ชุมชนโค้งตาบาง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี

ชุมชนโค้งตาบาง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี

 

ประวัติความเป็นมา

             บ้านโค้งตาบาง หมู่ที่ 10 ตำบลท่าไม้รวก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ในอดีต บ้านโค้งตาบางมีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ต้นไม้ส่วนใหญ่จะเป็นไม้ขนาดใหญ่ 4-6 คนโอบ ในพื้นที่ป่ามีความร่มรื่น มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญหลากหลายชนิด มีสัตว์ป่านานาชนิด และมีน้ำไหลในลำห้วยตลอดปี กรมป่าไม้ได้เข้าไปส่งเสริมจัดตั้งเป็นป่าชุมชน เมื่อปี พ.ศ. 2552 คณะกรรมการป่าชุมชนและชาวบ้านจึงช่วยกันทำแนวเขต  เพื่อป้องกันมิให้ผู้ใดบุกรุก และได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ในบริเวณที่ว่าง ในวันสำคัญต่างๆ เป็นประจำทุกปี ช่วยกันดูแลรักษาป่า และมีการใช้ประโยชน์ผลผลิตจากป่าตามกฏระเบียบที่ชาวบ้านโค้งตาบางทำประชาคมกันไว้

             บ้านโค้งตาบาง หมู่ 10 ตำบลท่าไม้รวก อยู่ในเขตการปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าไม้รวก  อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี  บ้านโค้งตาบาง เป็นหมู่บ้านที่จัดตั้งขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2542 โดยแยกตัวจาก บ้านไร่หลวง หมู่ 7 ตำบลท่าไม้รวก มี นายฉันท์  อัครสกุลภิญโญ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกจนถึงปัจจุบัน เดิมทีราษฎรที่ชื่อ นายบาง และครอบครัว ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนตรงบริเวณทางโค้ง ถนนสายเขื่อนเพชร – เขาลูกช้าง ซึ่งเป็นถนนสายหลักของหมู่บ้าน จนชาวบ้านเรียกบริเวณนี้ว่า “โค้งตาบาง” และให้เรียกชื่อหมู่บ้านว่า “หมู่บ้านโค้งตาบาง” จนถึงปัจจุบันนี้

 

ปัญหาของชุมชน

           - ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำอาชีพรับจ้างทั่วไป เนื่องจากไม่มีที่ดินทำกิน ไม่มีต้นทุน ทำให้รายได้ไม่เพียงพอในการเลี้ยงดูครอบครัว

          - เกษตรกรที่ทำการเกษตร เช่น กล้วย ประสบปัญหาน้ำท่วม ทำให้ที่ดินและผลผลิตเสียหาย และขาดรายได้ ขาดอาชีพเสริมมารองรับ

          - ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพทำผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบในท้องถิ่นจำหน่ายนั้น พบว่ากลุ่มอาชีพ ค้าขายลักษณะทำๆหยุดๆ เพราะไม่มีที่วางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เป็นรูปธรรมชัดเจน และผลิตภัณฑ์ยังไม่ได้มาตรฐาน อย. เช่น น้ำยาล้างจาน ยังไม่มีการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์

          - ชาวบ้านขาดความรู้ทางเทคโนโลยีในการผลิตและจำหน่าย ทำให้ช่องทางการตลาดไม่หลากหลาย ขาดการประชาสัมพันธ์อย่างเป็นรูปธรรมทางสื่อออนไลน์ เช่น เฟสบุ้ค เพจ ไลน์ เว็บไซด์ เป็นต้น ไม่มีช่องทางจำหน่ายที่แน่นอน

          - ชาวบ้านขาดเป้าหมายในการทำตลาดร่วมกัน หรือในทิศทางเดียวกัน เพราะต้องทำรายได้รายวันที่ต่างคนต่างทำ เพื่อหารายได้จากการขายของ รับจ้าง และนำเงินรายวันช่วยเหลือครอบครัว

          - การมีรายได้ทางเดียว เมื่อรายได้หลักไม่เพียงพอ หรือเกิดอุปสรรคปัญหา ทำให้ขาดรายได้ทั้งครอบครัว

 

แนวทางแก้ไขปัญหาชุมชน (โครงการที่ดำเนินการ)

          จากความสำคัญและประเด็นปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น สรุปข้อมูลได้ว่า ประชาชนที่มีรายได้น้อยส่วนใหญ่ในเขตชุมชนโค้งตาบาง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรีประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป และไม่มีรายได้เสริมทางอื่น ทำให้รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายของครัวเรือนชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินทำการเกษตร ไม่มีต้นทุนในการซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ในการเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ หรือการทำปศุสัตว์  ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ ดังกล่าวประกอบอาชีพรับจ้าง และมีรายได้รายวัน เพียงวันละ 300 บาท ซึ่งรายได้ดังกล่าวไม่เพียงพอกับรายจ่ายในครัวเรือน อีกทั้งพบว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่มีชาวบ้านที่ทำงานหาเงินเลี้ยงดูครอบครัว หรือเป็นเสาหลักเพียงคนเดียว นอกจากนี้ยังพบกลุ่มชาวบ้านกลุ่มผู้สูงอายุ ตั้งแต่ อายุ 60-80 ปี ที่ไม่มีอาชีพ และว่างงาน อีกด้วย

          ดังนั้น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี มองเห็นถึงปัญหาและขีดจำกัดของชุมชนในการสร้างรายได้เพิ่มในครัวเรือน โดยสาเหตุของความยากจนที่พบสำหรับประชาชนในเขตชุมชนโค้งตาบาง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรีส่วนใหญ่สาเหตุมาจากปัจจัยภายใน ได้แก่ การมีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพต่ำ เนื่องจากการขาดโอกาสในการศึกษาและพัฒนา ทักษะต่าง ๆ การขาดโอกาสในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ การมีปัญหาสุขภาพ การมีภาระในการเลี้ยงดูครอบครัวที่มีขนาดใหญ่ การมีทรัพย์สินและที่ดินในการทำกินน้อย ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ ล้วนเป็นสาเหตุภายในบุคคลที่ทำให้บุคคลกลายเป็นคนจน หรือมีรายได้น้อย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มองเห็นถึงปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจไทย ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่มีอยู่สูง ประชาชนระดับฐานรากยังมีรายได้น้อย และประชากรกลุ่มผู้สูงอายุยังไม่มีอาชีพ หรือวางงานและขาดโอกาสในการเพิ่มรายได้ จึงหาแนวทางในการแก้ไข และประสานงานขอความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน และองค์กรส่วนท้องถิ่น ที่จะต้องเข้ามาดูแล สนับสนุน ร่วมมือและสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มชาวบ้านที่มีรายได้น้อยต่อไป

          คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ในฐานะที่เป็นฝ่ายพื้นที่ชุมชนโค้งตาบาง มองเห็นว่าการจัดการศึกษาอาชีพ การให้องค์ความรู้เพื่อพัฒนาความรู้ที่มีอยู่เดิมให้เกิดการยกระดับคุณภาพมากขึ้น โดยบูรณาการศาสตร์วิชาต่าง ๆ อีกทั้งการสร้างมาตรฐานสินค้า บริการและการท่องเที่ยวของชุมชน มีความสำคัญมากกับการแก้ไขปัญหาของรายได้เพราะจะเป็นการพัฒนาชุมชนให้มีความรู้ ความสามารถและทักษะในการประกอบอาชีพ เป็นการแก้ไขปัญหาการว่างงานและเป็นการสร้างอาชีพเสริมเพิ่มให้กับชาวบ้าน ช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจชุมชน จึงได้ประสานงานหน่วยงานทั้งภายในและภายนอก สร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน และองค์กรส่วนท้องถิ่น รวมทั้งความร่วมมือในระดับผู้นำชุมชนของพื้นที่ชุมชนเป้าหมาย เพื่อเป็นโอกาสที่จะช่วยส่งเสริมและสร้างความร่วมมือหาแนวทางแก้ไขให้เกิดผลดี และได้ประโยชน์สูงสุดกับกลุ่มเป้าหมาย และสามารถกำหนดรายละเอียดและจัดโครงการแก้ไขความยากจนของประชาชนในเขตชุมชนโค้งตาบาง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ให้สอดคล้องกับข้อมูลพื้นฐานของครัวเรือนที่ยังมีรายได้น้อย ให้สามารถพัฒนาศักยภาพและสร้างอาชีพเสริมให้เกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดรายได้ที่มากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป โดยกิจกรรมที่คณะวิทยาศาสตร์ฯ ออกแบบ ทั้งสิ้น ประกอบด้วย 5 กิจกรรม ดังนี้

          1. กิจกรรมคัดเลือก 20 ครัวเรือนเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ และจัดทำแผนกิจกรรม เพื่อพัฒนาและสร้างอาชีพเสริมให้กับประชาชนในเขตชุมชนโค้งตาบาง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ณ ศาลา 10 ชุมชนโค้งตาบาง   อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี  โดยกิจกรรมประกอบด้วยการระดมความคิดนำเสนอและออกแบบกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับชุมชน และคัดเลือก 20 ครัวเรือนเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เกิดแผนงานในโครงการพัฒนาและสร้างอาชีพเสริมให้กับประชาชนในเขตชุมชนโค้งตาบางอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ที่ส่งเสริมการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน

             

 

          2. กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการการทำผลิตภัณฑ์นวดเพื่อสุขภาพจากสมุนไพรและการนวดพื้นฐานด้วยสมุนไพรระยะที่ 1-3 เพื่อ                             

               ระยะที่ 1 กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ การทำลูกประคบ น้ำมันนวด พิมเสนน้ำ ยาหม่อง สบู่สมุนไพร สมุนไพรแช่เท้า เกลือแช่เท้า เกลือสปา และเกลือขัดตัว ระยะเวลา 3 วัน ณ ชุมชนบ้านโค้งตาบาง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี

 

 

               ระยะที่ 2 กิจกรรมการอบรมนวดเท้าเพื่อสุขภาพ ระยะเวลา 2 วัน ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

 

 

               ระยะที่ 3 กิจกรรมการจัดทำผลิตภัณฑ์กลุ่มของชุมชน การทำตลาดออนไลน์ ออฟไลน์ และ กิจกรรมจัดหาตลาดชุมชนและตลาดในพื้นที่ใกล้เคียง ฯ

 

 

          3. กิจกรรมพัฒนาหลักสูตรและอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรมาตรฐานการนวดไทยเพื่อสุขภาพ เพื่อสร้างอาชีพนวดไทยเพื่อสุขภาพตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้โครงการหลักโครงการแก้ไขความยากจนของประชาชนในเขตชนบท ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

 

 

          4. กิจกรรมศึกษาดูงานเพลินกายแผนไทย & สปา และศึกษาดูงานหมู่บ้านทีองเที่ยวเชิงนวัตวิถีเพื่อพัฒนาและสร้างอาชีพเสริมให้กับประชาชนในเขตชุมชนโค้งตาบาง อำเภอท่ายาง จ.เพชรบุรี 

 

 

          5. กิจกรรมลงพื้นที่เพื่อจัดประชุมสรุปการดำเนินงาน และจัดเก็บข้อมูลเพื่อพัฒนาและสร้างอาชีพเสริมให้กับประชาชนในเขตชุมชนโค้งตาบาง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ภายใต้โครงการหลัก โครงการแก้ไขความยากจนของประชาชนในเขตชนบท

         

 

ผลความสำเร็จของชุมชน

 

                                           

คณะทำงานประกอบด้วย

          1. อาจารย์จันทนา  ก่อนเก่า                             อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

          2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์วัชราภรณ์  ประภาสะโนบล   อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

          3. อาจารย์ธนิดา  ชาญชัย                                อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

          4. อาจารย์สรญา ธิมาชัย                                  อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี            

          5. นายณัฏฐนันท์  ศูนยจันดา                             เจ้าหน้าที่ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

          6. นางปริศนา  พันธ์งาม                                   เจ้าหน้าที่ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี