ผ้าสไบมอญบางลำภู

DSC_9507.jpg
Identify-04.jpg
titiya-01.jpg
User-01.jpg
User-04.jpg
User-05.jpg

Title

ผ้าสไบมอญบางลำภู

Creator

ทวี นวมนิ่ม

Description

          ชนชาติมอญ มีรูปแบบประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิต และศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาอย่างยาวนาน แต่ถูกทำให้ผสมผสานกลมกลืน จนเกือบจางหายไปหลังจากที่ชาวเมียนมาเข้ายึดครอง ชาวมอญบางส่วนได้อพยพหนีภัยสงครามมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย แต่ชาวมอญไม่ว่าในถิ่นฐานใดก็ยังคงความพยายามที่จะสืบสาน และส่งต่อความเป็นมอญให้แก่บรรดาลูกหลาน และสไบมอญก็คืออัตลักษณ์อันโดดเด่นอย่างหนึ่งของชาวมอญ นอกเหนือจากความสวยงามแล้ว เครื่องประดับตกแต่งร่างกายชิ้นนี้ยังมีความหมายและที่มาที่น่าสนใจ  โดยหนึ่งในชุมชนที่ยังคงรักษาวิถีคนมอญ ไปพร้อมกับการรื้อฟื้นภูมิปัญญาที่กำลังจะสูญหาย ก็คือชุมชนมอญบ้านบางลำภู อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งได้เริ่มฟื้นฟูการปักสไบมอญมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 จนทุกวันนี้ในหมู่บ้านมีช่างปักสไบฝีมือดีหลายท่าน และมีการสร้างสรรค์ลวดลายแปลกใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เพิ่มขึ้นอยู่เสมอ

          เดิมชาวมอญบางลำภูมีการปักผ้าสไบใช้เองกันอยู่บ้าง แต่ลวดลายที่ใช้ปักไม่ใช่ลายที่เป็นที่นิยมกันแบบในปัจจุบัน ในยุคแรกของการฟื้นฟูการปักผ้าสไบนั้น ชาวมอญบางลำภูได้ผ้าสไบมอญเจ็ดริ้ว จังหวัดสมุทรสาครเป็นต้นแบบ ซึ่งจะเป็นสไบลายดอกมะเขือ จากนั้นจึงมีการสร้างสรรค์ลายดอกลำพู ลายกุ้ง หอย ปู ปลา อันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นที่อยู่ใกล้กับทะเล ลายดอกลีลาวดีอันเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดเพชรบุรี ขาดไม่ได้คือลายหงษ์ที่เป็นสัญลักษณ์ของชาวมอญ เริ่มจากมีคนสนใจปักสไบอยู่ไม่กี่คน กลายเป็นคนนิยมปักสไบกันทั้งหมู่บ้าน จากที่เคยต่างคนต่างอยู่ ไม่ค่อยมีกิจกรรมร่วมกันพอมีกลุ่มสไบมอญบางลำภู สมาชิกกลุ่มก็เริ่มมารวมกลุ่มกัน ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ได้พูดคุยถึงเรื่องราวเหตุการณ์ในปัจจุบัน และระลึกถึงเรื่องราวและกิจกรรมที่เคยทำร่วมกันในอดีต ทำให้คนในชุมชนมีความรักและความสามัคคีกันมากยิ่งขึ้น

ผ้าสไบมอญบางลำภู

          ชนชาติมอญ มีรูปแบบประเพณี วัฒนธรรม และศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์มาอย่างช้านาน แต่ถูกทำให้ผสมผสานกลมกลืนไปหลังจากที่เมียนมาเข้ายึดครอง และด้วยเหตุผลทางการเมืองทำให้ชาวมอญจำเป็นต้องผลิตอัตลักษณ์ที่มีรูปแบบเฉพาะตัวและสืบสานส่งต่อให้แก่บรรดาลูกหลาน

          และสไบมอญ ก็คือ อัตลักษณ์อันโดดเด่นอย่างหนึ่งของชาวมอญ นอกเหนือจากความสวยงามแล้ว แฟชั่นรามัญชิ้นนี้มีความหมายและที่มา หนึ่งในชุมชนที่ยังคงรักษาวิถีคนมอญ ไปพร้อมกับการรื้อฟื้นภูมิปัญญาที่ห่างหาย โดยชุมชนบ้านบางลำภู อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ได้เริ่มฟื้นฟูการปักสไบมอญมาได้ราว 2 ปี จนวันนี้มีช่างปักฝีมือดี และมีการสร้างสรรค์ลวดลายแปลกใหม่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น

          การเริ่มต้นปักผ้าสไบนั้น แรกเริ่มจะแกะลายจากจังหวัดสมุทรสาครงานปักสไบลายดอกมะเขือ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์คนมอญ ลายหอย ปู ปลา ลายดอกลีลาวดีที่พบมากในเมือง ขาดไม่ได้คือลายหงษ์ที่เป็นสัญลักษณ์คนมอญ และยังคงสร้างสรรค์งานปักเลื่อมสไบมาจนถึงปัจจุบัน แต่ก่อนต่างคนต่างอยู่บ้าน บ้านใครบ้านมัน ไม่มีกิจกรรมร่วมกัน แต่พอเริ่มมีกลุ่มสไบมอญบางลำภู บรรดาแม่ป้าก็เริ่มมารวมกลุ่มกัน ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เวลานั่งปักสไบกันไป ก็คุยเรื่องสัพเพเหระมันเป็นการอัพเดทเนื้อหาข่าวสารในหมู่บ้าน แล้วก็อาจจะมีระลึกถึงความหลังกันบ้างเล็กน้อย เราก็ฟังไปด้วย ได้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์

          

การแต่งกายของชาวมอญในเพชรบุรี

          การแต่งกายของชาวมอญในจังหวัดเพชรบุรีมีการแต่งกายแบบมอญ คือ ใส่ผ้านุ่ง เสื้อแขนกระบอก สไบ และมวยผม ในวันเทศกาลต่างๆ เช่นวันสงกรานต์ วันเข้าพรรษา เป็นต้น คือต้องมีผ้าพาดติดไหล่สักผืน ผ้าผืนดังกล่าวสำหรับผู้ชายก็เรียกว่า ผ้าขาวม้า สำหรับผู้หญิงก็คือ ผ้าสไบ วิธีห่มหญาดฮะเหริ่มโตะ หรือ (สไบมอญ) เริ่มจาก นำผืนผ้ามาพับตามแนวยาวเป็น 4 ทบ กล่าวคือให้เหลือเพียง เศษหนึ่งส่วนสี่ของความกว้างผืนผ้า พาดจากไหล่ซ้ายไปด้านหลัง อ้อมใต้รักแร้ขวา แล้วขึ้นไปทับบนไหล่ซ้าย โดยเอาด้านที่มีลายดอกไม้ออก หากไปงานรื่นเริง เที่ยวเล่น ก็ใช้คล้องคอแทนหรือพาดลงมาตรง ๆ บนไหล่ซ้าย

          หญาดฮะเหริ่มโตะ หรือ (สไบมอญ) ใช้ได้ทั้งชายหญิงโดยเฉพาะในวัยหนุ่มสาว แต่ในชายสูงอายุมักใช้ผ้าขาวม้ามากกว่า ขนาดของหญาดฮะเหริ่มโตะ กว้างประมาณ 1 ศอก ยาวประมาณ 4 ศอก ปักลายดอกไม้ตรงริมผ้าตลอดทั้งผืน ลายดอกสอดสลับสีสวยงามตัดกับสีพื้นของผืนผ้าที่นิยมสีสดใส เช่น แดง ส้ม เขียวตองอ่อน เหลือง ขาว ฟ้า ชมพู และนับเป็นงานฝีมือของลูกผู้หญิงมอญอย่างหนึ่ง ที่จะต้องลงมือทำด้วยตนเองทุกคน ทุกครัวเรือน ที่สำคัญต้องมีไว้อวดฝีมือกันด้วย เอาไว้ใช้สอยยามออกวัดออกวา และไปงานรื่นเริง ขั้นตอนการทำนั้นเป็นการปักและตกแต่งริมผ้าด้วยมือทุกขั้นตอน โครงของลายนั้นคล้าย ๆ กัน แต่ในส่วนของรายละเอียด ความพิถีพิถันนั้นแล้วแต่ฝีมือของแต่ละคน

อัตลักษณ์เครื่องแต่งกายของชาวมอญ

          ธิติยา พูลเพ็ชร์, (2563) ได้กล่าวว่า ถ้าจะดูว่าอัตลักษณ์ของชาวมอญในจังหวัดเพชรบุรี ที่แสดงให้เห็นเด่นชัดว่านี่คือคนมอญ ก็คือ ผ้าสไบ มอญไม่เน้นการทอผ้า คนในหมู่บ้านไม่มีเครื่องมือทอผ้าเลยแม้แต่เครื่องเดียว แต่สไบอยู่กับคนมอญมาตั้งตั้งแต่อดีต ถามว่าทำไมถึงต้องเป็นผ้าสไบ ซึ่งมาจากการนับถือพระพุทธศาสนา คนมอญจะชอบไปวัด จะมีชีวิตอยู่กับวัด ใกล้ชิดกับวัด เวลาเข้าวัดผู้หญิงชาวมอญก็จะมีผ้าสไบเอาไว้ปิดช่วงบนไหล่ เพื่อความสำรวม และผ้าสไบก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกายของชาวมอญเลยก็ว่าได้ ถ้าออกจากบ้านก็ต้องมีผ้าสไบ สไบมีหลายอย่าง ดังรูปที่ปรากฏก็จะเป็นการแต่งกายของคนมอญรุ่นยาย รุ่นใหญ่ ที่ค้นรูปมาเจอว่าแต่งกายกันยังไง คือจะมีผ้าสไบติดตัวอยู่ตลอด แล้วก็เอกลักษณ์ของมัน จะไม่ใหญ่มาก ความกว้างแค่ 12 เซนติเมตรเท่านั้นเองค่ะ หรือ 12-15 เซนติเมตร ความยาวประมาณ 2 เมตร ที่เราทำสไบเพราะอะไร เพราะว่าเรามีการใช้สไบ 2 แบบ ดังนี้

          ลักษณะการใช้สไบแบบแรกก็คือห้อยลงมาปล่อยชายทั้งสองข้างหน้า ทีถ้าสไบมีขนาดใหญ่จนเกินไปเราจะห้อยแบบนี้ลำบากมันจะเกะกะ และอีกแบบหนึ่งที่เราใช้ก็คือการเข้าวัดทำบุญ การสร้างสไบมาผืนหนึ่งสามารถใช้ได้ในหลายลักษณะไม่เหมือนกับผ้าสไบของคนไทย ภูษาที่ใช้ห่มอย่างเดียวจะใช้คล้องคอไม่ได้ แต่ของมอญใช้ได้ ไม่ว่าจะใช้คล้องคอหรือห่มแบบสไบเฉียงก็ได้ ผ้าสไบของมอญจะต่างจากชาติพันธุ์อื่น ๆ คือ สีสัน ผ้าสไบของมอญจะเน้นสีจัดจ้านมาก อย่างที่เห็นตัวอย่างที่นำมาโชว์ ก็มีสารพัดสีเลย ให้เลือกซื้อเลือกหา ขึ้นอยู่กับชุดแต่งกายที่จะให้เข้ากันระหว่างสไบกับผ้าถุง ส่วนใหญ่สไบสีขาวเป็นผืนที่จะใช้ได้กับทุกๆ โอกาส ทุกๆ ที่ กล่าวโดยสรุปคือ ปัจจุบันเครื่องแต่งกายของคนมอญคล้าย ๆ คนไทยแล้ว คือ ไม่มีการทอผ้าในชุมชนมานานแล้ว แต่ว่ารูปแบบของการแต่งกาย ยังคงอัตลักษณ์เอาไว้เพื่อแสดงลักษณะความเป็นชาติพันธุ์มอญ โดยเฉพาะเรื่องของสไบ มีการทำสไบใช้ในโอกาสต่างๆ เช่น ในโอกาสที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา แล้วก็ใช้ในรูปแบบต่างๆ เช่นคล้องคอเฉวียงไหล่ 

          ในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายมีลักษณะแสดงความเป็นตัวตนนะถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นกลุ่มทอผ้าเองแล้วแต่ว่าเราจะมีการสั่งซื้อผ้าเข้ามาแล้วก็ตัดเย็บเพื่อแสดงลักษณะของอัตลักษณ์ของชุมชนหรือของกลุ่มชาติติพันธุ์ และกลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง 4 กลุ่มเนี่ยมีคติความเชื่อที่สัมพันธ์กับเรื่องเครื่องแต่งกายทั้งสิ้น

การคงอยู่หรือการสร้างสรรค์ของผ้าสไบมอญบางลำภู

          ธิติยา พูลเพ็ชร์,(2563) ได้กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ในหมู่บ้านบางลำภูมีการจัดตั้งเป็นกลุ่มปักผ้าสไบมอญบางลำภู ซึ่งเริ่มแรกมีสมาชิกอยู่ประมาณ 10 กว่าคน มีการเปิดอบรมอยู่เป็นระยะๆ มาระยะหลังก็เริ่มมีผู้คนให้ความสนใจมากขึ้น กลุ่มก็ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็มีแนวโน้มที่ดีที่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ พยายามที่จะสื่อให้เห็นว่า การปักสไบมอญไม่จำเป็นต้องเป็นคนมอญถึงจะปักได้ แต่ใครใครๆ ก็สามารถปักได้ ประชาชนทั่วไปก็ปักได้ มันเป็นเทคนิคที่ง่าย มากๆ เป็นการฝึกสมาธิในการปรับสมดุลในสมองเวลาที่เราปักสไบ เราจะไม่อยากทำอย่างอื่นเลย ซึ่งมาจากประสบการณ์ของตัวเอง ส่วนประโยชน์ของผ้าสไบมอญ นอกจากเอามาประดับตกแต่งร่างกายให้สวยงามแล้ว จริงๆแล้วเวลาปักสไบ เราจะสามารถฝึกสมาธิไปด้วย แล้วก็ได้แสดงออกถึงรสนิยมการใช้สี คือ งานศิลปะอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นศิลปะที่เราไม่ได้ไปแขวนไว้ที่ผนังบ้าน แต่เป็นศิลปะที่แขวนไว้บนตัวของเรา แล้วก็เดินไปไหนมาไหนกับเราได้นอกจากนี้ เราก็ยังพยายามที่จะต่อยอดผลิตภัณฑ์กระเป๋า ก็คือเกิดมาจากการใช้ทักษะทางการตลาดของเรา แล้วก็จะเอามาเป็นผลิตภัณฑ์ต่อยอดเพื่อที่จะเจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ที่ไม่ใช่คนหนึ่งเดียว คือ เป็นประชาชนทั่วไป เราก็สามารถมีผลิตภัณฑ์ของเราได้ อนาคตของกลุ่มก็ค่อนข้างจะสวยงาม แล้วก็สถานการณืการณ์ต่าง ๆ ในปจจุบัน คงจะไม่มีผลกับเราเหมือนกัน เพราะว่าเรานั่งปักอยู่ที่บ้าน ปักแล้วไม่อยากไปไหน ปกติก็อยากจะหยุดอยู่บ้านปักสไบกัน วันไหนช่วงไหนว่างจะเป็นช่วงที่เราสร้างสรรค์ผลงานเยอะมาก ถ้ามีเวลาซักอาทิตย์สองอาทิตย์ เขาจะปักสไบกันได้หลายผืนเลย

ลวดลายบนผ้าสไบมอญบางลำภู

  1. ลายหงษ์ เป็ญลายสัญลักษณ์ของคนมอญ
  2. ลายดาวลอมเดือน มักจะปักรูปดาวเล็ก ๆ ไว้รอบ ๆ ลายดอกพิกุลแปดแฉก
  3. ลายดอกมะเขือ เป็นลายที่พบบนสไบมอญแต่ดั้งเดิม
  4. ลายดอกลำพู เป็นลายดอกไม้สัญลักษณ์ประจำท้องถิ่นบางลำภู
  5. ลายดอกลีลาวดี เป็นลายดอกไม้สัญลักษณ์ประจำจังหวัดเพชรบุรี
  6. ลายดอกไม้ต่าง ๆ ตามจินตนาการและความชื่นชอบของผู้ปัก
  7. ลายสัตว์ต่าง ๆ ในพื้นถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวมอญบางลำภู เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา เป็นต้น
  8. ลายไม้เลื้อย เป็นลายที่มีการปักเส้นเลื้อยยาวต่อเนื่องไปตลอดทั้งผืน พร้อมด้วยดอกและใบไม้ในรูปแบบต่างๆ

ขั้นตอนการปักสไบมอญ

  1. เลือกซื้อผ้าที่จะนำมาทำสไบ โดยผ้าที่นิยมใช้ในการทำสไบมอญมี 2 ชนิดได้แก่ผ้าไหมอิตาลี และผ้าโทเร สีที่ใช้เป็นไปได้ทุกเฉดสี ไม่มีข้อจำกัด แต่ผ้าที่ใช้ควรมีความยาวไม่ต่ำกว่า 2 เมตร
  2. วัดและตัดผ้าให้ได้ความกว้างประมาณ 29-30 เซนติเมตร ยาวประมาณ 210-220 เซนติเมตร รีดให้ชายผ้าทั้งสองด้านมาประกบกันตลอดความยาวของผ้า ถ้าเป็นผ้าไหมอิตาลีให้เอาด้านมันไว้ด้านใน
  3. วาดขอบและลวดลายลงบนผืนผ้าเพียง 1 ด้าน โดยใช้แบบที่แกะไว้บนแผ่นใส กระดาษไขลอกลายต้นแบบหงส์และดอกไม้ชนิดต่าง ๆ กระดาษคาร์บอน ปากกา และดินสอเขียนผ้า
  4. เลือกสีไหมที่ต้องการ และวางลำดับการเรียงสี โดยไหมที่มอญบางลำภูนิยมใช้คือไหมถักวีนัสเบอร์ 16
  5. ตรึงสะดึงลงบนผ้าด้านที่เขียนลาย ปักไหมไปตามลายที่เขียนไว้
  6. เมื่อปักลายครบทั้งผืนแล้ว นำผ้าไปรีดให้เรียบ แล้วจึงประกบและเนาริมผ้าให้ติดกันทั้งสองด้าน จากนั้นจึงปักขอบสไบตามลายที่เขียนไว้ด้วยวิธีคัทเวิร์ค
  7. เมื่อคัทเวิร์คเก็บริมผ้าเสร็จทั้งผืนแล้ว ให้ตัดขอบผ้าด้านนอกแนวคัทเวิร์คออกด้วยความระมัดระวัง
  8. นำไปซัก รีด และแขวนเก็บไว้ในตู้เสื้อผ้า

แนวคิดและการอนุรักษ์

          ธิติยา พูลเพ็ชร์,(2563) ได้กล่าวว่า ภูมิปัญญามันไม่ใช่สิ่งที่หาง่ายแล้วก็ไม่ได้สร้างขึ้นมาได้เพียงไม่กี่วัน มันคือสิ่งที่ทำกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยุคสมัยเปลี่ยนไปเร็วมากจนตามไม่ทัน ความเจริญทางด้านเทคโนโลยีเข้ามามากมาย แต่พวกเราต้องกลับไปมองข้างหลังเหมือนดังที่อาจารย์ถนอม คงยิ้มละมัย ได้กล่าวไว้ คือสนหาหลัง คือการกลับไปดูว่าจริงๆแล้วรากเหง้าของพวกเราคืออะไร ที่จริงแล้วคนที่อยู่ในหมู่บ้านก็เป็นคนไทยหมด มีบัตรประชาชนมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย อยู่ที่นี่มาก่อนที่จะเรียกว่าประเทศไทย คำว่าประเทศไทยเกิดมาทีหลัง เพราะฉะนั้นการกำหนดสัญชาติหรือการสร้างบัตรประชาชนตามมาทีหลังทั้งหมดเลย ทำให้เรามีความเป็นไทยเท่าๆ กับคนไทยทุกคนที่อยู่ที่นี่ แต่ถ้าถามถึงรากเหง้าของพวกเรา ว่าจริง ๆ พวกเรามีเชื้อสายอะไร ก็แล้วแต่ชาติพันธุ์ อย่าง ดร. ธิติยา พูลเพ็ชร์ สามารถพูดได้เต็มปากว่ามีเชื้อสายเป็นคนมอญ ที่บ้านก็พูดภาษามอญ แต่งกายเป็นคนมอญ มีวัฒนธรรมมีประเพณีเป็นของคนมอญทั้งนั้น ก็ควรจะรักษารากเหง้าของมอญเอาไว้ เปรียบได้กับต้นไม้ถ้ารากเจริญงอกงาม ที่เหลือก็สามารถเจริญได้ ถ้ารากอยู่ ทุกอย่างก็อาจจะเดินได้ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่ถ้ารากเหง้าถูกทำลายความเป็นชาติพันธุ์มอญก็จะหายไป นั่นก็คือความหลากหลาย ไม่ควรที่จะหลอมทุกอย่างให้เหมือนกัน ควรเก็บความหลากหลายไว้ กะเหรี่ยงก็เป็นกะเหรี่ยง ไทยทรงดำก็เป็นไทยทรงดำ ไทยพวนก็ยังคงเป็นไทยพวน มอญก็เป็นคนมอญ แต่เราก็อยู่ร่วมกันได้ในสังคมที่มีความหลากหลาย ในการจะทำให้สังคมมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ถ้าทุกคนเหมือนกันไปหมดเลยนี้น่ากลัว ต้องรักษาความหลากหลายไว้แล้วก็จงภูมิใจในรากเหง้าของตัวเอง

Subject

มอญ
ชาติพันธุ์
ผ้าสไบ
ผ้าชาติพันธุ์
ช่างปัก
เครื่่องแต่งกาย -- มอญ

Coverage

เพชรบุรี
บางลำภู
บ้านแหลม

Source

Date

04/06/2563

Type

text

Language

tha

Relation

  • ธิติยา พูลเพ็ชร์, (ผู้บรรยบาย). (2563). การเสวนาเรื่อง ผ้าทองและการพัฒนาอัตลักษณ์ผ้าชาติพันธุ์ในจังหวัดเพชรบุรี. เพชรบุรี: [วีดีโอไฟล์] สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี.
  • จังหวัดเพชรบุรี. (2525). สมุดเพชรบุรี 2525. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์.
  • มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท. (2542). สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์มอญ. นครปฐม : มหาวิทยาลัยมหิดล.
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี. (2558). พื้นภูมิเพชรบุรี : ภูมิประชาเพชรบุรี. เพชรบุรี : เพชรภูมิการพิมพ์.
  • ที่นี่บางครก @เพชรบุรี. (2560). สืบค้น 1 มิ.ย. 2563 จาก https://www.facebook.com/BangkhrokPhetchaburi
  • สไบมอญบางลำภู. (2563). สืบค้น 1 มิ.ย. 2563 จาก https://www.facebook.com/สไบมอญบางลำภู-111898720404129

Rights

สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เป็นหน่วยงานทางการศึกษาไม่แสวงหาผลกำไร
- ใช้สำหรับการศึกษา ค้นคว้า วิจัย

Geolocation