี่ โดยเริ่มดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 13 กรกฏาคม 2552 เป็นต้นมา

          สภาพพื้นที่โดยทั่ว ๆ ไป แห้งแล้ง ดินปนทรายและหินลูกรัง เจ้าของที่ดินเดิมปลูกต้นยูคาลิปไว้และตัดไม้ขายไปแล้ว มีแต่ต้นยูคาลิปที่งอกมาจากต้นตอเดิมเต็มพื้นที่ มีแปลงมะนาวเดิมอยู่ประมาณ 35 ไร่ และแปลงปลูกอ้อย 30 ไร่ จึงได้พัฒนาพื้นที่ ให้เป็นแปลงปลูกพืชเศรฐกิจ ซึ่งมีทั้งพืชผักสวนครัว นาข้าว สวนไม้ผล ยางพารา มะพร้าว สับปะรด พืชไร่ ฯลฯ กองงานส่วนพระองค์ ขอความร่วมมือหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้เข้ามาช่วยกันปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ เช่น การทำถนนเข้าโครงการ ขุดสระเก็บน้ำ ทำรั้วรอบโครงการ ก่อสร้างอาคาร และสาธารณูปโภค ติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล ทำระบบชลประทาน ทำให้พื้นที่โครงการ และหมู่บ้านใกล้เคียงมีความเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว

          เมื่อปี พ.ศ. 2551 เกิดเหตุการความคิดเห็นต่างกันทางการเมืองทำให้มีกลุ่มบุคคลออกมาแสดงความคิดเห็น สร้างความไม่สงบขึ้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเอาหัวมันเทศวางบนตาชั่งตั้งไว้บนโต้ะทรงงาน เพื่อเป็นคติเตือนใจ “ชั่งหัวมัน” หัวมันเทศเมื่อวางอยู่นานเข้าก็จะแตกใบ มีต้นงอกออกมา ก็ทรงให้เอาต้นมันนั้นไปเพาะเลี้ยงไว้ในเรือนเพาะชำ แล้วนำมันเทศหัวใหม่มาวางไว้บนตาชั่งแทน ทำเช่นนี้เรื่อยไป ในเรือนเพาะชำก็มีแต่ต้นมันเทศ ทรงมีดำริว่า หัวมันเทศวางไว้บนตาชั่งไม่มีดินและน้ำยังงอกได้ที่ดินแปลงนี้ มีดินและพอมีน้ำอยู่บ้างก็น่าจะปลูกมันเทศได้ จึงทรงพระราชทานต้นมันเทศจากเรือนเพาะชำมาปลูกไว้ที่นี่ และพระราชทานชื่อโครงการนี้ว่า “โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ”

          วันที่ 1 สิงหาคม 2552 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งจากศาลาเก้าเหลี่ยม ริมอ่างเก็บน้ำหนองเสือ เสด็จมาเปิดป้ายโครงการชั่งหัวมัน ด้วยพระองค์เอง โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม และคุณทองแดง ร่วมตามเสด็จมาในรถพระที่นั่ง เมื่อเสด็จมาถึง ทรงเปิดป้ายโครงการชั่งหัวมัน โดยวางถุงใส่หัวมันเทศลงบนตาชั่ง เปิดแพรคลุมป้ายชื่อโครงการ มีข้าราชการ ข้าราชบริพาร พสกนิกรที่ปฏิบัติงานในโครงการ และชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง มาร่วมกันเป็นสักขีพยาน หลังจากเปิดป้ายโครงการแล้ว ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับข้าราชการ ที่มาปฏิบัติงาน และราชทานวโรกาสให้ผู้ร่วมปฏิบัติงานทุกคนได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอย่างใกล้ชิด  นายชาย พานิชพรพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี (พ.ศ. 2552) ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมาลา (หมวก) ที่ทำจากป่านศรนารายณ์ ประดับด้วยตราประจำจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากสมาชิกในโครงการสหกรณ์หุบกะพง หลังจากนั้น ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งทอดพระเนตรรอบพื้นที่โครงการ ก่อนเสด็จกลับวังไกลกังวล

วัตถุประสงค์

          1. เพื่อให้เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์พืชเศรษฐกิจ  พืชพันธุ์ดีของอำเภอท่ายาง  และของจังหวัดเพชรบุรี

          2. เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรแก่เกษตรกร

          3. เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแปลงหรือมาช่วยงานพระองค์

เป้าหมาย

 โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ มีเป้าหมายในการสนองพระราชประสงค์และพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ดังนี้

          1. ให้เป็นศูนย์รวมพันธุ์พืชเศรษฐกิจของอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง

          2. รวมทั้งการจัดการฟาร์มโคนม และโรงเลี้ยงไก่ไข่ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม ซึ่งมีผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรส์ และสเตอริไรส์ 

          3. ตลอดจนมีหน่วยทดลองพลังงานทดแทน  เช่น ทุ่งกันหันลม พลังงานแสงอาทิตย์ และไบโอดีเซล 

          4. ทั้งนี้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงชาวบ้านที่อยู่พื้นที่ใกล้เคียงได้เข้ามาร่วมกันบำรุงดูแลรักษา และแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นตามวิถีการดำรงชีวิตเกษตรกรรมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

การดำเนินกิจกรรม

          - การใช้กังหันลมผลิตไฟฟ้าเพื่อเป็นพลังงานทดแทน

          - การผลิตพืชปลอดภัยจากสารพิษ

          - การสาธิตการปลูกสบู่ดำ

          - การปลูกข้าวสายพันธุ์ต่างๆ

          - แปลงศึกษาและส่งเสริมการผลิตชมพู่เพชรสายรุ้ง

          - แปลงศึกษาและส่งเสริมการผลิตหน่อไม้ฝรั่ง

          - การทำปุ๋ยหมัก

          - การปลูกไม้ผล พืชไร่ ประกอบด้วย แก้วมังกร กล้วยน้ำว้า กล้วยหักมุก  มะละกอ มะนาว ฟักทอง กล้วย อ้อย มะพร้าวน้ำหอม  มะพร้าวห้าว ฯลฯ

          - การปลูกพืชผัก ประกอบด้วย มันเทศ กระเพรา โหระพา พริกพันธุ์ซูปเปอร์ฮอต มะเขือเทศราชินี กระเจี๊ยบเขียว วอเตอร์เครส มะระขี้นก  ผักหวานบ้าน ฯลฯ

แนวทางการบริหารงาน

           1. บริหารทรัพยากรแบบบูรณาการ ใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คุ้มค่า ได้แก่ การพัฒนาอ่างเก็บน้ำหนองเสือเพื่อส่งน้ำไปใช้ในโครงการ โดยมีสัตว์เก็บกักน้ำไว้ 2 สระ ไว้รองรับและกระจายนำเข้าสู่ระบบการเพาะปลูก ฟาร์มปศุสัตว์ และโรงงานแปรรูปนม รวมทั้งการขุดเอาเจาะน้ำบาดาลเพื่อนำมาใช้ในการอุปโภคด้วย

           2. ใช้ช่องทางการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรของโครงการฯ ผ่านร้านโกลเด้นเพลส (Golden Place) ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท สุวรรณชาด จำกัด ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อควบคุมผลผลิตให้มีคุณภาพและจำหน่ายถึงผู้บริโภคโดยตรง

           3. เป็นแหล่งเรียนรู้ ในการนำพลังงานสะอาดจากธรรมชาติมาใช้เป็นพลังงานทดแทนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เช่น  ทุ่งกังหันลม (Wind Farm) และแผงพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar cells) สามารถจำหน่ายกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้เข้าสู่ระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งนอกจากเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่โครงการฯ แล้ว ยังช่วยให้ราษฎรในหมู่บ้านต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง มีกระแสไฟฟ้าใช้ได้อย่างพอเพียง และทั่วถึง

           4. เป็นแหล่งสาธิตทางการเกษตรของภาคเอกชนและวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อให้โครงการนี้มีประโยชน์แก่เกษตรกรและประชาชนเพิ่มมากขึ้น เช่น บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จัดทำแปลงสาธิตการปลูกยางพาราที่ทันสมัย และนาข้าวทดลองแบบใช้นำบังคับให้ได้ผลผลิตสูง และลดต้นทุนการผลิต มหาวิทยาลัยแม่โจ้นำเสนอแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสานสำหรับการดำเนินชีวิตได้อย่างพอเพียงในพื้นที่จำกัด เพียง 1 ไร่ และเงินลงทุน 100,000 บาท รวมทั้งการเพาะเลี้ยงไส้เดือน เพื่อประโยชน์ในการผลิตปุ๋ยบำรุงดินและเป็นรายได้เสริมของเกษตรกรที่สนใจ เป็นต้น

          ในปี 2556 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมอบหมายให้โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนกิจการของโครงการฯ โดยจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมพัฒนาและปฏิบัติงานร่วมกับกองงานส่วนพระองค์ เช่น การเลี้ยงโคนม การเลี้ยงไก่ไข่ การผลิตน้ำนมพาสเจอไรซ์และสเตอริไรส์ หน่วยพลังงานทดแทน ไบโอดีเซล รวมทั้งการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์

          ปัจจุบัน โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ ได้ก้าวเข้าสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตรอีกแห่งหนึ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ผู้ที่สนใจเข้าศึกษาดูงาน และเปิดให้เข้าชมได้จากจุดเริ่มต้นที่มาจากพื้นที่ที่แห้งแล้งและเสื่อมโทรม กลับกลายเป็นพื้นที่สีเขียว ที่สามารถเพาะปลูกพืชสวนครัวและ พันธุ์พืชต่าง ๆ รวมทั้งการปศุสัตว์ การแปรรูปผลิตภัณฑ์นม และหน่วยพลังงานทดแทน ซึ่งได้มีนักเรียน นิสิต นักศึกษา เกษตรกร และประชาชนทั่วไป รวมทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ภิกษุ สามเณรตลอดจนชาวต่างชาติ เข้าเยี่ยมชมกิจกรรมของโครงการฯ เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ

พืชต่าง ๆ ในโครงการ

           - พืชสวนครัว ได้แก่ มะเขือเทศ มะเขือเปราะ พริก กะเพรา โหระพา มะนาวแป้น ผักชี

           - ผลไม้ ได้แก่ สับปะรดปัตตาเวีย แก้วมังกร มะละกอแขกดำ มะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวแกง ชมพู่เพชรสายรุ้ง กล้วยน้ำว้า กล้วยหักมุก

           - พืชเศรษฐกิจ ได้แก่ อัอยโรงงาน มันเทศญี่ปุ่น มันเทศออสเตรเลีย มันต่อเผือก มันปีนัง หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวเหนียวพันธุ์ชิวแม่จัน ข้าวเจ้าพันธุ์ข้าวหอม ข้าวจ้างพันธุ์ลีซอ ข้าวเจ้าพันธุ์ข้าวขาว ยางนา ยางพารา ชมพู่เพชร

ผลิตภัณฑ์

          โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ ได้ดำเนินการผลิตสินค้าทางการเกษตรที่ปลอดภัยจากสารพิษ ภายใต้การควบคุมกำกับดูแลขั้นตอนการผลิตอย่างใกล้ชิด โดยนักวิชาการเกษตรที่มีความชำนาญ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ผ่านการเก็บเกี่ยวรวบรวมผลิตภัณฑ์ ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ การคัดเลือก คัดแยก และบรรจุ เพื่อส่งถึงผู้บริโภคให้มั่นใจได้ว่า ผู้บริโภคจะได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ โดยผลิตภัณฑ์จากโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ จะมีวางจำหน่ายเฉพาะที่ร้านโกลเด้น เพลซ เท่านั้น

ข้อคิดดีๆ จากโครงการช่างหัวมัน

          "ใช้ชีวิตให้เหมือนดังมันเทศ” นี้คือ สิ่งที่ได้จากโครงการ “ชั่งหัวมัน” มันเทศเป็นพืชท้องถิ่นที่ “อยู่ที่ไหนก็งอกได้” สามารถเติบโต และให้ผลผลิตได้ การใช้ชีวิตก็เช่นเดียวกัน “ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย พอเพียง ดำเนินชีวิตด้วยความสุขใจ ไม่ว่าจะทำอะไร ขยัน อดทน ไม่ยอมแพ้ อยู่ที่ไหน ก็สามารถเป็นที่พึ่งพาได้เสมอ”

 

รายการอ้างอิง

           - พัชรา แดงประเสริฐ. (2557). ปัจจัยทางด้านคุณภาพการบริการที่มีความสัมพันธ์ต่อความภักดีในการใช้บริการของโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี. เพชรบุรี : สาขาวิชาการจัดการทั่วไป มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี.

           - บุษกร ภวังคนันท์. (2559). เพื่อศึกษาแรงจูงใจ แรงจูงใจของนักท่องเที่ยวในการเดินทางมาท่องเที่ยวโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี. เพชรบุรี : มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี.

           - สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรี. (2554). ครบรอบ 5 ปี สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรี. เพชรบุรี : สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรี

           - พอเพียง. (2558). สืบค้น 16 ก.พ. 2564 จาก https://www.porpeang.org

           - มูลนิธิมั่นพัฒนา. (2559). TSDF มูลนิธิมั่นพัฒนา. สืบค้น 16 ก.พ. 2564 จาก http://www.tsdf.nida.ac.th

           - สำนักงาน กปร. (ม.ป.ป.). สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. สืบค้น 16 ก.พ. 2564 จาก http://www.rdpb.go.th/ 


รับชมแบบเสมือนจริง