โครงการพัฒนาห้วยแม่เพรียงตามพระราชดำริ

huaymarpreang-01.jpg
huaymarpreang-02.jpg
huaymarpreang-map-01.jpg

Title

โครงการพัฒนาห้วยแม่เพรียงตามพระราชดำริ

Creator

ทวี นวมนิ่ม

Description

     โครงการพัฒนาห้วยแม่เพรียง ตามพระราชดำริ เป็นโครงการดำเนินการจัดสรรที่ดินทำกิจและอยู่อาศัยให้กับราษฎร พัฒนาส่งเสริมความรู้ด้านการประกอบอาชีพ เพื่อป้องกันการบุกรุกทำลายป่า และจัดตั้งเป็นหมู่บ้านป้องกันตนเองชายแดนไทย-พม่า

      โครงการพัฒนาห้วยแม่เพรียงตามพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 15,604 ไร่ เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ  โดยเมื่อวันที่  29  พฤษภาคม  2522  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรตำบลแก่งกระจานได้ทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร  ตลอดทั้งการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร จึงมีพระราชดำรัสให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี และผู้บังคับกองร้อยฝึกรบพิเศษที่ 1 แก่งกระจานร่วมกันจัดทำโครงการพัฒนากับส่วนราชการต่าง ๆ โดยทรงรับไว้เป็นโครงการตามพระราชดำริในขั้นแรกทำการรวบรวมกลุ่มราษฎรที่กระจัดกระจายให้มาอยู่รวมกันพร้อมมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลรักษาป่า โดยจัดทำโครงการให้ราษฎรมีส่วนในการพัฒนาตนเองสามารถพึ่งตนเองได้ และใช้งบประมาณอย่างประหยัด แต่ได้ผลตอบแทนสูงสุด และทรงมีรับสั่งให้กระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดทำโครงการนี้ จึงก่อให้เกิด “โครงการพัฒนาห้วยแม่เพรียงตามพระราชดำริ” 

พระราชดำริ

      “การพัฒนาจะต้องเป็นไปตามภูมิประเทศของภูมิศาสตร์ และภูมิประเทศทางสังคมศาสตร์ในสังคมวิทยา ภูมิประเทศทางสังคมวิทยา คือ นิสัยใจคอของคนเรา จะไปบังคับให้คนอื่นคิดอย่างอื่นไม่ได้ แต่ถ้ารา เข้าไปแล้ว เราเข้าไปดูว่าเขาต้องการอะไร จริง ๆ แล้วก็อธิบายให้เขาเข้าใจหลักการของการพัฒนานี้ ก็จะเกิด ประโยชน์อย่างยิ่ง...”

      แนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงยึดเป็นหลักสำคัญในการดำเนินงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ย่อมแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญและการเอาพระทัยใส่ในความเป็นอยู่ของราษฎรเป็นอย่างดี ซึ่งแนวพระราชดำรินี้ ได้พัฒนาพื้นที่ต่างๆ ประสบความสำเร็จมาแล้วมากมายและหนึ่งในหลายพื้นที่นั้นก็มีโครงการพัฒนาห้วยแม่เพรียงตามพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี รวมอยู่ด้วย


      โครงการพัฒนาห้วยแม่เพรียงตามพระราชดำริ ได้กำเนิดขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเยี่ยมราษฎรที่ตำบลแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เมื่อ 29 พฤษภาคม 2522 ได้ทรงทราบปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร ตลอดทั้งการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า อันเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร จึงได้พระราชทานพระราชดำรัสให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี และผู้บังคับกองฝึกรบพิเศษที่ 1 ในขณะนั้น จัดทำโครงการพัฒนาร่วมกับส่วนราชการอื่น โดยพระองค์ทรงรับไว้เป็นโครงการในพระราชดำริ ได้ทำการรวบรวมกลุ่มราษฎรที่กระจัดกระจายมาอยู่รวมกันพร้อมมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลรักษาป่า และจัดโครงการให้ราษฎรได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเอง โดยใช้วัสดุในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด


      พร้อมกันนี้พระองค์ได้ทรงให้ข้อคิดเกี่ยวกับเทคนิคในการสร้างระบบส่งน้ำ, การปลูกป่าชุมชน, การปลูกป่าทดแทน, การใช้แรงงาน, การพัฒนาจิตใจ, การสหกรณ์ และการปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมือง จากกระแสพระราชดำรัสของพระองค์ฯ จึงก่อให้เกิด “โครงการพัฒนาห้วยแม่เพรียงตามพระราชดำริ” ขึ้น กองพลพัฒนาที่ 1 เข้ารับผิดชอบการดำเนินงานโครงการ ต่อจากกองร้อยฝึกรบพิเศษที่ 1 ในการจัดกำลังเข้าปฏิบัติงานตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2541 ทั้งนี้เป็นไปตามแนวทางการปฏิบัติในการส่งมอบงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของ ทภ.1 เพื่อปฏิบัติตามนโยบายการถอนหน่วยกำลังรบ ออกจากงานการพัฒนาประเทศ โดยให้กองพลพัฒนาที่ 1 เข้าปฏิบัติงานแทน

ความเป็นมา

      โครงการพัฒนาห้วยแม่เพรียงตามพระราชดำรินี้ เกิดขึ้นหลังจากค่ายฝึกการรบพิเศษแก่งกระจาน หรือกองร้อยฝึกรบพิเศษที่ 1 ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ ณ อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ก่อสร้างเสร็จแล้วและบรรจุกำลังพลเข้าปฏิบัติหน้าที่เรียบร้อย ตั้งแต่ พ.ศ. 2519 กองทัพภาคที่ 1 ก็ได้มอบให้ทางค่ายฯ ดำเนินการฝึกหลักสูตรการรบพิเศษ ส่งผลทำให้ค่ายฝึกรบพิเศษแก่งกระจาน จำเป็นต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ เพราะหน่วยที่เข้ารับการฝึกอบรมต้องมีความปลอดภัยพอสมควร ขณะเดียวกันก็ใช้ประโยชน์ในการหาข่าวและระวังป้องกันที่ตั้งหน่วยให้ปลอดภัยจากผู้ก่อการร้าย ดังนั้นในการจัดทำการฝึกจึงกำหนดให้ตรวจสอบพื้นที่โดยรอบใน รัศมี 50-100 กิโลเมตร ซึ่งจากปฏิบัติการดังกล่าว ทำให้ทางค่ายพบการบุกรุกพื้นที่เขตป่าสงวนและการตัดไม้ทำลายป่าอีกต่อไป โดยกำหนดขอบเขตตามสภาพพื้นที่เป็นจริงในขณะนั้น พร้อมกับเตรียมการจัดสรรที่ดินให้เป็นที่ทำกินของราษฎร อย่างถูกต้อง เพื่อประโยชน์ในการควบคุมและตรวจสอบทั้งด้านการปกครอง พื้นที่เป็นจริงในขณะนั้น พร้อมกับเตรียมการจัดสรรที่ดินให้เป็นที่ทำกินของราษฎรอย่างถูกต้อง เพื่อประโยชน์ในการควบคุมและตรวจสอบทั้งด้านการปกครองสังคม การเมือง และอื่นๆ “พื้นที่บริเวณต้นน้ำเหนือเขื่อนกักเก็บน้ำแก่งกระจาน สภาพป่าไม้ส่วนใหญ่ยังดีอยู่ แต่จะถูกทำลายเพิ่มมากขึ้น เพราะมีสัมปทานให้บริษัทนำ ไม้ออก และมีราษฎรเข้าไปบุกเบิกพื้นที่ทำกินเพิ่มขึ้น การนำไม้ออกนั้นในทางปฏิบัติจะไม่เป็นไปตามทฤษฎีที่จะยังคงรักษาสภาพพื้นที่ป่าไว้ได้ ดังนั้นในการให้สัมปทานนำไม้ออก ควรพิจารณาพื้นที่แยกเป็นบริเวณลุ่มน้ำของแต่ละลำน้ำโดยละเอียดและรอบคอบ เพื่อพิจารณาสัมปทานให้แต่ละบริเวณ ส่วนการแก้ไขปัญหาเรื่องราษฎรเข้าไปบุกเบิกพื้นที่ป่าเพื่อเป็นที่ทำกินนั้น ควรดำเนินการให้เปลี่ยนจากการที่ราษฎรบุกรุกเข้าไปทำลายพื้นที่ป่าโดยไม่มี การควบคุม ให้เป็นการจัดสรรที่ดินในพื้นที่ป่า ให้ราษฎรเข้าทำกินโดยมีการควบคุมคือให้พิจารณาพื้นที่ป่าในลุ่มน้ำของลำห้วยต่างๆ เลือกบริเวณที่ค่อนข้างราบ เนื้อดินเหมาะแก่การเพาะปลูก และมีแหล่งน้ำที่จะทำการชลประทานได้ ซึ่งเหมาะที่จะเปิดเป็นพื้นที่เพาะปลูกจัดสรรให้ราษฎรได้เข้าทำกิน และจัดพื้นที่ป่าติดต่อกันบริเวณเชิงเขาให้เป็นป่าใช้สอยปลูกไม้โตเร็ว เพื่อให้ราษฎรมีไม้ใช้ทำฟืนและประโยชน์อื่น ๆ

        ส่วนพื้นที่บนไหล่เขาขึ้นไปให้รักษาไว้เป็นป่าต้นน้ำลำธาร อบรมราษฎรที่จัดให้เข้าทำกินในพื้นที่จัดสรร ให้รักและหวงแหนป่าไม้ต้นน้ำ ให้ร่วมกันคุ้มครองรักษาไม่ให้ผู้อื่นมาทำลาย จัดให้ราษฎรในพื้นที่ดินจัดสรรร่วมกันตั้งเป็นสหกรณ์ต่อไป อาจมอบหมายให้หลาย ๆ สหกรณ์ร่วมกันเป็นผู้รับสัมปทานการทำไม้ ออกของป่าบริเวณนั้นก็ได้ เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริดังกล่าว หน่วยงานต่าง ๆ จึงจัดตั้งโครงการขึ้น ที่ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยในระยะแรกใช้ชื่อโครงการว่า  “โครงการหมู่บ้านสหกรณ์ค่ายฝึกรบพิเศษแก่งกระจานอุปถัมภ์(ห้วยแม่เพรียง)” ต่อมาจึงได้ เปลี่ยนชื่อเป็น “โครงการพัฒนาห้วยแม่เพรียงตามพระราชดำริ” เพื่อความเหมาะสม

วัตถุประสงค์              

  1. เพื่อพัฒนาจิตใจของราษฎร ให้มีความรู้ความเข้าใจถึงการปกครองบ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
  2. เพื่อพัฒนาความรู้ทางด้านวิชาการเทคนิคการเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ในการประกอบอาชีพภายในครัวเรือน และมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าปัจจุบัน
  3. ให้ราษฎรมีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง หยุดการตัดไม้ทำลายป่าอันเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร
  4. พัฒนาที่ดินทำกินแหล่งน้ำ สิ่งสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ที่จำเป็นแก่การดำรงชีพ

พื้นที่ดำเนินการ          

      โครงการพัฒนาห้วยแม่เพรียงตามพระราชดำริ เนื้อที่ประมาณ 15,604 ไร่ เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ อยู่ในตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน โดยมีหมู่บ้านเป้าหมาย ดังนี้

  • หมู่บ้านหลัก 3 หมู่บ้าน  ได้แก่  บ้านหนองน้ำดำ, บ้านด่านโง, บ้านห้วยไผ่
  • หมู่บ้านรอง 3 หมู่บ้าน  ได้แก่  บ้านบางกลอย, บ้านโป่งลึก, บ้านพุไทร

หน่วยงานรับผิดชอบ    

  • กองพลพัฒนาที่ 1 ค่ายศรีสุริยวงศ์  ตำบลดอนตะโก  อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี
  • กองร้อยฝึกรบพิเศษที่ 1
  • จังหวัดเพชรบุรี

ผลการดำเนินการ

      กองพลพัฒนาที่ ๑ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับมอบภารกิจอันสำคัญยิ่งในการเข้าไปดำเนินการจัดทำโครงการพัฒนาห้วยแม่เพรียงฯ ให้สำเร็จเป็นไปตามวัตถุประสงค์  ปัจจุบันกองพลพัฒนาที่ ๑ ได้จัดกำลังพลออกปฏิบัติงานเป็นชุดปฏิบัติการ มีที่ตั้งหน่วย ณ บ้านหนองน้ำดำ หมู่ ๖ ตำบลห้วยแม่เพรียง  อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี  ทำหน้าที่ในการประสานงานกับส่วนราชการต่างๆ ในพื้นที่ให้ดำเนินการตามแผนดำเนินงาน ๓ ด้าน ประกอบด้วย

  1. ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นงานที่มุ่งเน้นเพื่อยกระดับและสร้างมาตรฐานความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่ให้ดีขึ้น  ได้แก่ จัดสรรที่ดินทำกินให้ราษฎรที่ผ่านการพิจารณาจัดสรรฯ และมอบหลักฐานสำคัญในการครอบครองที่ดินแปลเกษตรแล้ว  จำนวน  91  ราย (จากเดิม 306 ราย)  โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน การประสานงานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง  ได้แก่  ศูนย์วิจัยและทดสอบพันธุ์สัตว์น้ำจังหวัดเพชรบุรี , สนับสนุนพันธุ์ปลาและพันธุ์กุ้งก้ามกราม อย่างละ 500,000 ตัว แจกจ่ายให้ราษฎรปีละ 2 ครั้ง เพื่อนำมาปล่อยในอ่าง  เก็บน้ำในหมู่บ้านร่วมกับผู้นำท้องถิ่น ,ราษฎร ,กศน. ,อำเภอแก่งกระจาน และพัฒนาที่ดินจังหวัดเพชรบุรี จัดตั้งกลุ่มอาชีพ จำนวน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มจัดทำดอกไม้จันทน์ ,กลุ่มจักสานไผ่ ,กลุ่มกองทุนปุ๋ยชีวภาพ และสำรวจพื้นที่เพื่อขุดลอกแหล่งน้ำให้กับราษฎรตามโครงการปรับปรุงและพัฒนาแหล่งน้ำตามนโยบายรัฐบาลที่ดำเนินการ โดยกองทัพบก บริเวณบ้านด่านโง  ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน ซึ่งได้ดำเนินการขุดลอกอ่างเก็บน้ำให้กับหมู่บ้านในพื้นที่โครงการ จำนวน 11 อ่าง เสร็จเรียบร้อยแล้ว
  2. ด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานและส่วนราชการในพื้นที่ในการอบรมความรู้แก่ราษฎรในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ จำนวน 3 โครงการ มีผู้เข้ารับการอบรม รวม 180 คน .ออกสำรวจพื้นที่โครงการและเขตติดต่ออุทยานแห่งชาติ เพื่อป้องปราบการ บุกรุกพื้นที่การตัดไม้ และล่าสัตว์ จำนวน 300 ครั้ง ไม่พบการกระทำ, การออกพบปะเยี่ยมเยียนราษฎรเพื่อปลูกจิตสำนึกให้รักและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จำนวน 16 ครั้ง และร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เจ้าหน้าที่ป่าไม้และผู้นำหมู่บ้าน 3 หมู่บ้าน ในพื้นที่โครงการฯ ทำการตรวจสอบแนวเขตพื้นที่โครงการฯ ที่ติดต่อกับเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยการจับพิกัดด้วยระบบ G.P.S
  3. งานด้านความมั่นคง  ได้ดำเนินกิจกรรมเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ ด้วยการลงนามถวายพระพรและจุดเทียนชัยถวายพระพร, ร่วมกับบริษัทแปซิฟิก อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด จัดทำสารคดีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจ  พระอัจฉริยะภาพและพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวฯ โดยออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 , ร่วมกับหน่วยงาน  และส่วนราชการในการอบรมให้ความรู้แก่ราษฎรในการเสริมสร้างความมั่นคงชายแดน การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด จำนวน 4 โครงการ มีผู้เข้ารับการอบรม รวม 350 คน,เข้าร่วมการประชุมความมั่นคงประจำเดือนกับหัวหน้าส่วนราชการ/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ณ ศาลาประชาคม อำเภอแก่งกระจาน จำนวน 4  ครั้ง และร่วมประชุมกับผู้นำ  และราษฎรในพื้นที่โครงการฯ จำนวน 16 ครั้ง และรณรงค์การจัดทะเบียนหมู่บ้านปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ รวมทั้งจัดกิจกรรมโครงการครู ทหารสานวินัย และพระมหากษัตริย์ รวมถึงการฝึกระเบียบวินัยในชั้นต้น

ความสำเร็จของโครงการ

       ปัจจุบันโครงการต่างๆ ได้ช่วยให้ราษฎรได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปกครองบ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตลอดจนได้รับความรู้ด้านวิชาการทางเทคนิค การเกษตรสมัยใหม่จนสามารถช่วยเหลือตนเองภายในครอบครัวได้ และช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังทำให้มีที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินเป็นหลักแหล่ง อีกทั้งมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้อันเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร รวมทั้งสัตว์ป่ามากยิ่งขึ้น อันนำไปสู่การหยุดการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ส่งผลให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิที่ดีขึ้น มีสุขภาพอนามัยสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ มีความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน และจะเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อการเสริมสร้างความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนตะวันตก            

        นอกจากการได้รับการส่งเสริมด้านอาชีพจนประสบความสำเร็จ เกิดเป็นการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งของราษฎรแล้ว พื้นที่ตั้งของโครงการยังมีทัศนียภาพที่งดงาม ซึ่งหากได้รับการส่งเสริมทางด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยงเชิงเกษตร ซึ่งราษฎรแถบนี้มีทรัพยากรที่พร้อมเพียงอยู่แล้ว น่าจะส่งผลดีต่อการเพิ่มรายได้ให้กับราษฎรในพื้นที่โครงการฯ ได้อีกทางหนึ่ง

  1. ราษฎรมีความรักความสามัคคี
  2. ราษฎรมีความรู้ในเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทางการเกษตร สามารถนำไปประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม และในครัวเรือนได้
  3. ลดปัญหาการบุกรุกทำลายป่า
  4. ราษฎรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มุ่งเน้นให้ความสำคัญแก่การพัฒนาคน ระบบงาน กระบวนการทำงาน ตลอดจนการเรียนรู้ การศึกษาอบรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากโครงการอันเนื่องจากพระราชดำริต่างๆ ที่เริ่มตั้งแต่พัฒนาคนเป็นประการแรก เพราะเมื่อคนมีความกินดีอยู่ดี ย่อมสามารถใช้สติปัญญา เพื่อสร้างตนเองและสังคม เมื่อประชาชนสามารถพึ่งตนเองได้แล้ว ย่อมสามารถเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนตลอดไป

Subject

โครงการพระราชดำริ
ห้วยแม่เพรียง
เกษตรกรรม
พัฒนาที่ดิน
อนุรักษ์ป่าไม้
การปกครองระบอบประชาธิปไตย

Coverage

เพชรบุรี
แก่งกระจาน

Publisher

สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

Date

8 มี.ค. 2565

Type

Website

Language

tha

Relation

รายการอ้างอิง 

  • สมบูรณ์ แก่นตะเคียนและคณะ.  (2543).  เอกสารเกี่ยวเนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับจังหวัดเพชรบุรี.  กรุงเทพฯ : นานาสิ่งพิมพ์.
  • สำนักงาน กปร.. (2553). โครงการห้วยแม่เพรียงตามพระราชดำริจังหวัดเพชบุรี. สืบค้น 4 ต.ค. 2564. จาก http://www.rdpb.go.th/rdpb/visit3/20-50project/50project_28_1.html#
  • จังหวัดเพชรบุรี.  (ม.ป.ป.).  โครงการในพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี.  สืบค้น 10 ตุลาคม 2560, จาก http://www.phetchaburi.go.th/data/kingproject.htm

วิดีโอที่เกี่ยวข้อง

  • Thattanawan Tubnaim. (2561). โครงการพัฒนาห้วยแม่เพรียงตามพระราชดำริ. สืบค้น 7 ม.ค. 2564 จาก https://www.youtube.com/watch?v=0I45UVLEYgo
  • อัญชลี ห้วยหงษ์ทอง. (2564). EP 1 โครงการพัฒนาห้วยแม่เพรียงในพระราชดำริ. สืบค้น 7 ม.ค. 2564 จาก https://www.youtube.com/watch?v=2Oo9-n-Twvg 
  • สมเกียรติ คิ้วสุนทรเนตร. (2555). โครงการห้วยแม่เพรียง. สืบค้น 7 ม.ค. 2564 จาก https://www.youtube.com/watch?v=p-EajRqYuB8
  • KBO Project. (2564). กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปน้ำพริกห้วยแม่เพรียง (ในโครงการพระราชดำริ) Ep.2. สืบค้น 7 ม.ค. 2564 จาก https://www.youtube.com/watch?v=Tll1iykyHME

Rights

สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เป็นหน่วยงานทางการศึกษาไม่แสวงหาผลกำไร - ใช้สำหรับการศึกษา ค้นคว้า วิจัย

Geolocation