วงปี่พาทย์ จังหวัดเพชรบุรี

3.jpg
2.jpg

Title

วงปี่พาทย์ จังหวัดเพชรบุรี

Creator

ทวี นวมนิ่ม

Contributor

ปิยวรรณ คุสินธุ์, สัญญา ธีรเดชอุปถัมภ์

Description

        จากสถานการณ์ปัจจุบันการหาคณะปี่พาทย์ไปแสดงตามงานลดน้อยลง อาจสืบเนื่องมาจากเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี ปัญหาโควิด-19 ตลอดจนเจ้าภาพงานลดการแสดงปี่พาทย์แบบแสดงสด เป็นใช้เครื่องเสียงแทน แต่หลายคณะเชื่อมั่นว่าคณะปี่พาทย์ยังไม่สูญสลายแน่นอน เพราะปี่พาทย์แต่ละคณะต้องมีทีมงานหลายคน ลูกทีมสามารถสลับปรับเปลี่ยนกันไปช่วยงานคณะอื่นได้ หรือเรียกว่างานลงแขก ช่วยกันให้เด็กและลูกทีมมีงานทำ แต่ก็ต้องยอมรับว่าสถานการณ์และยุคสมัยเปลี่ยนไป มีอุปกรณ์เทคโนโลยี เครื่องเสียงเข้ามามีบทบาทร่วม แต่ก็เพียง ๔๐-๕๐ % ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดบางครั้งก็ใช้เครื่องดนตรีปี่พาทย์ไปประยุกต์ขับร้องกับเพลงลูกทุ่ง ก็มีส่วนช่วยให้เครื่องดนตรีและคณะปี่พาทย์ไม่มีวันสูญหายไป  โดยส่วนใหญ่จะใช้เล่นในงานศพเป็นประเพณีสำคัญในวงจรชีวิตของทุกวัฒนธรรมกล่าวได้ว่ากรณีวัฒนธรรมไทยงานศพไทยมีปี่พาทย์เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญยิ่งในวัฒนธรรมงานศพยุครัตนโกสินทร์ เมื่อดนตรีได้รับการปรับปรุงให้มีเพลงประกอบสำหรับงานศพ งานศพคนไทยจึงมีดนตรีบรรเลงกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมงานศพที่ได้รับความนิยมเเพร่หลายมาจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะงานศพที่มี    ปี่พาทย์ถือว่าเป็นศพผู้ดีในอดีต

       การบรรเลงเพลงของวงดนตรีปี่พาทย์ส่วนใหญ่จะเล่นในงานศพ เพลงที่บรรเลงจึงเป็นเพลงที่ค่อนข้างเศร้า โดยเฉพาะในคืนแรกของงานและวันเผา ในวันอื่นจะเล่นเพลงเศร้าบ้าง สนุกบ้าง เดิมวงปี่พาทย์เป็นเครื่องดนตรีประจำของชาวรามัญอย่างหนึ่ง ซึ่งบรรเลงในกรณีต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นงานมงคลและงานอวมงคล  แม้งานฉลองที่ใหญ่โตก็ใช้ปี่พาทย์บรรเลงกัน  ซึ่งคนไทยในสมัยโบราณก็ถือเช่นนั้น  เช่น งานสมโภชพระแก้วมรกตในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่คนไทยในสมัยปัจจุบันยึดถือกันว่า ปี่พาทย์มอญใช้บรรเลงได้แต่งานศพเท่านั้นที่เป็นดังนี้ก็คงเป็นด้วยสมัยต่อมา ได้เห็นปี่พาทย์ออกบรรเลงแต่งานพระบรมศพ เมื่อออกพระเมรุ (ซึ่งปี่พาทย์ประโคมตลอดเวลา ) เพราะปี่พาทย์ไทย ซึ่งเป็นของหลวงบรรเลงเฉพาะเวลาทรงธรรม์เท่านั้น เมื่อเห็นดังนี้จึงค่อยเอาอย่างกันมา ต่อเมื่อมีงานศพท่านผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ก็จะหาปี่พาทย์มอญมาประโคมเป็นเกียรติ์ และยึดถือเป็นแบบแผนมาจนถึงทุกวันนี้  

       อีกประการหนึ่งคงจะเป็นด้วยเสียงเพลงของวงปี่พาทย์มอญมีความไพเราะเยือกเย็น ระคนเศร้า เหมาะกับงานศพเป็นอย่างยิ่ง และเครื่องดนตรีก็มีความสวยงาม แกะลวดลายลงรักปิดทอง กลมกลืนกับตู่พระธรรม์และเครื่องตั้งศพ ดังกล่าวปี่พาทย์มอญจึงเป็นวงดนตรีที่นิยมใช้ในเฉพาะงานศพ

       ขนบธรรมเนียมและความเชื่อในการบรรเลงของวงดนตรีปี่พาทย์มอญ นักดนตรีส่วนใหญ่ให้ความนับถือ เคารพกราบไหว้ครูอาจารย์ (ครูเทพฯและพ่อแก่) เป็นอย่างมาก เพราะเป็นอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้ ในการบรรเลงแต่ละครั้งจะต้องมีของบูชาและค่ากำนัลบูชาครูทุกครั้ง เพื่อเป็นมงคลต่อตนเองและคณะ พร้อมทั้งมีการไหว้ครู  เครื่องดนตรีและการประสมวงของวงดนตรีปี่พาทย์มอญ ประกอบด้วย ฆ้องมอญวงใหญ่และฆ้องมอญวงเล็ก ระนาดเอก ๑ ราง รางระนาดทุ้ม ๑ ราง ตะโพนมอญ ปี่มอญ เปิงมากคอก โหม่งชุด ฉิ่ง ฉาบเล็ก ฉาบใหญ่ เปิงมางคอก และเครื่องดนตรีในการบรรเลงปี่พาทย์ไทยประกอบบางช่วง ได้แก่ กลองสองหน้า กลองแขก ขลุ่ย โทน กรับ เป็นต้น

ประวัติความเป็นมาของปี่พาทย์

          จากหลักฐานและบันทึกเรื่องราวต่างๆ ทางประวัติศาสตร์นั้น ย่อมจะเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใดก็ตาม ล้วนแต่มีศิลปวัฒนธรรมที่ได้รับการสืบทอดมาแต่โบราณแทบทั้งสิ้น ศิลปวัฒนธรรมที่คนในสังคมหรือในชาตินั้นๆ ได้ร่วมกันสร้างสรรค์สืบทอดและพัฒนาสืบมาจากอดีตถึงปัจจุบัน ย่อมจะเป็นสิ่งที่แสดงถึงความรุ่งเรืองของชาตินั้นๆ อีกทั้งเป็นเครื่องยืนยันที่แสดงให้เห็นว่าชาติที่เจริญแล้ว ย่อมต้องมีศิลปวัฒนธรรมเป็นของตนเองด้วย

          มอญก็เป็นชาติหนึ่งที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านศิลปวัฒนธรรมมาตั้งแต่โบราณ อาจกล่าวได้ว่าในอดีตนั้น มอญเป็นชนชาติที่มีอารยธรรมและวัฒนธรรมเก่าแก่ที่สุดชาติหนึ่งในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายเพราะว่าในปัจจุบันนี้ มอญ ไม่มีประเทศหรือแม้แต่ดินแดนที่เป็นถิ่นที่อยู่ของตนเอง เนื่องจากต้องสูญเสียอิสรภาพให้แก่พม่า ซึ่งพม่าเองก็ได้เข้าครอบครองดินแดนที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยของชนชาติมอญอย่างเต็มที่ ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ชาวมอญต้องอพยพออกจากดินแดนของตนเอง เคลื่อนย้ายประชากรเข้ามาอาศัยอยู่ในแผ่นดินไทย ทั้งนี้เนื่องมาจากมอญและไทยมีดินแดนใกล้ชิดติดกัน ซึ่งตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้น พบว่าชนชาติมอญได้อพยพเข้าสู่ประเทศไทย ครั้งสำคัญๆหลายครั้ง

          มอญนั้นเป็นชนชาติที่เคร่งครัดในขนบธรรมเนียม ประเพณีของตนเองมากชาติหนึ่ง ตามประวัติศาสตร์ก็เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า มอญได้สูญเสียเอกราชไปเป็นเวลาหลายร้อยไปแล้ว แต่มอญก็ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษา ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมของตนไว้ได้ตลอดมาตราบเท่าทุกวันนี้ ซึ่งในปัจจุบัน ชาวมอญที่อยู่ในแผ่นดินไทย ก็ยังคงปฏิบัติขนบธรรมเนียมประเพณีเหล่านั้นอยู่เสมอ เป็นต้นว่า พิธีตรุษสงกรานต์ เล่นสะบ้า ทะแยมอญ ตลอดจนพิธีการอื่นๆ ตามลัทธิประเพณี เป็นต้น แม้บางสิ่งบางอย่างจะมีการแก้ไขปรับปรุงไปตามกาลเทศะหรือตามกระแสของสภาพแวดล้อมก็ตาม แต่สิ่งที่เป็นแก่นหรือหลักของวัฒนธรรมเหล่านั้น ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่อย่างเด่นชัด สิ่งนี้เองที่ทำให้มีผู้รู้จักชนชาติมอญอยู่เสมอมา ทั้งนี้ย่อมเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งชนชาติเป็นเครื่องแสดงความเป็นเชื้อชาติได้เป็นอย่างดี

          ศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของมอญ ซึ่งถือได้ว่ามีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับวิธีการดำเนินชีวิตของคนในสังคมไทย ก็คือปี่พาทย์มอญ ซึ่งเป็นรูปแบบของศิลปะประเภทหนึ่ง ซึ่งได้ผ่านการสร้างสรรค์ พัฒนา ตลอดจนสืบทอดโดยผ่านกระบวนการต่างๆ มาโดยลำดับจากอดีตสู่ปัจจุบัน จนเป็นวงปี่พาทย์ประเภทหนึ่ง ที่มีบทบาทและความสำคัญต่อวิชาการทางด้านดนตรีไทยเป็นอย่างมาก ฉะนั้น การศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ของวงปี่พาทย์มอญ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก

       จากการพิจารณาหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์ จะพบว่าชนชาติมอญเป็นชนชาติที่เก่าแก่ชนชาติหนึ่ง ที่เคยมีดินแดนที่อยู่อาศัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณตอนใต้ของประเทศพม่าหรือเมียนมาร์ในปัจจุบัน ชนชาติมอญเคยมีอำนาจปกครองดินแดนของประเทศพม่ามาก่อน โดยครั้งนั้นมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองหงสาวดี ซึ่งต่อมาชนชาติมอญก็ถูกชนชาติพม่ารุกราน และสูญเสียเอกราชให้แก่พม่าในที่สุด

       ชนชาติมอญ เป็นชนชาติที่มีอารยธรรมและวัฒนธรรมเก่าแก่ที่สุดชาติหนึ่งในบรรดาประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่องรอยทางอารยธรรมของมอญที่ยังปรากฏให้เห็นในปัจจุบันนี้ เช่น ภาษาพูด ภาษาเขียน การแต่งกาย ดนตรี นาฎศิลป์ ตลอดจนประเพณีอื่นๆ ของมอญ เป็นต้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของชนชาติอยู่ในอดีตได้เป็นอย่างดียิ่ง แม้ว่าในปัจจุบันนี้ ชนชาติมอญจะไม่มีประเทศหรือดินแดนที่เป็นถิ่นที่อยู่ของคนเชื้อชาติเดียวกัน แต่วัฒนธรรมประเพณีต่างๆ เหล่านี้ ย่อมเป็นเครื่องแสดงถึงความเป็นชาติมอญในอดีตที่ให้ชาวโลกและคนไทยได้รู้จักกันเป็นอย่างดี ที่สำคัญก็คือวัฒนธรรมและประเพณีต่างๆ ของชนชาติ ยังปรากฏให้เห็นในแผ่นดินไทยจนถึงทุกวันนี้ เช่น ทะแยมอญ มอญรำ ปี่พาทย์มอญ เป็นต้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้รับการสืบทอดและพัฒนาสืบมาจากอดีตถึงปัจจุบัน นับได้ว่าชนชาติมอญได้ร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นมรดกอันสำคัญทางวัฒนธรรมไว้ด้วย

       ปี่พาทย์มอญ ที่ปรากฏอยู่ในแผ่นดินไทยนี้ ไม่มีหลักฐานในทางลายลักษณ์อักษรหรือหลักฐานทางโบราณคดีที่เป็นเครื่องพิสูจน์ได้อย่างแน่ชัดว่าสิ่งที่เป็นเครื่องดนตรีหรือบทเพลงต่างๆ ของชนชาติมอญที่สืบทอดต่อกันมาและได้ปรากฏออกมาในรูปแบบของปี่พาทย์มอญนั้น ได้เข้ามาสู่ประเทศไทยในสมัยใด

          จากเอกสารของอาจารย์มนตรี ตราโมท ราชบัณฑิต ได้กล่าวไว้ว่า วงปี่พาทย์ที่มีในเมืองไทยนี้ เข้าใจว่าพึ่งมีขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนี้ เพราะในสมัยสุโขทัย มอญก็ไม่ค่อยได้เกี่ยวข้องกับไทยนัก การที่มอญจะนำวงปี่พาทย์หรือเครื่องบันเทิงใดๆ เข้ามาได้ ก็จะต้องเป็นสมัยที่พากันเข้ามามากๆ เป็นครอบครัว พิจารณาตามพงศาวดารก็เห็นมีอยู่ไม่กี่คราว เช่น สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกวาดต้อนครอบครัวมอญอันมีพระยาราม พระยาเกียรติ เป็นหัวหน้าควบคุมเข้ามา ส่วนวงปี่พาทย์ของมอญก็คงจะมีมาแล้ว และสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน

ส่วนของจังหวัด “เพชรบุรี” ยังไม่มีหลักฐานการสืบทอดที่ชัดเจน จากหลักฐานในเอกสารของณรงค์ฤทธิ์  คงปิ่น ได้กล่าวว่า จากประวัติความเปนมาที่ยาวนานเจริญรุงเรืองสืบมาจนถึงปจจุบันมีพระมหากษัตริย์หลายพระองค์จึงทรงโปรด เสด็จฯ ประพาสและประทับแรมตั้งแต่ครั้งอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยูหัว รัชกาลที่ ๔ พระองค์ทรงมีรับสั่งให้มีการสร้างพระราชวังบนเขามหาสมณะขึ้น ปจจุบันรู้จักกันในชื่อของพระนครคีรีหรือเขาวัง นอกจากความเป็นมาทางประวัติศาสตรที่สัมพันธกันแล้วจังหวัดเพชรบุรียังเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีการสั่งสมทางศิลปวัฒนธรรมมาอย่างช้านาน

          จังหวัดเพชรบุรียังเป็นเมืองแหงศิลปะการดนตรีที่สําคัญอีกดวย เมื่อกลาวถึงความสําคัญทางดานวัฒนธรรมดนตรี การสืบทอดวงดนตรีไทยในจังหวัดเพชรบุรีเปนการสืบทอดจากภูมิปญญาของครูดนตรีไทยจาก   รุนสูรุน ศิลปนผู้ถ่ายทอดจึงเป็นผู้ที่มีบทบาทสําคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางดนตรีไทยให้แก่ศิษย์ การเรียนการสอนของครูดนตรีไทยตามทองถิ่นต่างๆ นั้น คือ ครูเตือน  พาทยกุล ซึ่งเป็นบุคคลของดนตรีไทยในอดีตและเป็นรากแก้วที่สําคัญของในการสืบทอดวัฒนธรรมดนตรีไทยที่มีความสำคัญของจังหวัดเพชรบุรีคนหนึ่ง ตลอดจนเป็นภูมิปัญญาของครูดนตรีไทยในสมัยก่อนทั้งสิ้นหากแตจะกลาวกันโดยตรงแล้ว การถ่ายทอดในสมัยก่อนจะขึ้นอยู่กับครูผูถ่ายทอดว่าจะถ่ายทอดความรู้ให้อย่างไรและผลสัมฤทธิ์ในตัวศิษย์แต่ละคนที่ได้รับนั้นก็ไม่เท่ากัน โดยจะขึ้นอยูกับสติปัญญาและความสามารถของแต่ละคน แม้แต่การถ่ายทอดกลเม็ดและเทคนิคที่ครูมอบให้ก็แตกต่างกันด้วย ความแตกต่างจากองค์ความรู้ในศิษย์แต่ละคนที่ได้ จึงทําใหเกิดความหลากหลายและเป็นเอกลักษณที่สําคัญอย่างหนึ่งของดนตรีไทยในจังหวัดเพชรบุรีที่ปรากฎ

ประเภทของวงปี่พาทย์ 

วงปี่พาทย์  มีทั้งหมด 7 ประเภท ดังนี้

  • วงปี่พาทย์ชาตรี เครื่องดนตรีที่ใช้ในวงดนตรีได้แก่ โทนชาตรีกลองชาตรีฆ้องคู่ฉิ่งกรับและปี่นอก   โอกาสที่ใช้ในการบรรเลง ใช้บรรเลงประกอบการแสดงหนังตะลุงและโนราชาตรี บทเพลงที่บรรเลงในวงดนตรีบทเพลงประกอบการแสดงโนราชาตรี
  • วงปี่พาทย์ไม้แเข็ง เป็นวงดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดงต่าง ๆ  เช่น โขน ลิเก ละคร ฯลฯ นอกจากนี้ ยังนิยมบรรเลงในงานมงคล เช่น งานทำบุญเลี้ยงพระหรือในศาสนพิธี และในโอกาสที่บรรเลงสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ วงปี่พาทย์ไม้แข็งใช้บรรเลงในงานไหว้ครูดนตรีไทย
  • วงปี่พาทย์เสภา เป็นวงดนตรีไทยชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๒  ในยุคแรกจะมีผู้ขับเสภาเป็นเรื่องราวต่างๆ พร้อมกับขยับกรับให้สอดประสานกับบทจนจบเรื่อง ต่อมาได้มีดนตรีเข้ามาบรรเลงประกอบ แต่จะบรรเลงเฉพาะช่วงที่แสดงอารมณ์ต่างๆ ของตัวละคร ภายหลังได้นำบทเสภาบางตอนมาร้องส่งและให้วงปี่พาทย์รับ ในยุคต่อๆ มา การขยับกรับเสภาที่เป็นเรื่องเป็นราวจึงค่อยๆ หายไป คงเหลือแต่การนำบทเสภามาร้องส่งและให้วงปี่พาทย์รับ  คล้ายกับวงปี่พาทย์ไม้แข็ง เพียงแต่เอาตะโพนกับกลองทัดออกและใช้กลองสองหน้าเป็นตัวกำกับหน้าทับแทน
  • วงปี่พาทย์ไม้นวม มีลักษณะการประสมวงคล้ายกับวงปี่พาทย์ไม้แข็ง แต่มีเสียงที่นุ่มนวลกว่า และใช้ไม้นวมตีระนาดเอก จึงได้ชื่อว่า ปี่พาทย์ไม้นวม มีการตัดเครื่องดนตรีที่มีเสียงดังมากออกไป และนำเครื่องดนตรีชิ้นอื่นเข้ามาแทน นิยมบรรเลงประกอบการแสดงละคร บรรเลงในงานมงคลทั่วไป
  • วงปี่พาทย์นางหงส์ เครื่องดนตรีที่ใช้ในวงดนตรี เครื่องดนตรีที่นำ มาใช้ประกอบด้วยปี่ชวา ๑ เลา กลองมลายู ๑ คู่ โดยตัดปี่ในออกและใช้ปี่ชวาแทน ใช้กลองมลายูแทนตะโพนและกลองทัด เครื่องดนตรีที่ใช้ได้แก่ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก กลองมลายูฉิ่ง ฉาบเล็กระนาดเอกเหล็กระนาดทุ้มเหล็กโหม่งและปี่ชวา  โอกาสที่ใช้บรรเลง ใช้บรรเลงในงานศพ  บทเพลงที่บรรเลงในวงดนตรีบรรเลงเพลงนางหงส์
  • วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ เป็นวงดนตรีไทยที่ปรับปรุงขึ้นเพื่อใช้บรรเลงประกอบการแสดงละครดึกดำบรรพ์ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงค์ ลักษณะของเสียงดนตรีที่บรรเลงโดยวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ จะมีเสียงค่อนข้างทุ้ม-ต่ำ เพราะใช้เครื่องดนตรีที่มีเสียงต่ำเป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันหาดู หาฟัง ได้ยาก เนื่องจากไม่ค่อยนิยมบรรเลง นอกจากจะเป็นโอกาสพิเศษจริงๆ  เท่านั้น
วงปี่พาทย์มอญ มีลักษณะการประสมวงคล้ายวงปี่พาทย์ไม้แข็ง แต่เครื่องดนตรีส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมของมอญ ซึ่งไทยได้รับเอาแบบอย่างมา และปัจจุบันนิยมบรรเลงเฉพาะในงานศพเท่านั้น

ลักษณะการแสดง

บทบาทหน้าที่ของเครื่องดนตรีแต่ละประเภท

  1. ปี่มอญ ปี่มอญเป็นเครื่องดนตรีที่ทำหน้าที่ดำเนินทำนองชิ้นหนึ่งในวงปี่พาทย์มอญ วิธีการดำเนินทำนอง โดยส่วนใหญ่แล้วปี่มอญจะเป่าโดยดำเนินทำนองต่าง ๆ โหยหวนเป็นเสียงยาวทำหน้าที่เชื่อมโยงเครื่องดนตรีในวงให้เกิดความสนิทสนมกลมกลืนกันบทบาทหน้าที่ของปี่มอญค่อนข้างจะแตกต่างจากปี่ใน เนื่องจากปี่ในจะเป่าโหยหวนเป็นเสียงยาวแล้ว ในบางครั้งก็จะเป่าโดยดำเนินทำนองถี่คล้ายระนาดเอก ซึ่งปี่ในจะทำหน้าที่ช่วยนำวงด้วย แต่ปี่มอญนั้นไม่นิยมเป่าเก็บทำนองถี่เหมือนปี่ใน ทั้งนี้เนื่องมาจากปี่มอญมีกังวานเสียงยาวเหมาะสำหรับเป่าทำนองห่าง ๆ โดยใช้เสียงยาวในการดำเนินทำนอง ซึ่งเสียงของปี่มอญจะให้อารมณ์นุ่มนวลเชิงโศกเศร้า สิ่งนี้ถือว่าเป็น Character ที่สำคัญของปี่มอญถ้าเปรียบเทียบศักยภาพของปี่มอญกับปี่ในนั้น จะพบว่า มีความแตกต่างกัน ปี่ในนั้นมีขีดความสามารถในการเป่าเสียงร้องได้ดี สามารถเป่าเลียนเสียงร้องได้ใกล้เคียงมากกว่าปี่มอญ แต่ถ้าเป็นการเป่าคลอเสียงร้องที่มีเสียงยาวปี่มอญจะสามารถทำได้ดีกว่า มีความกลมกลืนมากกว่า อย่างเช่น มอญร้องไห้ เป็นต้น สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงจุดเด่นของเครื่องดนตรีที่มีความแตกต่างกันเนื่องจากเสียงของปี่มอญให้อารมณ์ และความรู้สึกออกไปทางโศกเศร้า วังเวง ซึ่งเป็นความรู้สึกในเชิงลบ ฉะนั้นความเชื่อและค่านิยมของไทยจึงสร้างกรอบให้ปี่มอญเป็นเครื่องดนตรีตัวแทนของงานอวมงคล
  2. ฆ้องมอญวงใหญ่ เป็นเครื่องดนตรีที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของปี่พาทย์มอญ นอกจากจะทำหน้าที่เป็นหลักของวง โดยดำเนินทำนองหลักของเพลงมอญแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นประธานของวงปี่พาทย์มอญด้วยสังเกตจากบทบาท และหน้าที่ในการขึ้นต้นเพลงของฆ้องวงใหญ่
  3. ตะโพนมอญ เป็นเครื่องดนตรีที่ทำหน้าที่ควบคุมจังหวะหน้าทับในวงปี่พาทย์มอญ
  4. เปิงมางคอก เป็นเครื่องดนตรีที่ทำหน้าที่ควบคุมจังหวะหน้าทับควบคู่กับตะโพนมอญ ตะโพนมอญและเปิงมางคอก นับเป็นเครื่องดนตรีที่มีบทบาท และหน้าที่สำคัญในวงปี่พาทย์มอญ นอกจากจะทำหน้าที่ควบคุมจังหวะหน้าทับแล้ว ยังเป็นเครื่องวัดสัดส่วน หรือประโยคของเพลง ซึ่งในกลุ่มนี้จะเป็นเพลงที่มีหน้าทับตะโพนมอญควบคุมจังหวะหน้าทับโดยเฉพาะ เช่น หน้าทับประจำวัดหน้าทับประจำบ้าน หน้าทับเพลงมอญร่ำ (ย่ำเที่ยง) หน้าทับย่ำค่ำ เป็นต้น คู่บรรเลงจะต้องยึดจังหวะหน้าทับหรือตะโพนมอญไว้เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าผู้บรรเลงตะโพนมอญบรรเลงหน้าทับขาดหรือเกินก็จะทำให้คร่อม หรือขัดกับทำนองเพลงเช่นเดียวกันถ้าผู้บรรเลงเครื่องดำเนินทำนองบรรเลงไม่ตรงกับหน้าทับตะโพนมอญก็ถือว่าบรรเลงผิด ซึ่งอาจเกิดจากการบรรเลงขาดหรือเกินส่วนเพลงที่อยู่ในกลุ่มเพลงมอญูสองชั้น และเพลงเร็วนั้น หน้าทับตะโพนมิได้กำหนดแน่นอนตายตัวเหมือนกับเพลงในกลุ่มที่ได้กล่าวข้างต้นวิธีการบรรเลงตะโพนมอญและ เปิงมางคอก คงยึดหลักการบรรเลงให้มีการสอดประสาน มีความสอดคล้องและกลมกลืนซึ่งกันและกัน
  5. ระนาดเอก บทบาทหน้าที่ของระนาดเอกในวงปี่พาทย์มอญ มีลักษณะเช่นเดียวกับการบรรเลงใน วงปี่พาทย์ คือ เป็นผู้นำวงดำเนินทำนอง เก็บ” หรืแปรทำนองจากทำนองหลักเป็นทำนองเฉพาะของระนาดเอก แต่วิธีการดำเนินทำนองในวงปี่พาทย์มอญ มีลักษณะสำคัญประการหนึ่งคือ จะต้องประดิษฐ์ หรือแปรทำนองให้มีทำนองหลักของฆ้องมอญมากที่สุด
  6. ระนาดทุ้ม ฆ้องวงเล็ก ระนาดเอกเหล็ก ระนาดทุ้มเหล็ก เครื่องดนตรีทั้ง 4 ชนิดนี้ เป็นเครื่องดนตรีที่ได้เพิ่มเข้ามาในวงปี่พาทย์มอญในสมัยหลังต่อมา กล่าวคือ เพิ่มระนาดทุ้ม และฆ้องวงเล็กพัฒนาเป็นวงปี่พาทย์เครื่องคู่เพิ่มระนาดเอกเหล็ก เเละระนาดทุ้มเหล็ก พัฒนาเป็นวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่การเพิ่มเติมเครื่องดนตรีเข้าไปในวงปี่พาทย์มอญ จนมีการพัฒนารูปแบบวงดนตรีเป็นเครื่องคู่” และ “เครื่องใหญ่” นั้น อนุโลมตามแบบแผน และหลักการประสมวงเครื่องดนตรีในวงปี่พาทย์ของไทย เพราะฉะนั้น บทบาทหน้าที่ในการบรรเลงของเครื่องดนตรีแต่ละชนิดคงยึดหลักและวิธีการบรรเลงตามแบบแผนของไทย แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการดำเนินทำนอง หรือการแปรทำนองนั้นก็คงยึดหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับระนาดเอก คือ การดำเนินทำนองนั้นจะต้องมีลักษณะใกล้เคียงกับทำนองหลักของฆ้องมอญให้มากที่สุด ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาเอกลักษณ์ของเพลงมอญ
  7. โหม่ง 3 ลูก เดิม 1 ใบ ตีลงที่จังหวะหนัก จัดเป็นเครื่องดนตรีประเภทกำกับจังหวะประเภทหนึ่ง นิยมใช้โหม่ง 3 ลูก โดยให้มีเสียงสูง ต่ำ เรียงกัน 3 เสียง ปรากฏเป็นเสียงดังนี้ลูกที่ 1 เสียง โม้งลูกที่ 2 เสียง มงลูกที่ 3 เสียง โหม่ง (เสียงหมุ่ย หรือเสียงหุ่ย) ในการบรรเลงกำกับจังหวะในเพลงมอญ จะทำหน้าที่ควบคุมจังหวะใหญ่ ซึ่งบรรเลงพร้อมกับเสียงฉับ ซึ่งเป็นจังหวะหลักของฉิ่ง
  8. ฉาบใหญ่ ฉาบใหญ่ถือเป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในวงปี่พาทย์มอญ ซึ่งมีบทบาทและหน้าที่ในการบรรเลงต่างไปจากบรรเลงในวงปี่พาทย์ประเภทต่าง ๆ กล่าวคือ ใน วงปี่พาทย์อื่นๆ ฉาบใหญ่จะดำเนินจังหวะลงจังหวะใหญ่ หรือจังหวะหนัก ดังนี้

 --- ฉิ่ง --- ฉับ --- ฉิ่ง --- ฉับ

---- --- แช่ ---- --- แช่ (แทนเสียงฉาบใหญ่) 

ส่วนในวงปี่พาทย์มอญนั้น ลักษณะการดำเนินจังหวะจะแตกต่างกัน คือ ไม่เน้น หรือบรรเลงลงที่จังหวะหนัก แต่กลับลงที่จังหวะย่อยแทน (จังหวะยก) หมายความว่า เสียงหนักของฉาบใหญ่จะบรรเลงพร้อมเสียงฉิ่ง ส่วนตรงฉับนั้นเป็นเสียงเบา

ฉิ่ง กรับ ฉาบเล็ก เครื่องประกอบจังหวะนี้ยึดหลัก และวิธีการบรรเลงเหมือนกับการบรรเลงในวงดนตรีอื่น ๆ ซึ่งต่างก็มีบทบาทและหน้าที่คล้ายคลึงกัน ทั้งนี้คำนึงถึงความสอดคล้องกลมกลืนกันกับทำนองเพลงสำคัญ

วิธีการบรรเลง

  1. ลักษณะการขึ้นต้นของบทเพลง เพลงเชิญนั้นมีการขึ้นต้นบทเพลงที่มีแบบเฉพาะตัว คือ นำประโยคแรกของบทเพลงมาเป็นทำนองต้น โดยใช้เครื่องดนตรี คือ ฆ้องมอญวงใหญ่บรรเลงขึ้นต้นเพลงโดยเริ่มต้นด้วยเสียงเร ตีเป็นคู่แปดเป็นเสียงขึ้นทำนอง แล้วตีสะบัด 2 เสียง ต่อจากนั้นตีเป็นคู่ 11 และกลับมาเสียงเรอีกครั้ง แล้วจึงตีทำนองด้วยการกรอเป็นทำนองยาว ๆ ดำเนินทำนองเพลงต่อไป ดังตัวอย่างของการขึ้นต้นเพลงเชิญ
  2. ลักษณะการลงจบของเพลง เพลงเชิญมีลักษณะการลงจบที่เป็นแบบเฉพาะเช่นกัน คือ ลงจบด้วยลูกหมดมอญ ซึ่งมีลักษณะทำนองการจบแบบค่อย ๆ ตัดท่อนทำนองให้เหลือน้อยลงจนหมด และทำนองลูกหมดมอญนั้น เริ่มต้นด้วยทำนองจากจังหวะที่ช้าแล้วค่อยๆ เร็วขึ้นไปเรื่อย ๆ จนเร็วที่สุดจึงจบลงด้วยการกรอของโน้ตเสียงสุดท้ายของเพลงเชิญ คือ เสียงโด ดังตัวอย่างของ การจบลงด้วยลูกหมดมอญของเพลงเชิญ
  3. จังหวะหน้าทับ เพลงเชิญเป็นเพลงที่มีสำเนียงมอญ ดังนั้นจึงต้องใช้ตะโพนมอญ และเปิงมางคอกเป็นเครื่องประกอบจังหวะหน้าทับ โดยใช้หน้าทับมอญของเดิม ซึ่งใช้ประกอบจังหวะทั้งในอัตราจังหวะสองชั้นและชั้นเดียวสำหรับหน้าทับตะโพนมอญ และเปิงมางคอกในเพลงเชิญของวงดนตรี
  4. มือเฉพาะทางฆ้อง ทางฆ้องมอญถือเป็นทางเฉพาะของแต่ละวงแต่ละที่ ซึ่งอาจแตกต่างกันไป แม้แต่วงปี่พาทย์มอญในจังหวัดปทุมธานี แต่ละวงจะมีทางฆ้องมอญที่เป็นมือเฉพาะเช่นกัน ทางฆ้องมอญที่ถือเป็นมือเฉพาะของวงดนตรีเจริญในเพลงเชิญนั้น จากการสัมภาษณ์ และการบันทึกแถบเสียงฆ้องมอญจากพันจ่าอากาศเอกวีระ ดนตรีเจริญ ท่านได้ตีฆ้องมอญของเพลงเชิญด้วยกัน 17 มือ ถือเป็นทางฆ้องมอญที่เป็นลักษณะเฉพาะของวงดนตรีเจริญ

       การบรรเลงแต่ละครั้งใช้เวลา ๑ ชั่วโมง ถึง ๗ วัน (แล้วแต่ความต้องการของเจ้าภาพ)

       นักดนตรีในการแสดงแต่ละครั้งมีตั้งแต่ ๑๐ คนขึ้นไป

       ในการแสดงแต่ละครั้งต้องจัดเตรียม เครื่องดนตรี นักดนตรี 

       สถานที่แสดงส่วนใหญ่จะเป็นตามวัดต่างๆ ในจังหวัดและต่างจังหวัดที่เป็นบ้านของเจ้าภาพหรือที่เจ้าภาพต้องการให้ไปแสดง

เพลงที่นิยมใช้ในการบรรเลง

          สำหรับ เพลงที่นิยมใช้ในการบรรเลงใน  งานมงคลสมรส   ส่วนใหญ่จะนิยมบรรเลงเพลง ที่มีชื่อเป็นมงคล หรือมีเนื้อร้องไปในทางความรักตามความเชื่อของคนไทยหรือ เพลงที่มีอัตราจังหวะ  2 ชั้น ซึ่งเป็นเพลงที่มีจังหวะกลางๆ ไม่ช้า หรือเร็วจนเกินไป นอกจากนี้เพลงที่ขาดไม่ได้ในงานมงคลสมรส ได้แก่ เพลงตับวิวาห์   พระสมุทร สองชั้น ซึ่งประกอบด้วยเพลงคลื่นกระทบฝั่ง  เพลงบังใบ  และ  เพลงแขกสาหร่าย  นอกจากนี้เพลงบรรเลงอื่นๆ ที่ใช้เป็น ได้แก่ เพลงอ๊ะเชิญ เพลงปละตอ เพลงกะบ๊ะชาน เพลงเกมทอ เพลงกะวัวตอย เพลงป๊อดขะนอม เพลงฮะย่าน เพลงท๊ะปัวแกว่ว เพลงฮะว่าย เพลงนางหงส์ เพลงเถา เพลงตับ เพลงเรื่อง เพลงรำ เชิญพม่ากลาง พม่าเล็ก พม่าใหญ่ ย่ำเที่ยง ย่ำค่ำ มอญอ้อยอิ่ง มอญรำดาบ สุดสงวน นางครวญ แขกมอญ แขกต่อยหม้อ แขกมอญบางขุนพรหม สาวถอดแหวน พม่าเห่ และเพลงมอญเฉพาะทางของตน

       การแต่งกายของนักดนตรีจะใส่เสื้อผ้าที่เป็นสีดำหรือสีขาวสุภาพหรือเป็นชุดของทีมงาน เนื่องจากบรรเลงในงานศพ  ในบางงานเป็นงานที่ใช้เครื่องปี่พาทย์มอญแต่เป็นงานแสดงประกอบลิเก หรืองานมงคลก็จะแต่งตัวทีมีสีสันให้เหมาะสมกับงาน

       กระบวนการสืบทอดและการถ่ายทอดโดยการรับศิษย์เข้าเรียนในคณะเป็นวิธีหนึ่งในการสืบทอด โดยการไหว้ครูซึ่งต้องมีพิธีรับศิษย์ คือ มีดอกไม้ ธูป เทียน เงิน ๖ และ ๑๒ บาท ผ้าขาว ๑ ผืน ขันน้ำ ๑ ลูก แล้วครูจับมือและถ่ายทอดเพลงให้ หรือไม่มีการรับศิษย์ ส่วนลูกหลานแล้วแต่ความสมัครใจ เป็นการถ่ายทอดแบบครอบครัวหรือพ่อสอนลูก ไม่มีพิธี แต่จะสอนตามที่ตนได้เรียนมา หรือการสอนต่อเพลงต่างๆโดยตรง จะมีการไหว้ครูกับคณะเมื่อถึงวันไหว้ครู การฝึกซ้อมเป็นอีกวิธีหนึ่งในการถ่ายทอด เป็นการฝึกซ้อมด้วยเพลงที่ใครยังไม่ได้จะต่อเพลงให้ เป็นการสืบทอดโดยตรงแบบไม่มีพิธี

       การรับงานมีการรับงานครั้งละ ๓,๐๐๐ บาท ถึง ๕๐,๐๐๐ บาท (แล้วแต่ความต้องการของเจ้าภาพ) และจะเพิ่มขึ้นตามวงฆ้องที่กำหนด วงละประมาณ ๑,๐๐๐ บาท

รายชื่อผู้สืบทอดวงปี่พาทย์

ผู้สืบทอดวงปี่พาทย์ในจังหวัดเพชรบุรี  ปัจจุบันมีประมาณ 80 วง (ข้อมูลนี้มีเพียงบางส่วนเท่านั้น) ได้แก่

 

รายชื่อวงปี่พาทย์

หัวหน้าคณะ/ผู้ควบคุม/กลุ่ม/สมาคม/ชุมชน

1. วงปี่พาทย์คณะครูวินัย  อยู่ยั่งยืน

นายวินัย  อยู่ยั่งยืน

2. วงปี่พาทย์คณะ ส.สร้อยทอง

นายสํารอง ทองมา

3. วงปี่พาทย์คณะ ส.แสงทอง

นายสด แสงทอง

4. วงปี่พาทย์คณะ ส.พิทักษศิลป์

นายธวัช รัตนพิทักษ์

5. วงปี่พาทย์คณะ ส.บรรเลง

นายสันทัด ผาดศรี

6. วงปี่พาทย์คณะศิษย์ ส. สร้อยทอง

นายสุนทร ดนตรี

7. วงปี่พาทย์คณะ ส.สมบูรณ์ศิลป์

นายสมบูรณ์ ทองมา

8. วงปี่พาทย์คณะเชื้อรวมบรรเลง

นายเชื้อ นาเมือง

9. วงปี่พาทย์คณะแตรวง คณะ ส.สร้อยทอง

นายสุวิทย์ พุ่มพฤกษ์

10. วงปี่พาทย์คณะศรีวัชราภรณ์

นายสมพร จินดา

11. วงปี่พาทย์คณะศิษย์ศรทอง

นายเยื่อ  อุบลน้อย

12. วงปี่พาทย์คณะเฉลา  ลูกเพชร

นายเฉลา  ทัศนา

13. วงปี่พาทย์คณะศิษย์หลวงรามไพเราะ

นายผ่อง (หมู่บ้านหัวสะพาน)

14. วงปี่พาทย์คณะ ร.รักษ์ศิลป

นายตี๋ง (ถนนหน้าพระลาน)

15. วงปี่พาทย์คณะบุญนาคบรรเลงศิลป์

นางชวน  ขาวผ่อง

16. วงปี่พาทย์คณะศิษย์ทองหล่อ

นายสุธา  โหมดเขียว

17. วงปี่พาทย์คณะศิษย์สุพจน์

นายออด (บ้านกุ่ม)

18. วงปี่พาทย์คณะสัมฤทธิ์ศิษย์พ่อแก่

นายสัมฤทธิ์  เลิศอาวาส

19. วงปี่พาทย์คณะ ส.ประสงค์

นายสำรอง  อบแย้ม

20. วงปี่พาทย์คณะเพชรเสรี

นายประยูร  อินทรประสิทธิ์

21. วงปี่พาทย์คณะ ป.ศิลปิน

นายปิ่ม (หมู่บ้านยางหย่อง)

22. วงปี่พาทย์คณะอำพันบรรเลง

นายพวง (หมู่บ้านเขากระจิว)

23. วงปี่พาทย์คณะ ส.สมศักดิ์

นายประเสริฐ  ยิ้มรอด

24. วงปี่พาทย์คณะศิษย์รวมภิรมย์

นายบุญ  เพชรงาม

25. วงปี่พาทย์คณะเกตุคอย

คุณเล็ก  ไฝศิริ

26. วงปี่พาทย์คณะวรสิทธิ์รวมบรรเลง

คุณบุญเกื้อ  วรสิทธิ์

27. วงปี่พาทย์คณะนาฎดุริยางค์

นายเทิง (หมู่บ้านบางเค็ม)

28. วงปี่พาทย์คณะอำพันบรรเลง

นายชุบ (หมู่บ้านบางแก้ว)

29. วงปี่พาทย์คณะ น.ดุริยศิลป์

นายวินัย  ใจดี

30. วงปี่พาทย์คณะศิษย์ ส.สรอยทอง

นายอ้วน (ต.บ้านแหลม)

31. วงปี่พาทย์คณะ ส.เลิศศิลป์

นายสวน  (ต.ชะอำ)

32. วงปี่พาทย์คณะ ป. พิพัฒน์ภางามโฉม

นายพิพัฒน์ (หมู่บ้านหนองเผาถ่าน)

33. วงปี่พาทย์คณะเข็มทองลูกเพชร

นายชะเอม (หมู่บ้านหนองควง)

34. วงปี่พาทย์คณะลูกไข่กาฬวงศ์

นายไข่ (หมู่บ้านหนองควง)

เพลงออกภาษา

          เพลงออกภาษาหรือเพลงภาษา หมายถึง การบรรเลงเพลงในวงปี่พาทย์ โดยมีชื่อเพลงขึ้นต้นเป็นภาษาของชาติอื่น เช่น เพลงจีนขิมเล็ก เพลงเขมรพายเรือ เพลงมอญรำดาบ (รำดาบ) เพลงแขกต่อหม้อ เพลงพม่ารำขวาญ เพลงฝรั่งรำเท้า โดยนักดนตรีจะบรรเลงเลียนสำเนียงของเพลงในชาตินั้นๆ ซึ่งผู้ฟังสามารถสังเกตและเข้าใจเพลงภาษาได้จากสำเนียงเพลงและหน้าทับ ของกลองซึ่งเป็นเครื่องประกอบจังหวะ เช่น เพลงพม่าจะใช้กลองยาวตีประกอบ เพลงจีนจะใช้กลองและฉาบตีคล้ายๆกับการเชิดสิงห์โต เพลงแขกจะใช้กลองแขก หรือกลองมลายูประกอบเพลง เพลงฝรั่งก็จะใช้กลองมะริกันประกอบการบรรเลง ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ การฟังสำเนียงเพลงของแต่ละชาติแต่ละภาษา ซึ่งจะมีเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละชาติ

       เพลงออกภาษาหรือเพลงภาษาจะบรรเลงติดต่อกันไปหลาย ๆ ภาษา หรือที่เรียกว่า “ออกภาษา” หรือ ออกสิบสองภาษา ตามแบบแผนการบรรเลงเพลงออกภาษานิยมออก 4 ภาษาแรก คือ จีนน เขมร ตลุง พม่า แล้วจึงออกภาษาอื่น หรือนักดนตรีแต่ละวงจะมีความคิด ดัดแปลงเพลงตามสมัยนิยมเพื่อความสนุกสนานก็สามารถทำได้ วงดนตรีที่บรรเลงเพลงออกภาษา จะใช้วงปี่พาทย์มอญ วงปี่พาทย์ไม้แข็ง วงเครื่องสาย แต่เมื่อต้องออกภาษาก็จะใช้เครื่องประกอบจังหวะของแต่ละชาติมาบรรเลงร่วมเพื่อให้สำเนียงภาษาที่บรรเลงชัดเจนยิ่งขึ้น

       เพลงออกภาษาที่ใช้บรรเลงกันมาแต่เดิมจะใช้บรรเลงเฉพาะเครื่องดนตรีล้วน ๆ ไม่มีการขับร้อง แต่ปัจจุบันวงปี่พาทย์บางวง นักร้องที่มีความสามารถก็จะมีความคิดสร้างสรรค์ แต่เพลงโดยใช้ทำนองภาษาของแต่ละชาติ มาร้องประกอบเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินแก่ผู้ชมผู้ฟังก็ได้

       ในงานมีมหกรรมอาเซียนสัมพันธ์และการแสดงนานาชาติ ประทีปเพชรราชภัฏน้อมศรัทธานบรำลึกบูชา สมเด็จพระภัทรมหาราชนวมินทร์เทิดไท้มหาทศมินทร์สมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งที่ 10 ซึ่งจัดงานในวันที่  5 – 6 ธันวาคม 2563 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้รับความอนุเคราะห์จากครูวินัย อยู่ยั่งยืน จัดวงประชันเพลงออกภาษาสองวง มาบรรเลงโดยเน้นความบันเทิงสนุกสนานมีการร้องประกอบ ทางครูวินัย อยู่ยั่งยืน ได้กรุณาคัดเลือกนักดนตรีที่มีความสามารถของจังหวัดเพชรบุรีร่วมการแสดงในครั้งนี้ โดยเป็นวงปี่พาทย์ไม้แข็ง ประกอบด้วยเครื่องดนตรี คือ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ปี่ใน ปี่มอญ ปี่ชวา กลองตรี หรือกลองตุ๊ก กลองยาว กลองมะริกัน กลองแขก กลองจีน ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง ตะโพน

       ซึ่งการบรรเลงเพลงออกภาษาในครั้งนี้ นักดนตรีทุกคนตั้งใจฝึกซ้อม เพื่อบรรเลง เป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนารถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ์ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 

Subject

ปี่พาทย์มอญ
ดนตรีไทย
มโหรี
มหรศพ

Coverage

เพชรบุรี

Date

22/02/2564

Type

text

Language

tha

Relation

บรรณานุกรม

  • ณรงค์ฤทธิ์  คงปิ่น.  (2539).  การศึกษาวัฒนธรรมดนตรีของปี่พาทย์มอญ.  วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต  
  • ดุริยางคศิลป์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  • พิศาล บุญผูก. (2558). ปี่พาทย์มอญรำ.  นนทบุรี : สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช.
  • วินัย  อยู่ยั่งยืน, สัมภาษณ์ 23 พฤศจิกายน 2563.
  • สุคนธ์  แสนหมื่น, สัมภาษณ์ 23 พฤศจิกายน 2563.
  • ศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่น วัดภาคกลาง วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี. (2541). พิธีไหว้ครูดนตรีไทย 22 ตุลาคม 2541.  เพชรบุรี : ผู้แต่ง.

วีดีโอที่เกี่ยวข้อง

  • ข่าวเพชรบุรี 24 ชั่วโมง. (2563). วงปี่พาทย์เยาวชนดนตรีไทยจังหวัดเพชรบุรี. สืบค้น 23 ก.พ. 2564. จาก https://www.youtube.com/watch?v=ObMnVhJsBHI
  • ประทวน ภูนุช 0813850630 channel. (2563). ขยับตะโพนมอญนิ่มๆ เพราะๆ ปี่พาทย์ ช.ชื้นบรรเลง บ้านหัวดอน เมืองเพชรบุรี. สืบค้น 23 ก.พ. 2564. จาก https://www.youtube.com/watch?v=1wrD8Rt2L7g
  • ประทวน ภูนุช 0813850630 channel. (2563). เพลงศิลามณี (MonSilamanee) บรรเลงโดยปี่พาทย์ช.ชื้นบรรเลง เมืองเพชรบุรี. สืบค้น 23 ก.พ. 2564. จาก https://www.youtube.com/watch?v=6K2b9y6CnbQ
  • pratuan don the thaimusic. (2560). ปี่พาทย์ช.ชื้นบรรเลง บ้านหัวดอน เพชรบุรี. สืบค้น 23 ก.พ. 2564. จาก https://www.youtube.com/watch?v=bM37DDVMS0c
  • กอ.กัน. บรรเลงศิบป์. (2563). วงปี่พาทย์ลูกแม่ถนอม หัวดอน เพชรบุรี. สืบค้น 23 ก.พ. 2564. จาก https://www.youtube.com/watch?v=ibexkBDbtBA
  • ประทวน ภูนุช 0813850630 channel. (2564). กระต่ายเต้น ปี่พาทย์นาถวัฒน์ เพชรบุรี ระบบเสียง H.D. สืบค้น 23 ก.พ. 2564. จาก https://www.youtube.com/watch?v=gcgo5QmTwEw
  • ประทวน ภูนุช 0813850630 channel. (2564). มอญ มะละเเหม่ง ออก จิ๊กกี๋ ปี่พาทย์ บุญมา ท่ายาง เพชรบุรี ระบบเสียง H.D. สืบค้น 23 ก.พ. 2564. จาก https://www.youtube.com/watch?v=KSp-RvuybQY
  • arts lc. (2557). ปี่พาทย์มอญคณะเกตุคอย เพลงมอญจิ๊กกี๋.  สืบค้น 23 ก.พ. 2564. จาก https://www.youtube.com/watch?v=FNkitKV4tL8

Rights

สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นหน่วยงานทางการศึกษาไม่แสวงหาผลกำไร - ใช้สำหรับการศึกษาเท่านั้น