โครงการอ่างเก็บน้ำยางชุมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (2546) ต. หาดขาม อ. กุยบุรี จ. ประจวบคีรีขันธ์

โครงการอ่างเก็บน้ำยางชุมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

พระราชดำริเมื่อ  

            เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2546 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำรัส แก่ พลโทประวิตร วงษ์ สุวรรณ แม่ทัพภาคที่ 1  และรองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยทรงขอให้สนับสนุนและร่วมมือกับกรมชลประทานในการพิจารณาเพิ่มปริมาณการเก็บกักของอ่างเก็บน้ำยางชุม เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ป่ากุยบุรี ตลอดจนส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ ต่อมาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2546  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริแก่ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก พลโท ไพศาล กตัญญู แม่ทัพภาคที่ 1 เลขาธิการ กปร. อธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  สรุปความว่า

           1. ให้พิจารณาการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำยางชุม ให้สามารถเก็บกักและระบายออกท้ายเขื่อน โดยไม่เป็นอันตรายต่อโครงสร้างเดิม ให้ทำให้เร็วที่สุด เริ่มหลังฝนนี้ ใช้เวลา 2 ปี เสร็จปี 2548 โดยให้ กปร. สนับสนุนงบประมาณเพื่อเริ่มต้นได้เร็ว และให้พิจารณานำน้ำจากอ่างเก็บน้ำ โดยวางท่อนำน้ำไปทำบ่อพักไว้บริเวณที่เป็นเนินและทำระบบกระจายน้ำและนำน้ำไปใช้ประโยชน์

           2. ให้พิจารณาก่อสร้างฝายต้นน้ำ (Check Dam) และสระน้ำขนาดเล็กตามลำห้วยในพื้นที่เหนืออ่างเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ ซึ่งจะช่วยชะลอน้ำไม่ให้เกิดน้ำท่วม เกิดความชุ่มชื้นและช้างมีน้ำกินด้วย

           3. ให้กองทัพภาคที่ 1 กรมชลประทาน กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสำนักงาน กปร. ร่วมกันแก้ไขปัญหาผลกระทบของโครงการและช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการก่อสร้าง

           กรมชลประทานได้สนองพระราชดำริ โดยการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำของอ่างเก็บน้ำยางชุม คณะทำงานได้ทำการศึกษาและสรุปว่า ควรเพิ่มระดับเก็บกักอีก 2.00 เมตร จากเดิมระดับ +82.800 เมตร ( รทก. ) เป็น +84.800 เมตร ( รทก. ) ทำให้ความจุอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นอีก 9.10 ล้านลูกบาศก์เมตร ( เดิมมีความจุ 32.00 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มเป็น 41.10 ล้านลูกบาศก์เมตร ) และมีพื้นที่น้ำท่วมบริเวณอ่างเก็บน้ำเพิ่มมากขึ้นประมาณ 1,125.00 ไร่ ( เดิมพื้นที่น้ำท่วม 2,687.50ไร่ เพิ่มเป็น 3,812.50ไร่ ) มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากน้ำท่วมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จสามารถสร้างความชุ่มชื้นในป่าโดยรอบ ทำให้ช้างป่ามีแหล่งน้ำ สามารถเพิ่มพื้นที่การเกษตรได้อีก 5,000 ไร่ ( จากเดิม 15,300 ไร่ เพิ่มเป็น 20,300 ไร่ ) และช่วยบรรเทาอุทกภัยที่เกิดขึ้นกับลุ่มน้ำกุยบุรีได้

 

สถานที่ตั้ง    

            หมู่ที่  6 บ้านยางชุม ตำบลหาดขาม  อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  มีหัวงานตั้งอยู่ที่พิกัด   UTM E 574583 N 1336215 ระวาง  4933 III  หรือประมาณพิกัด  Latitude  12O–04’–41” เหนือ และ Longitude 99O–41”–21” ตะวันออก

            การคมนาคมจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปสี่แยกถนนเพชรเกษม ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 4 (ประจวบคีรีขันธ์-เพชรบุรี) ถึงสามแยกทางเข้าโครงการอ่างเก็บน้ำยางชุม ระยะ ทางประมาณ 31 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายตามทางหลวงหมายเลข 3217 ทางเข้าหัวงานโครงการอ่างเก็บน้ำยางชุม  ระยะทางประมาณ 21 กิโลเมตร ถึงหัวงานโครงการอ่างเก็บน้ำยางชุม รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 52 กิโลเมตร

 

วัตถุประสงค์ของโครงการ

            1. เป็นแหล่งน้ำต้นทุน  สำหรับช่วยเหลือการเพาะปลูกอุปโภค - บริโภค ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง

            2. อ่างเก็บน้ำใช้เป็นแหล่งเพาะพันธ์ปลาน้ำจืด  สถานที่  ท่องเที่ยว

            3. บรรเทาอุทกภัยในบริเวณลุ่มน้ำกุย

            4. บรรเทาความเดือดร้อนเนื่องจากน้ำเค็มในคลองกุยช่วงฤดูแล้ง

 

สภาพทั่วไป

            ในปี พ.ศ. 2492 กรมชลประทาน ได้ก่อสร้างฝายกุยบุรีกั้นคลองกุยเพื่อทดน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกได้ประมาณ  15,300 ไร่  คลองกุยบุรีน้ำไหลเป็นครั้งคราวเมื่อฝนตกในฤดูแล้ง  ไม่สามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกได้ต่อมามีการก่อสร้างเขื่อนปราณบุรี เพื่อส่งน้ำให้ทุ่งราบฝั่งขวาของแม่น้ำ ปราณบุรี  แต่เนื่องจากคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวาของโครงการฯปราณบุรียาวมากและตัดผ่านลำน้ำสายต่างๆที่อยู่นอกลุ่มน้ำปราณบุรี  โดยเฉพาะคลองกุยซึ่งเป็นลำน้ำสำคัญในฤดูฝนจะเกิดอุทกภัยทำความเสียหายแก่คลองส่งน้ำและพื้นที่เพาะปลูกเป็นอย่างมาก ฤดูแล้งขาดแคลนน้ำเพื่อการเพาะปลูกอุปโภค-บริโภค ประกอบกับเป็นแหล่งแทรกซึมของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ราษฎรย่อมจะเดือดร้อนและขวัญเสีย ดังนั้นกรมชลประทานจึงได้พิจารณาสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำยางชุมขึ้น

            โครงการอ่างเก็บน้ำยางชุม   เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2516 แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2523   เป็นเขื่อนดินขนาดสูง  23.00  เมตร  ยาว 1,500 เมตร   สันเขื่อนกว้าง 8.00 เมตร  ความจุ 32.00 ล้านลูกบาศก์เมตร  มีระบบส่งน้ำคลองสายใหญ่ฝั่งขวาและฝั่งซ้ายยาวรวมประมาณ 24.00 กิโลเมตร   พื้นที่ชลประทาน 15,300 ไร่ 

            โครงการอ่างเก็บน้ำยางชุม ตั้งอยู่ในพื้นที่รับน้ำของลุ่มน้ำย่อยคลองกุยบุรี  โดยกลุ่มน้ำย่อยคลองกุยบุรีจัดอยู่ในลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันตกซึ่งเป็นลุ่มน้ำประธาน บริเวณหัวงานโครงการอ่างเก็บน้ำยางชุม  มีสภาพภูมิประเทศเป็นลำห้วยที่ไหลระหว่างที่ราบช่องเขา  ณ  จุดที่ตั้งหัวงานอ่างเก็บน้ำ  มีพื้นรับน้ำประมาณ 369.50 ตารางกิโลเมตร  ความยาวลำน้ำจากต้นน้ำถึงจุดที่ตั้งอ่างเก็บน้ำ 37 กิโลเมตร  ความลาดเทของลำน้ำบริเวณหัวงานประมาณ  1 : 131  สภาพพื้นที่ลุ่มน้ำมีความลาดเทจากทิศตะวันตกไปสู่ทิศตะวันออก  ลำน้ำสายหลักของโครงการ  คือลำน้ำคลองกุย ซึ่งเกิดจากลำน้ำสาขาจำนวนมากที่ไหลจากแนวเขาตะนาวศรีที่เป็นพรมแดนกันระหว่างประเทศไทยกับสหภาพพม่า  และไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยที่บ้านปากคลองเกลียว ในเขตพื้นที่อำเภอกุยบุรี  คลองกุยเป็นลำห้วยที่มีน้ำไหลสม่ำเสมอตลอดปี  โดยจะมีน้ำไหลมากในช่วงฤดูฝนหรือช่วงที่มีฝนตก ซึ่งจะมีน้ำไหลอย่างรวดเร็วและมีปริมาณมาก

            โครงการอ่างเก็บน้ำยางชุม มีพื้นที่ชลประทาน 20,065 ไร่  ในเขตตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี  ซึ่งตำบลหาดขามมีเนื้อที่ทั้งหมด 504 ตร.กม. หรือประมาณ 315,000 ไร่ สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบเชิงเขา บางส่วนเป็นดินร่วนปนทราย เหมาะแก่การเกษตรกรรม สภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตตำบลหาดขาม สามารถจำแนกจัดกลุ่มประเภทการใช้ที่ดิน ออกเป็น    5 ลักษณะ ได้แก่ พื้นที่ป่าไม้ พื้นที่แหล่งน้ำ พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่อยู่อาศัย และพื้นที่อื่นๆ

            ประชากรในเขตตำบลหาดขามมี  2,311 ครัวเรือน  ประชากรจำนวน 10,181 คน โดยส่วนใหญ่มี อาชีพหลัก  ทำสวน / ทำไร่  และอาชีพเสริม รับจ้าง เลี้ยงสัตว์  กล่าวได้ว่าการผลิตทางการเกษตรยังคงเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของประชากร โดยเฉพาะสาขาการผลิตพืช ดังนั้นการพัฒนาและบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอกับการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญดังกล่าว จะสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ของเกษตรกรที่ยังคงเป็นประชากรส่วนใหญ่

 

ระยะเวลาก่อสร้าง 

            - ระยะแรก ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2516  จนถึงปีพ.ศ.2523 (วงเงินงบประมาณ 178 ล้านบาท)

            - งานก่อสร้างเพิ่มความจุอ่างฯ  คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการโครงการฯ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2546 โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี คือในปี พ.ศ.2547 ถึง ปี พ.ศ.2548 ซึ่งดำเนินการเปิดโครงการก่อสร้างเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2546 เริ่มก่อสร้าง 1 ธันวาคม 2546 แล้วเสร็จ 30 กันยายน 2548 ใช้งบประมาณในการดำเนินการก่อสร้างทั้งสิ้น 182,646,500 บาท

 

รายละเอียดโครงการ

            1. พื้นที่ลุ่มน้ำ 369.50 ตร.กม.

            2. ตัวเขื่อนประเภท Zone Type  ความสูงของเขื่อนที่จุดสูงสุด 26.00 เมตร  ความยาวสันเขื่อน 1,540 เมตร  ความกว้างของสันเขื่อน 9.00 เมตร  ระดับสันเขื่อน + 89.00 เมตร(รทก.)  ระดับน้ำสูงสุด + 86.45 เมตร(รทก.)  ระดับน้ำเก็บกัก + 84.80 เมตร(รทก.)  ระดับน้ำต่ำสุด + 72.00 เมตร(รทก.)  ความจุอ่างเก็บน้ำที่ระดับน้ำสูงสุด 51.84 ล้าน ลบ.ม.  ความจุอ่างเก็บน้ำที่ระดับน้ำเก็บกัก 41.10 ล้าน ลบ.ม.  ความจุอ่างเก็บน้ำที่ระดับน้ำต่ำสุด 3.21 ล้าน ลบ.ม.

            3. อาคารระบายน้ำล้น( Service Spillway) รูปตัว U ชนิด Ogee Weir  ความยาวสันฝาย 175.00 เมตร  ความกว้าง 39.00 เมตร  ระดับสันฝาย +84.80 เมตร(รทก.)  ระบายน้ำได้สูงสุด 650 ลบ.ม./วินาที

            4. อาคารท่อส่งน้ำปากคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย( Canal  Outlet) ชนิดท่อส่งน้ำ Steel Liner  ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง  0.80 เมตร  ระดับธรณีท่อ +72.00 เมตร(รทก.)  ปริมาณน้ำผ่านท่อส่งน้ำ 3.500 ลบ.ม./วินาที

6. อาคารท่อระบายน้ำลงลำน้ำเดิม( River  Outlet ) ชนิดท่อส่งน้ำ Steel Liner ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.00 เมตร  ระดับธรณีท่อ +76.00 เมตร(รทก.)  ปริมาณน้ำผ่านท่อส่งน้ำ 5.80 ลบ.ม./วินาที

            5. ระบบส่งน้ำแบบคลองส่งน้ำดาดคอนกรีต  จำนวน 3 สาย ความยาวรวม 27.00 กิโลเมตร พร้อมอาคารประกอบในระบบส่งน้ำ

            6. ระบบส่งน้ำแบบท่อส่งน้ำชนิดท่อเหล็กเหนียว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.40–1.00 เมตร จำนวน 1 สาย ความยาวรวม 21.00 กิโลเมตร พร้อมอาคารประกอบในระบบส่งน้ำ

 

องค์กรผู้ใช้น้ำชลประทาน

            ปัจจุบันองค์กรผู้ใช้น้ำชลประทานมีสถานะเป็นสหกรณ์ผู้ใช้น้ำชลประทาน ชื่อ “สหกรณ์การเกษตรชลประทานยางชุม จำกัด ”   เดิมได้จัดตั้งเป็นกลุ่มบริหารการใช้น้ำชื่อ “ กลุ่มบริหารฯ คลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย ” เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2533  มีสมาชิก 220 ราย  มีกลุ่มพื้นฐาน 39 กลุ่ม  พื้นที่ 10,593 ไร่   อยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายส่งน้ำฯที่ 1   โครงการชลประทานประจวบคีรีขันธ์

           เคยได้รับรางวัลสถาบันเกษตรผู้ใช้น้ำชลประทานดีเด่นแห่งชาติ  ประจำปี 2543  เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในงานพระราชพิธีจรดพระนางคัลแรกนาขวัญ  ต่อมาได้ยกระดับเป็นสหกรณ์การเกษตรชลประทานยางชุม จำกัด  เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2544  มีสมาชิก 300 ราย  มีกลุ่มคูพื้นฐานเพิ่มขึ้นเป็น 54 กลุ่ม (ฝั่งซ้าย 39 กลุ่ม  และฝั่งขวา 15 กลุ่ม)  พื้นที่รวม 20,065 ไร่    ปัจจุบันได้จัดตั้งเป็นคณะกรรมการจัดการน้ำชลประทานเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2552

 

ขอบคุณข้อมูล :  สำนักงาน กปร.