โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง

hubkapong-01.jpg

Title

โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง

Creator

ทวี นวมนิ่ม

Description

          โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง เป็นโครงการพระราชดำริแห่งแรกในจังหวัดเพชรบุรี นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จแปรพระราชฐานและทราบเรื่องความทุกข์ร้อนของราษฎร เมื่อปี พ.ศ. 2507 พื้นที่ของโครงการตั้งอยู่หมู่ที่ 8 และ 10 ตำบลเขาใหญ่  อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี  เนื้อที่โครงการ 12,500 ไร่ อยู่ห่างจากจังหวัดเพชรบุรี 40 กิโลเมตร และอยู่ห่างเขตอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 34 กิโลเมตร เป็นโครงการในพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี จัดตั้งขึ้นเพื่อจัดการพัฒนาที่ดินให้แก่เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน และทดลองด้านการเกษตรแผนใหม่บนพื้นที่แห้งแล้ง โดยเกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรที่ดินเหล่านี้ ได้รวมตัวกันแล้วจัดตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตร ยึดหลักและวิธีการสหกรณ์สำหรับแก้ไขปัญหาต่างๆ ของสมาชิก ตั้งแต่เริ่มการผลิตไปจนถึงการจำหน่ายออกสู่ตลาด ปัจจุบันที่นี่ยังเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการปลูกพืชและสัตว์ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเกษตรบนพื้นที่แห้งแล้ง อีกทั้งเป็นแหล่งให้การศึกษา ส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ด้านต่างๆ แก่เกษตรกร และประชาชนทั่วไป

ความเป็นมา       

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จแปรพระราชฐานประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี พ.ศ. 2507 และทรงเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรจังหวัดใกล้เคียง พระองค์ได้ทรงทราบถึงความเดือดร้อนของเกษตรกร กลุ่มชาวสวนผักชะอำ จำนวน 83 ครอบครัว ขาดแคลนทุนทรัพย์ที่จะนำไปประกอบอาชีพ พระองค์จึงทรงรับเกษตรกรเหล่านี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ฯพณฯ องคมนตรีหม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้จัดหาที่ดินในเขตจังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรดังกล่าว

          รัฐบาลอิสราเอล โดย ฯพณฯ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ขอทราบหลักการของโครงการ และอาสาช่วยเหลือในการพัฒนาการเกษตรในรูปของผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ทำสัญญาร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลอิสราเอล มีกำหนดระยะเวลา 5 ปี เริ่มวันที่ 19 สิงหาคม 2509 ถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2514 ใช้ชื่อว่า โครงการไทย-อิสราเอล เพื่อพัฒนาชุมชน (หุบกะพง) โดยเลือกที่ดินบริเวณหุบกะพง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นที่ตั้งของศูนย์สาธิตและทดลองการเกษตรของโครงการ

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระราชดำริให้กันพื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่ ออกจากป่าคุ้มครองของกรมป่าไม้ ภายหลังพระองค์ทรงจับจองพื้นที่ดังกล่าวเยี่ยงสามัญชน โดยปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายป่าไม้และกฎหมายที่ดินทุกประการ เมื่อมีแนวพัฒนาที่ดินดีขึ้นแล้ว ก็จะจัดให้เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนในตอนต้น และเกษตรกรที่ขยันหมั่นเพียรแต่ขาดแคลนที่ดินทำกินเข้ามาอยู่อาศัยและทำประโยชน์ และการอพยพครอบครัวเกษตรกรได้จัดให้อยู่เป็นหมู่บ้านเกษตรกร โดยมีทางราชการเข้าช่วยเหลือให้คำแนะนำการบริหารงานของหมู่บ้านตัวอย่าง และมีการให้การศึกษาอบรมเกี่ยวกับหลักและวิธีการสหกรณ์ จนเห็นว่าสมาชิกของหมู่บ้านเกษตรกรมีความเข้าใจดีพอแล้ว จึงเข้าชื่อกันเพื่อขอจดทะเบียนเป็นสหกรณ์การเกษตร ชื่อว่า “สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด” เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2514 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าพระราชทานทะเบียนให้ผู้แทนสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด และได้พระราชทานโฉนดที่ดินบริเวณหุบกะพง จำนวน 3 ฉบับ รวมเนื้อที่ 12,079 ไร่ 1 งาน 82 ตารางวา ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์และสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบ โดยมีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นเจ้าของโครงการ

พระราชดำริ

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริที่เกี่ยวข้องกับโครงการหุบกะพง ดังนี้

          16 มิถุนายน 2525 มีพระราชดำริที่โครงการพัฒนาชนบทสหกรณ์การเกษตรหุบกระพงตามพระราชดำริ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ความว่า "การจัดสรรที่ดินให้สมาชิกเข้าอยู่อาศัยทำกิน โดยให้คำนึงถึงความเป็นธรรม ระหว่างสมาชิกเก่ากับสมาชิกใหม่ เพื่อให้ได้รับผลประโยชน์เท่าเทียมกัน ซึ่งจะต้องพิจารณาวางแผนระยะยาวไว้ด้วย พร้อมกันนี้ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการปลูกป่าในบริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำ โดยดำเนินการตามแบบหมู่บ้านป่าไม้ เช่นเดียวกับที่ดำเนินการอยู่ในโครงการหลวงภาคเหนือและที่อื่น ๆ"

          17 พฤษภาคม 2528 มีพระราชดำริที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ความว่า "ปลูกป่าไม้ผล เช่น มะม่วงหิมพานต์ บริเวณเนินเขาต่าง ๆ หากได้ผลดีอาจพิจารณาตั้งโรงงานกะเทาะเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ที่บริเวณศูนย์ฯ หรือหุบกะพง"

          และยังมีการบันทึกจากพระราชกระแสรับสั่งในคราวที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานสัมภาษณ์แก่เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) และคณะผู้บริหาร กปร. เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2529 ณ พระตำหนักจิตรดารโหฐาน เกี่ยวข้องกับที่มาของ "หุบกะพง" ตอนหนึ่งว่า "...เรื่องของหุบกะพงนั้น ในตามตำราเริ่มมีเมื่อไหร่นะ ไม่ใช่ตอนที่ไปวางศิลาฤกษ์ศูนย์ของเกษตรที่หุบกะพง แต่ก่อนนั้นตั้งหลายปี ได้ทำงานไปแล้วก่อนที่ไปทำนานทีเดียว ไม่ใช่อยู่ดีๆ ไปตั้งที่หมู่บ้านหุบกะพง บ้านหุบกะพงมาทีหลัง ตอนแรกไปทำที่สวนผักชะอำ..."
           นอกจากนี้ยังทรงกล่าวถึงการจัดตั้งหมู่บ้านหุบกะพงอีกด้วยว่า "...อันนี้เป็นประวัติแปลกไม่มีใครรู้ เป็นโครงการที่ไม่บันทึกไว้ ตามทางกรุงเทพฯ ถึงหัวหินและชะอำ มีต้นก้ามปูเยอะ เดี๋ยวนี้เหลือบ้างเล็กน้อย นายสุรเทิน บอกว่า ครั่งเป็นสินค้าสำคัญ ทำแผ่นสีทำสีมีคุณภาพ ตัวครั่งมาทำรังเสร็จแล้งแต่งกิ่งแล้วทุบๆ มาตากทำครั่ง ก็เอาประชาชนแถวนั้นที่ไม่มีงานทำตั้งเป็นกลุ่มดูแลหน้าบ้าน ทำไปทำมาเขาไปรวมกลุ่มทำ รวมพวกได้มากขึ้น จนเกิดเป็นกลุ่มเกษตรร่วมกับกลุ่มสวนผัก เขาไปบอกว่าสหกรณ์นี้ดี ก็ช่วยกันทำ ไปส่งเสริมเขา..."

ที่มา : สำนักงาน กปร. http://km.rdpb.go.th 

วัตถุประสงค์      

  1. จัดตั้งศูนย์สาธิตและทดลองการเกษตรเพื่อศึกษาข้อมูลในด้านการปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์ที่เป็น ประโยชน์ต่อการพัฒนาการเกษตร ในพื้นที่ที่แห้งแล้งตลอดจนสาธิตการใช้เทคโนโลยีการเกษตรด้วย
  2. ทำการปฏิรูปที่ดินโดยการจัดพัฒนาที่ดินว่างเปล่า แล้วจัดสรรให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินในการ เพาะปลูกเป็นของตนเอง เข้าทำการเกษตรประกอบอาชีพตามวิธีการเกษตรแผนใหม่ แต่ไม่ให้กรรมสิทธิ์ใน การถือครองที่ดิน
  3. รวมกลุ่มเกษตรที่ได้รับการจัดสรรที่ดินเหล่านี้จัดตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตร โดยใช้หลักการและวิธีการ สหกรณ์แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของสมาชิก ตั้งแต่เริ่มการผลิตจนถึงการจำหน่ายสู่ตลาด
  4. เป็นแหล่งให้การศึกษา การส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ต่าง ๆ แก่เกษตรกร นักเรียน นักศึกษา และ ประชาชนทั่วไป

ประโยชน์ของโครงการ

  1. ทําให้เกษตรกรมีที่ดินทํากิน มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีอาชีพที่มั่นคง
  2. ได้มีแหล่งเรียนรู้ให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้เกี่ยวกับโครงการตามพระราชประสงค์
  3. ต่อยอดผลผลิตของเกษตรกรที่มีอยู่ให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น
  4. ทําให้มีเงินหมุนเวียนในสหกรณ์หมู่บ้าน
  5. สร้างความสามัคคีให้ชุมชนและทําให้คนในชุมชนยอมรับฟังข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะของกันละกัน

พื้นที่ดำเนินการ        

        หมู่ที่  8 และ 10 ตำบลเขาใหญ่  อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ละติจูด 12.8211887, ลองติจูด 99.8733538,13  เนื้อที่ของโครงการ 12,500 ไร่ อยู่ห่างจากจังหวัดเพชรบุรี 40 กิโลเมตร และอยู่ห่างเขตอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 34 กิโลเมตร

หน่วยงานที่รับผิดชอบ

  • ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง  อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี 76120 โทร. 0-3247,1100 โทรสาร 0-3247-1543
  • สหกรณ์จังหวัดเพชรบุรี โทร. 0-3242- 5260 ต่อ 12

การดำเนินงาน

1. การจัดที่ดิน

          จัดแบ่งแปลงที่ดินให้ราษฎรเข้าทำประโยชน์โดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ดำเนินงานตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต มอบอำนาจการจัดที่ดินให้กรมส่งเสริมสหกรณ์กับสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด ร่วมกันใช้อำนาจในที่ดิน ที่หุบกะพงของพระองค์ ทั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้กำหนดระเบียบว่าด้วยการจัดสรรที่ดินหมู่บ้านสหกรณ์ โครงการหุบกะพง พ.ศ. 2524 เพื่อนำมาใช้เป็นหลักเกณฑ์การจัดที่ดินในโครงการ ปัจจุบันได้มีการจัดแบ่งแปลงที่ดินให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ไปแล้ว จำนวน 7,773 ไร่ แยกเป็น

  • แปลงละ 5 ไร่ จำนวน ๒๑๓ แปลง เนื้อที่ 1,065 ไร่
  • แปลงละ 6 ไร่ จำนวน ๑๖ แปลง เนื้อที่ 96 ไร่
  • แปลงละ 7 ไร่ จำนวน ๑๕๐ แปลง เนื้อที่ 1,050 ไร่
  • แปลงละ 9 ไร่ จำนวน ๑๔ แปลง เนื้อที่ 126 ไร่
  • แปลงละ 10 ไร่ จำนวน ๑๑๕ แปลง เนื้อที่ 2,250 ไร่
  • แปลงละ 11 ไร่ จำนวน ๑๑ แปลง เนื้อที่ 165 ไร่
  • แปลงละ 12 ไร่ จำนวน ๑๒๓ แปลง เนื้อที่ 2,196 ไร่
  • แปลงละ 13 ไร่ จำนวน ๓๓ แปลง เนื้อที่ 825 ไร่

          โดยพื้นที่แปลง 5, 6, 7 ไร่ จัดเป็นพื้นที่ที่ตั้งของหมู่บ้านและปลูกพืชต่าง ๆ โดยให้รับน้ำจากระบบชลประทาน ส่วนพื้นที่แปลง 9, 10, 15, 18 และ 25 ไร่ เป็นพื้นที่ปลูกพืชไร่ต่าง ๆ ซึ่งได้รับน้ำตามธรรมชาติ พื้นที่ส่วนหนึ่งประมาณ 1,000 ไร่ ซึ่งมีเขตติดต่อกับภูเขา ได้กันไว้ให้กับกรมป่าไม้ เพื่อการปลูกป่าทดแทน ตามโครงการพัฒนาด้านต้นน้ำตามพระราชประสงค์หุบกะพง และมีการสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นในบริเวณนั้น โดย กรมชลประทานเป็นผู้ดำเนินการตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อรักษาความชุ่มชื้น และ ใช้ประโยชน์จากน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งสามารถเลี้ยงพื้นที่ได้ประมาณ 2,000 ไร่ และยังเป็นสถานที่เพาะพันธุ์ ปลาน้ำจืดต่าง ๆ ด้วย

          พื้นที่ส่วนที่เหลือบางส่วนเป็นที่ปลูกสร้าง โรงเรียน วัด ที่ทำการศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง ที่ทำการ ศูนย์ช่างสหกรณ์ที่ 8 และสถานีอนามัย เป็นต้น บางส่วนเป็นพื้นที่ถนนที่ตัดเข้าหมู่บ้าน เพื่อความสะดวกใน การสัญจร คมนาคมขนส่งผลผลิตของสมาชิก

2. การจัดระบบชลประทาน

          จากการสำรวจเพื่อหาแหล่งน้ำ โดยกรมทรัพยากรธรณี ผลการขุดเจาะน้ำบาดาลเมื่อเริ่มโครงการฯ ปรากฏว่ามี ปริมาณน้ำน้อย เพียงพอต่อการบริโภคในเวลาอันจำกัดแต่ไม่พอที่จะนำมาใช้ประโยชน์ทำการเกษตร จึงได้มี การติดตั้งสถานีสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้าขึ้น 2 แห่ง เพื่อสูบน้ำจากคลองชลประทานสายเขื่อนเพชรหัวหินมาตามท่อส่งน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 นิ้ว และ 12 นิ้ว ไปถังพักน้ำขนาดความจุ 1,000 ลูกบาศก์เมตร 2 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณสูงจากระดับพื้นที่ของหมู่บ้านสมาชิก เพื่อให้เกิดแรงดันน้ำส่งเข้าหมู่บ้านสหกรณ์ ด้วยท่อน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 นิ้ว และส่งต่อท่อตามขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กลง คือ 6 นิ้ว และ 4 นิ้ว โดยส่งเข้าสู่หมู่บ้าน ด้วยท่อส่งน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 นิ้ว ซึ่งสามารถเลี้ยงพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ และได้ จัดระบบหมุนเวียนการใช้น้ำ สมาชิกแต่ละครอบครัวจะได้รับน้ำวันละ 2 ชั่ว โมง และเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายกระแสไฟฟ้าสูบน้ำในรูป ธุรกิจบริการของสหกรณ์ กับมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อกักเก็บน้ำธรรมชาติจำนวน 2 อ่าง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำ หุบกะพง ความจุ 250,000 ลูกบาศก์เมตร และอ่างเก็บน้ำห้วยทรายหุบกะพง ความจุ 704,000 ลูกบาศก์ เมตร

3. การสาธิตและทดลองการเกษตร

          จัดทำแปลงสาธิต และทดลองการปลูกพืชต่าง ๆ ได้แก่ พืชชลประทาน พืชไร่ และพืชสวน ตลอดจนสาธิต การเลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ ได้แก่ โคเนื้อ โคนม สัตว์ปีก และปลาชนิดต่าง ๆ ในพื้นที่แปลงสาธิต จัดเก็บสถิติข้อมูล เชิงวิชาการ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการแนะนำส่งเสริมอาชีพสมาชิกในพื้นที่ และจัดอบรมเกษตรกรสมาชิกเยาวชน สหกรณ์ โดยมีการประสานงานกับหน่วยราชการต่าง ๆ ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมป่าไม้ กรมประมง กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน เป็นต้น

          พืชสวนต่าง ๆ ที่ได้ส่งเสริมให้สมาชิกปลูก ได้แก่ หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโพดฝักอ่อน มะเขือเทศ แคนตาลูป ผักต่าง ๆ เป็นต้น ส่วนพืชไร่ ได้แก่ อ้อย สับปะรด ข้าวโพด กระเจี๊ยบแดง ฯลฯ พื้นที่ที่มีสภาพดินไม่ดี ส่งเสริมให้ปลูกป่านศรนารายณ์ โดยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราช ดำริให้สมาชิกทำอุตสาหกรรมในครัวเรือน ในรูปหัตถกรรม การจัดทำเครื่องจักสาน โดยใช้เส้นใยจากป่าน ศรนารายณ์ โดยศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง ได้ทำแปลงปลูกป่านศรนารายณ์เพื่อขยายพันธุ์ส่งเสริม ให้สมาชิกปลูกเพื่อใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบที่ผลิตได้

          นอกจากนี้ยังได้มีการส่งเสริมการแปรรูปพืชผลิตผลที่ได้จากไร่นา เช่น การทำน้ำส้มสายชูจากสับปะรด มะยม มะม่วง และพืชต่าง ๆและจัดจำหน่ายในรูปกลุ่มสตรีสหกรณ์

4. การจัดหมู่บ้านสหกรณ์

          หมู่บ้านโครการไทย-อิสราเอล ปัจจุบันมีลักษณะเป็นหมู่บ้านตัวอย่างซึ่งจัดในรูปสหกรณ์ที่สมบูรณ์แบบ โดยจัด หมู่บ้านออกเป็นกลุ่ม มีถนนตัดผ่านแบ่งออกเป็น 5 ซอย พื้นที่ของหมู่บ้านสหกรณ์ เป็นพื้นที่แปลงละ 5, 6 และ 7 ได้รับน้ำจากระบบชลประทานเพื่ออุปโภคบริโภคและการเกษตร

เหตุผลในการจัดหมู่บ้านลักษณะรวมกันเป็นกลุ่ม

  1. เพื่อประหยัดต่อการทำถนนเข้าสู่หมู่บ้าน
  2. เพื่อประหยัดต่อการต่อไฟฟ้าเข้าสู่หมู่บ้าน
  3. เพื่อประหยัดต่อการต่อท่อน้ำเข้าสู่หมู่บ้าน
  4. เพื่อสวัสดิภาพของสมาชิกในการป้องกันโจรกรรมและอาชญากรรม โดยมี ทส.ปช. (ไทยอาสาป้องกันชาติ) จัดเวรตรวจตราหมู่บ้าน

5. การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานสหกรณ์ในโครงการ

          กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ร่วมมือกับ สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด ดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งาน โครงการพัฒนาชนบทตามพระราชประสงค์แห่งแรก งานการจัดหมู่บ้านสหกรณ์ตัวอย่าง งานและภารกิจของ กรมส่งเสริมสหกรณ์ แก่ผู้เข้าเยี่ยมชมกิจการโครงการกว่าปีละ 25,000 คน ประกอบด้วย นักเรียน นิสิต นักศึกษา สถาบันของพลเรือน ตำรวจ ทหารทุกเหล่าทัพ แขกของรัฐบาล ราษฎร สมาชิกสหกรณ์ ชาวต่างประเทศและผู้สนใจทุกสาขาอาชีพตลอดจนจัดนิทรรศการเผยแพร่งานโครงการนอกสถานที่ เฉลี่ยปีละ 5 งาน ได้แก่ งานศิลปาชีพบางไทร งานสวนหลวง ร.9 งานวันเกษตรแห่งชาติ งานกาชาด งานราชทัณฑ์ เป็นต้น

6. การส่งเสริมสหกรณ์ในโครงการพระราชประสงค์

          หลังจากได้จดทะเบียนเป็นสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2514 สหกรณ์ได้รับ เกษตรกรชาวสวนผักชะอำ จำนวน 82 ครอบครัว และเกษตรกรทำประโยชน์อยู่ในพื้นที่หุบกะพง 46 ครอบครัว รวมเป็น 128 ครอบครัว เข้าเป็นสมาชิกสหกรณ์และให้ใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อทำการเกษตร ครอบครัวละ 25 ไร่ ในปัจจุบันสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด มีสมาชิกทั้งสิ้น 401 คน (ครอบครัว) เมื่อสิ้นปีทางบัญชี 30 มิถุนายน 2538 สหกรณ์มีทุนดำเนินงานทั้งสิ้น 7.3 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นทุนของ สหกรณ์เอง 3.5 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 47.9 เมื่อเปรียบเทียบกับทุนดำเนินงานในปี 2515 ซึ่งเป็น ปีแรกที่สหกรณ์เริ่มดำเนินธุรกิจให้บริการสมาชิกจำนวน 0.3 ล้านบาท ปรากฏว่าทุนดำเนินงานของสหกรณ์ ได้เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 12.5 ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2515-2538

          นอกจากนี้สหกรณ์ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเงินที่เป็น ค่าทดแทนที่ดินในพระปรมาภิไธย เพื่อให้ดำเนินการในรูปแบบของกองทุนโดยใช้ชื่อ "กองทุนพระราชทาน สำหรับพัฒนาสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด" เป็นจำนวนเงิน 7,554,885 บาท

          สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด ได้ดำเนินธุรกิจแบบอเนกประสงค์ให้บริการสมาชิกแบบครบวงจร ประกอบด้วยธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจรับฝากเงิน ธุรกิจการซื้อ ธุรกิจการขาย และธุรกิจบริการ เมื่อสิ้นปีทางบัญชี ๓๐ มิถุนายน ๒๕๓๘ สหกรณ์ได้ดำเนินธุรกิจเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 16.9 ล้านบาท แยกเป็น

  1. ธุรกิจสินเชื่อ สหกรณ์ได้จ่ายเงินกู้ยืมแก่สมาชิกเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้านการเกษตรและ การอุปโภคบริโภคในครอบครัวเป็นมูลค่า 3.1 ล้านบาท
  2. ธุรกิจรับฝากเงิน สหกรณ์สนับสนุนการระดมทุนของสมาชิกโดยรับฝากเงินทั้งในรูปของการฝากออมทรัพย์ ฝากประจำ และฝากออมทรัพย์ในรูปของสัจจะออมทรัพย์ คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 4.2 ล้านบาท
  3. ธุรกิจการซื้อหรือจัดหาสินค้ามาจำหน่าย สินค้าที่สหกรณ์จัดหามาจำหน่ายสมาชิกได้แก่ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช วัสดุจักสาน ข้าวสาร น้ำมัน และสินค้าทั่วไปคิดเป็นมูลค่า 4.0 ล้านบาท
  4. ธุรกิจการขายหรือการรวบรวมผลิตผล ผลิตผลที่สหกรณ์ได้รวบรวมจากสมาชิก และนำออกจำหน่าย สู่ตลาด ได้แก่ มะเขือเทศ หน่อไม้ฝรั่ง ถั่วเขียว ผลิตภัณฑ์จักสาน และเมล็ดปอมีมูลค่าทั้งสิ้น 5.1 ล้านบาท
  5. ธุรกิจบริการสหกรณ์ได้ดำเนินธุรกิจให้บริการสมาชิกด้านบริการรถบรรทุกน้ำและบริการรถไถ เป็นมูลค่า 0.5 ล้านบาท
  6. จากการดำเนินการทั้ง 5 ประเภทข้างต้น หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว สหกรณ์มีกำไรสุทธิประจำปี 0.8 ล้านบาท

ที่มา: http://web.ku.ac.th/king72/2526/phet.htm

ผลการดำเนินการ    

          ดำเนินภารกิจหลัก ได้แก่ การจัดที่ดินตามพระราชประสงค์, การขออนุญาตสร้างบ้าน, การขออนุญาตออกเลขที่บ้าน , การแก้ไขกรณีพิพาทและการตรวจสอบสิทธิการครอบครองที่ดินจัดหาระบบ ชลประทาน และการจัดสรรการใช้น้ำ มีสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 2 สถานี คือ สถานที่ 1 จำนวน 3  เครื่อง สถานที่ 2 จำนวน 2 เครื่อง ระบบท่อชลประทานความยาว 40 กิโลเมตร  เป็นระบบท่อใยหิน เอส เบน ทอส ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง  12  นิ้ว , 10  นิ้ว, 8  นิ้ว , 6  นิ้ว และ 4 นิ้ว  และอ่างเก็บน้ำในความรับผิดชอบของชลประทาน จำนวน 4 อ่าง  คือ อ่างเก็บน้ำหุบกะพง ความจุ 400,000 ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำห้วยทราย- หุบกะพง ความจุ 800,000  ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำห้วยแก้ว ความจุ 320,000 ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำหมาก ความจุ  15,000  ลบ.ม. สาธิตและทดลองการเกษตร  เผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานสหกรณ์ในโครงการ และส่งเสริมสหกรณ์ในโครงการ ซึ่งปัจจุบันในปี  2548  ได้มีการจัดแบ่งแปลงที่ดินให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่แล้ว จำนวน  7,608  ไร่

Subject

โครงการพระราชดำริ
หุบกะพง
การจัดสรรค์ที่ดิน
สหกรณ์
การเกษตร

Coverage

เพชรบุรี, ชะอำ
ละติจูด 12.8022142
ลองติจูด 99.9059955

Date

07/04/2564

Type

text

Language

Tha

Relation

  • เกศริน จ่าราช. (2530). เจตคติของเกษตรกรที่มีต่อเจ้าหน้าที่ส่งเสริม การเกษตรสหกรณ์ การเกษตรหุบกะพง จำกัด. เพชรบุรี : บัณฑิตวิทยาลัยครูเพชรบุรี.
  • ภาสันต์ นุพาสันต์. (2549). โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง : หนังสืออ่านประกอบการรเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคม ศาสนาและวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์.
  • สุธาทิพย์ สัจจมาศ. (2551). แนวทางในการขยายตลาดผลิตภัณฑ์ป่านศรนารายณ์ของสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด. เพชรบุรี : สาขาวิชาการจัดการทั่วไป มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี.
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี. (2554). หนังสืออ่านประกอบชุดในหลวงกับจังหวัดเพชรบุรี: ในหลวงกับอาชีพ โครงการพระราชประสงค์หุบกะพง. เพชรบุรี : เพรชภูมิการพิมพ์.
  • ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง สำนักงานสหกรณ์จังหวัดเพชรบุรี. http://cttc.cpd.go.th/hubkapong/index.php
  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. สรรพศิลปศาสตราธิราช. https://web.ku.ac.th/king72/2526/phet.htm 
  • สำนักงาน กปร. http://km.rdpb.go.th

Rights

สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นหน่วยงานทางการศึกษาไม่แสวงหาผลกำไร - ใช้สำหรับการศึกษาเท่านั้น

Geolocation