ชุมชนนายาง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

ชุมชนนายาง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

 

บริบทชุมชนนายาง

          พื้นที่ชุมชนนายางเป็นพื้นที่ราบลุ่ม  มีหนองน้ำและลำห้วยธรรมชาติไหลผ่านหลายสาย  จึงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค น้ำใช้ทำการเกษตรและเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ ทั้งยังเป็นพื้นที่ป่าเบญจพรรณที่หนาแน่นและที่มีมากคือต้นยาง (ยางนา) จึงตั้งชื่อชุมชนว่าบ้านนายาง ซึ่งเข้าใจว่าในระยะเริ่มแรกที่เข้ามาตั้งรกรากนั้น พื้นที่ดอนใช้เป็นบริเวณปลูกบ้านพักอาศัยอยู่กันเป็นกลุ่ม แต่ละครอบครัวก็ได้แผ้วถางป่าเพื่อจับจองพื้นที่ ไม้ใหญ่โดยเฉพาะไม้เนื้อแข็งและไม้ยางก็นำมาปลูกสร้างบ้านเรือนเป็นที่อยู่อาศัย และยุ้งฉางสำหรับเก็บพืชผลการเกษตร ไม้เล็กไม้น้อยใช้ทำเชื้อเพลิง  พื้นที่ที่ก่นถางก็ปรับปรุงแต่งไถเป็นผืนนา  ซึ่งการทำนาถือว่าเป็นอาชีพหลักของชาวนายางต่อเนื่องจนมาถึงปัจจุบัน   โดยในสมัยก่อนมีการนำผลผลิตข้าวและถ่านไปแลกอาหารกับชุมชนชายทะเลเพื่อใช้ก่อสร้างที่อยู่อาศัยและทำอุปกรณ์ต่างๆในการประกอบอาชีพประมง และยังมีอาชีพเลี้ยงวัวเพื่อไว้ใช้ในการทำนา  จำหน่ายเป็นรายได้ และเป็นอาหารสำหรับบริโภค  ทั้งนี้ชุมชนบ้านนายางมีการเติบโตขยายตัวอย่างต่อเนื่องตลอดมา เพราะลักษณะภูมิประเทศที่เหมาะสมและทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ดังกล่าวแล้ว

 

ปัญหาของชุมชน

          - ขาดงบประมาณจากองค์การบริหาร(เทศบาล)

          - ขาดบุคลากรขับเคลื่อนด้านการท่องเที่ยว

          - ขาดการประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานของรัฐ

          - ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

          - ขาดความมีส่วนร่วมในชุมชน

          - คนในชุมชนขาดความรู้ความเข้าใจ

          - คนในชุมชนยังไม่เห็นถึงความสำคัญ

          - สถานที่ท่องเที่ยวขาดการพัฒนา

 

แนวทางการพัฒนาชุมชน

          คณะครุศาสตร์ร่วมกับชุมชนตำบลนายาง อำเภอชะอำ ได้จัด โครงการ “พัฒนาแหล่งเรียนรู้รอบเทือกเขาเจ้าลายใหญ่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี” ภายใต้กิจกรรมประกอบด้วย กิจกรรมเสวนาประวัติศาสตร์ทวารวดีโดยนักวิชาการระดับชาติ  กิจกรรมปลูกต้นไม้โดยรอบโบราณสถาน  กิจกรรมทำป้ายแหล่งเรียนรู้โบราณสถานโคกเศรษฐี  กิจกรรมอบรมเจ้าบ้านน้อย  กิจกรรมปั้นดิน ให้ดัง  กิจกรรมจักรยานเพื่อน้อง กิจกรรมปั่นจักรยานท่องเที่ยว ซึ่งผลการดำเนินงานพบว่าเยาวชนและชุมชนในพื้นที่ เกิดความตระหนักและให้ความสำคัญเรื่องแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์โบราณสถานโคกเศรษฐี และต้องการการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวไปสู่การจัดการการท่องเที่ยวของชุมชน แต่อย่างไรก็ตามชุมชนยังขาดองค์ความรู้ด้านการ ท่องเที่ยว การพัฒนาสินค้าและการบริการเพื่อการท่องเที่ยวโดยชุมชน 

          มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้สนองพระราโชบายในเรื่องการ พัฒนาท้องถิ่น โดยให้ทุกคณะนำความรู้ไปสู่การบริการวิชาการที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนและยกระดับคุณภาพชีวิต   ในการนี้ คณะครุศาสตร์ได้จัดทำโครงการ “การจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ประวัติศาสตร์โคกเศรษฐี  อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี”ขึ้น 

          - มีการถอดบทเรียนและทำความเข้าใจร่วมกัน ระหว่างคณะทำงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีและชุมชนตำบลนายาง 

 

   

 

          - กิจกรรมการบรรยายพิเศษ คุณค่าประวัติศาสตร์ทวารวดีโคกเศรษฐี ทวารดี ศวรปุณยะแห่งนครเพชรบุรี

 

   

 

          - การสร้างความสัมพันธ์และ ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายชุมชน 

          - การอบรมให้ความรู้ด้านการท่องเที่ยว พาชุมชนศึกษาดูงานแหล่ง ท่องเที่ยวต้นแบบ

          - กิจกรรมพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวและการทดลองเส้นทางท่องเที่ยวชุมชน

 

    

 

   

 

          - กิจกรรมเปิด ตลาดชุมชนและการแสดงงานแสงสีเสียงเล่าขานตำนานมหาเภตรา

 

   

 

   

 

          - กิจกรรมถอดบทเรียนหลังการท่องเที่ยว เชิงนิเวศประวัติศาสตร์  เพื่อให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้าง รายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชนต่อไป

 

   

     

          ในการจัดทำโครงการการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศประวัติศาสตร์โคกเศรษฐี ได้มีการถอดบทเรียนหลังจากการดำเนินโครงการและมีการรวบรวมองค์ความรู้และการจัดพิมพ์เผยแพร่เพื่อให้เกิดการ พัฒนาและเกิดความเข้าใจองค์ความรู้ได้ตรงกัน เนื่องจากการทำวิจัยในปี 2560 เรื่องการพัฒนาการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศประวัติศาสตร์ทวารวดี : ทุ่งเศรษฐี อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ได้มีการตรวจสอบเรื่องชื่อ ที่เรียกทุ่งเศรษฐี  มีนักวิชาการหลายท่านไม่เห็นด้วยและเมื่อตรวจสอบกับคนในพื้นที่จะเรียกบริเวณ โบราณสถานว่าเจดีย์โคกเศรษฐีหรือถ้าใช้ภาษาท้องถิ่นก็จะออกเสียงว่า โคก-กะ-ถี  ในที่ประชุมมีความเห็นว่า ควรกลับมาใช้คำว่าโคกเศรษฐีแทนคำว่า ทุ่งเศรษฐี ซึ่งในปัจจุบันโบราณสถานทุ่งเศรษฐีได้ขึ้นทะเบียนเป็น โบราณสถานแห่งชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 122 ตอนพิเศษ 98 ง 22 กันยายน 2548 ทางอำเภอ ชะอำจึงดำเนินการทำเรื่องไปยังกรมศิลปากรเพื่อกลับมาใช้ชื่อ โคกเศรษฐี ตามคำที่ใช้เรียกในท้องถิ่นซึ่งอยู่ใน ระหว่างการดำเนินการ ในการนี้คณะทำงานจึงขอใช้ชื่อว่าโบราณสถานโคกเศรษฐีเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ตรงกันว่าโบราณสถานทุ่งเศรษฐีและโบราณสถานโคกเศรษฐีคือโบราณสถานแห่งเดียวกัน

 

 

คณะทำงานประกอบด้วย

          1. อาจารย์ ดร.เอื้อมพร               โตภานุรักษ์กุล         อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์

          2. รองศาสตราจารย์ ดร.กาญจนา  บุญส่ง                    อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์

         3. อาจารย์ปิยวรรณ                     คุสินธุ์                    อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์               

         4. อาจารย์จิณจุฑา                     สุวรรณ์คัมภีระ         อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์