พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี และนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีเข้าเยี่ยมชม การดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาราชภัฏเพชรบุรี สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

>> ดูรูปภาพเพิ่มเติม คลิ๊ก!!

 

        วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2565 พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี และนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี พร้อมด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี อาทิ นายวิชา จุ้ยชุม กรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี นำโดย ผศ.ดร. เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ผศ. พจนารถ บัวเขียว รองอธิการบดี และกรรมการสภามหาวิทยาลัยจากผู้แทนผู้บริหาร ผศ.นรีนารถ ศรีวรนารถ รองอธิการบดีและเลขานุการสภามหาวิทยาลัย  ดร. มนัญญา ปริยวิชญภักดี รองอธิการบดี ผศ. รพีพรรณ เทียมเดช กรรมการสภามหาวิทยาลัยจากผู้แทนผู้บริหาร ผศ. ทัศนัย ทั่งทอง กรรมการสภามหาวิทยาลัยจากผู้แทนคณาจารย์ประจำ และ ดร. เมธาวิน สาระยาน ผู้ช่วยอธิการบดี เข้าเยี่ยมชม การดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาราชภัฏเพชรบุรี สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี มีส่วนจัดแสดงสำคัญ คือ 1) หอเกียรติภูมิปัญญามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี (PBRU Hall of Fame) 2) ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ประกอบด้วย ห้อง “รอยเสด็จฯ เพชรบุรี” ห้อง “เฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศ์” และห้อง “ราชภัฏน้อมนำพระราชดำริสู่การพัฒนา” ในการนี้ สำนักวิทยบริการฯ จะได้นำข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะของท่านพลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข และกรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ไปปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของศูนย์ดังกล่าวต่อไป

           มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เป็นสถาบันอุดมศึกษาท้องถิ่นประจำจังหวัดเพชรบุรี ที่เกิดขึ้นจากพื้นฐานของโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมประจำจังหวัด พัฒนาสู่โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรี และปรับสถานะเป็น วิทยาลัยครูเพชรบุรี สถาบันราชภัฏเพชรบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ตามลำดับ

           กว่า 90 ปีมาแล้ว ที่จัดการเรียนการสอนผลิตบัณฑิตออกไปรับใช้สังคมและประเทศชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีได้เติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง  การจัดการศึกษาในยุคแห่งการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 มุ่งเน้นการส่งเสริมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นสำคัญ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นแหล่งสารสนเทศขนาดใหญ่ของมหาวิทยาลัย  มีหน้าที่ในการสนับสนุนการเรียนการสอนทุกศาสตร์ ทุกระดับชั้น และทุกช่วงวัย แต่สิ่งที่ยังขาดหายไปจากการส่งเสริมการเรียนการสอน คือศูนย์การเรียนรู้ด้านท้องถิ่น ทั้งด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม และประเพณี อันดีงามของจังหวัดเพชรบุรี ตลอดจนการน้อมนำพระราชดำริหรือศาสตร์พระราชามาใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นของมหาวิทยาลัย ที่ทันสมัยและมีความน่าสนใจ ทั้งทางด้านกายภาพ องค์ความรู้ และเทคโนโลยีถ่ายทอดความรู้ในรูปแบบต่าง ๆ

         จึงได้เกิดโครงการศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาราชภัฏเพชรบุรี ที่เป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้ ในการจัดเก็บทรัพยากรสารสนเทศที่มีคุณค่าด้านภูมิปัญญา-วัฒนธรรมของเพชรบุรี ศูนย์การเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 และในหลวงรัชกาลที่ 10 ตลอดจนศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติและพัฒนาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ที่สะท้อนถึงการศึกษา ประสบการณ์ อุดมคติ ของบูรพาจารย์หลาย ๆ ท่านในสถาบัน

      การพัฒนาและสร้างศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าวนี้ จะสร้างประโยชน์ต่อนักศึกษา คณาจารย์ บุคลากร และประชาชนทั่วไป ที่มีเป้าหมายในการเรียนรู้อย่างหลากหลาย อีกทั้งเป็นแหล่งสารสนเทศที่เต็มไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ผสมผสานกับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยการใช้ศาสตร์พระราชาเพื่อพัฒนาสังคมทุกด้านอย่างยั่งยืน

 

การเริ่มต้นโครงการศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาราชภัฏเพชรบุรี

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เสนาะ กลิ่นงาม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี ในปี 2557 ท่านได้มีแนวคิดที่จะพัฒนาพื้นที่บางส่วนของอาคารหอสมุดหลังเดิม ให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ตามอัธยาศัยที่สามารถเป็นพื้นที่พบปะ แลกเปลี่ยน และรองรับผู้มาเยือนมหาวิทยาลัยฯ อีกทั้งเป็นสวัสดิการสำหรับบุคลากรของมหาวิทยาลัยอีกด้วย โดยมี ผศ. วิเชียร เข็มเงิน รองอธิการบดี และอาจารย์เฉลิมศักดิ์ แก้วเกาะ พร้อมด้วยทีมอาจารย์สาขาวิชาสถาปัตยกรรมและการตกแต่งภายใน คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ร่วมกันออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ทั้งหมด และมีการปรับปรุงพื้นที่การเรียนรู้ต่าง ๆ ดังนี้

ระยะที่ 1

  • พ.ศ. 2557 จัดทำโครงการปรับปรุงพื้นที่ของอาคารหอสมุดเดิม และได้รับงบประมาณปรับปรุงเป็นพื้นที่การเรียนรู้ตามอัธยาศัย Think Café @Library
  • พ.ศ. 2559 ได้รับงบประมาณจัดทำผลงานสร้างสรรค์สกุลช่างเมืองเพชรบุรีที่เสาทั้ง 6 ต้น ของ Think Café @Library ปูนปั้นหุ่นหนุมานบริเวณหน้า Think Café @Library และปูนปั้นประวัติและพัฒนาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี แล้วเสร็จ 19 กันยายน พ.ศ. 2559 และจัดทำโครงการขออนุมัติงบประมาณแผ่นดินเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของอาคารหอสมุดเดิม
  • พ.ศ. 2560 ได้รับงบประมาณแผ่นดินปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของอาคารหอสมุดเดิม ดำเนินการปรับปรุงแล้วเสร็จเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2560
  • พ.ศ. 2561-ปัจจุบัน มีการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อการศึกษาค้นคว้า และการจัดกิจกรรมบูรณาการกับการเรียนการสอนของนักศึกษา อาจารย์ การต้อนรับผู้เข้าเยี่ยมชมในศึกษาดูงานของคณะหรือองค์กรต่าง ๆ มากมาย

ระยะที่ 2

  • พ.ศ. 2564 ได้รับงบประมาณจัดทำศูนย์เรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำริเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น

ระยะที่ 3

  • พ.ศ. 2565 จัดทำโครงการขออนุมัติงบประมาณพัฒนาศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืนในรูปแบบดิจิทัล

 

          ทั้งนี้ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มีแนวคิดในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาราชภัฏเพชรบุรีทั้งในด้านกายภาพ ที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ทันสมัย น่าสนใจ และการพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์เรียนรู้ในรูปแบบดิจิทัล หรือ Digital Museum ซึ่งต้องสร้างเครื่องมือสำหรับผลิตและจัดเก็บสื่อดิจิทัล ตลอดจนการบูรณาการกับการเรียนการสอน การบริการวิชาการ และประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อให้ได้องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องมารวบรวม จัดเก็บและเผยแพร่อย่างเป็นระบบต่อไป

 

 

"ติดตามข่าวสารจากสำนักฯ"
เว็บไซต์: https://arit.pbru.ac.th
Line ID: @944TKCPJ 


2022 © ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาราชภัฏเพชรบุรี