ผ้าไทยพวนเพชรบุรี

-12.jpg
-09.jpg
-13.jpg
-14.jpg
-15.jpg
-16.jpg
-18.jpg
DSC_9747.jpg
DSC_9751.jpg
Slide1.jpg
Slide2.jpg
fationThaipuan-15.jpg
03.jpg

Title

ผ้าไทยพวนเพชรบุรี

Creator

ทวี นวมนิ่ม

Contributor

ปิยวรรณ คุสินธุ์, สัญญา ธีรเดชอุปถัมภ์

Description

ผ้าของชาติพันธุ์พวนในจังหวัดเพชรบุรี เป็นการสร้างอัตลักษณ์เหม่อหรืออัตลักษณ์ใหม่ โดยกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ นำโดย คุณนลินรัตน์ คำปุ้ยธนันท์ธร กลุ่มไทยพวนบ้านมาบปลาเค้า อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ซึ่งถ่ายทอดและเผยแพร่ผ่านบทเพลง การแสดง และการแต่งกาย มิใช่ในฐานะผู้ใช้ หรือผู้สืบต่อ หรือผู้สืบทอดแบบเบ้าดั้งเดิม แต่ไทพวนเพชรบุรี คือ ผู้สร้าง พวกเขาสร้างอัตลักษณ์ไทยพวนเพชรบุรึขึ้นมาใหม่ และยังคงรากเหง้าของชาติพันธุ์ไทพวนดั้งเดิมไว้ ซึ่งอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์พวนในประเทศไทยโดยรวม มีอัตลักษณ์การทอผ้าใน 3 เทคนิค คือ มัดหมี่ แบบจกหรือแบบขิด และหม้อห้อมย้อมคราม ซึ่งผ้าไทพวนเพชรบุรีจะสืบแบบจกหรือแบบขิด ไม่สืบมัดหมี่ มีการนุ่งซิ่นให้เป็นซิ่น มีการพัฒนาต่อยอดลายผ้า อันเป็นอัตลักษณ์ของไทยพวนเพชรบุรี

ความเป็นมา

          ไทพวนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่มีบรรพบุรุษสืบเชื้อสายมาจากเมืองพวน ซึ่งมีถิ่นฐานเดิมอยู่แขวงเมืองเชียงขวางทางตอนเหนือของเมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ชาวพวนได้อพยพโยกย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานรกรากทำกินในประเทศไทยเมื่อราว 200 กว่าปีมาแล้ว ได้กระจายตัวไปอาศัยในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคของประเทศไทยซึ่งจะพบตามหัวเมืองต่างๆ คือ ลพบุรี สระบุรี นครนายก ปทุมธานี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สิงห์บุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี ราชบุรี พิจิตร แพร่ น่าน สุโขทัย อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ หนองคาย อุดรธานี นครสวรรค์ พิษณุโลก และเลย ซึ่งที่เพชรบุรีจะพบการตั้งถิ่นฐานของชาวไทยพวนอยู่ที่ตำบลหนองปลาไหล อำเภอเขาย้อย ตำบลมาบปลาเค้า อำเภอท่ายาง บ้านท่ามะเกลือ อำเภอบ้านลาด และที่บ้านดอนผิงแดด อำเภอบ้านแหลม

          ผ้าทอของชาวไทพวนถือเป็นมรดกภูมิปัญญาที่ชาวไทพวนสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ จากรุ่นสู่รุ่นมีเอกลักษณ์และลักษณะพิเศษเฉพาะตัว กล่าวคือ มีกรรมวิธีในการผลิตและวิธีการต่างๆ ที่ละเอียดอ่อน งดงามทั้งทางด้านการกำหนดลวดลาย สีสันที่โดดเด่นสะดุดตา ลวดลายต่างๆ ล้วนประณีตละเอียดอ่อน ทั้งกรรมวิธี การมัดหมี่ การควบเส้น การขิด การจก และการแต้มสี ล้วนเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์ของผ้าทอของชาวไทพวนอย่างแท้จริง ลวดลายบนผ้านุ่งที่ชาวไทพวนนุ่งนั้น ล้วนแฝงด้วยคติความเชื่อในจารีต ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของตนเองที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากรุ่นปู่ย่าตายายมาสู่รุ่นพ่อแม่และถึงรุ่นลูกหลานนานนับเวลาเกือบ 200 ปี 

          การแต่งกายของสตรีชาวไทพวนจะนิยมนุ่งผ้าซิ่นตีนจกต่อหัวต่อเอวคาดเข็มขัดเงิน สวมเสื้อคอกระเช้า ภาษาพวน เรียกว่า เสื้อคอกระทะหรือเสื้ออีเป้า ส่วนผู้ชายจะนุ่งโส้งขาก้อม สวมเสื้อย้อมคราม หากไปทำบุญที่วัดจะนุ่งเสื้อผ้าฝ้ายสีขาวมีผ้าพาดบ่า ซึ่งสตรีชาวไทพวนจะนิยมนุ่งผ้าที่ตนเองเป็นผู้ทอขึ้นไว้ใช้เอง มีลวดลายสีสันสวยงามเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มทอผ้าขิดของชาวไทพวนอำเภอบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งนิยมทอสิ่งถักทอประเภทของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ผ้าห่ม ผ้าสไบ ผ้าปรกหัวนาค ย่าม หมอนขิด ผ้าปรกหัวช้าง ตุง หรือธง

          ปัจจุบันการทอผ้าของชาวไทพวนในชุมชนต่างๆ กำลังเข้าสู่ขั้นวิกฤตมีความเสี่ยงต่อการสูญหายอันสืบเนื่องมากจากผู้สืบทอดในการทอผ้าในชุมชนเข้าสู่วัยสูงอายุและเลิกอาชีพการทอผ้านี้ไปประกอบกับวิทยาการสมัยใหม่และสิ่งถักทอรุ่นใหม่ที่ผลิตในระบบโรงงานเริ่มคืบคลานขยายตัวเข้ามาสู่ชุมชนซึ่งเข้ามาแทนที่ผ้าทอแบบดั้งเดิม อีกทั้งยังขาดระบบการจัดการและการจัดเก็บองค์ความรู้ที่ดี หน่วยงานของภาครัฐยังมิได้ให้ความช่วยสนับสนุนอย่างสม่ำเสมอและขาดการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง บางชุมชนได้เลิกวิธีการทอผ้าแบบดั้งเดิมหันไปใช้วิธีการทอผ้าแบบการยกตะกอลอยแทนกรรมวิธีแบบเก่าที่ได้รับสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ บางชุมชนเลิกการใช้เส้นฝ้ายจากธรรมชาติหันไปใช้ด้ายโรงงานแทนซึ่งเป็นการขาดความรู้ความเข้าใจในกระบวนการทอผ้าอันเป็นอัตลักษณ์ที่สำคัญของตนไป (สถาบันวัฒนธรรมศึกษา. 2556.)

          บรรพบุรุษของคนไทพวนที่มาบปลาเค้า จังหวัดเพชรบุรี เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เคยตั้งถิ่นฐานอยู่เมืองพวน เชียงขวาง ประเทศลาว แล้วถูกกวาดต้อนเข้ามาในไทยตั้งแต่ในสมัยกรุงธนบุรี  คนไทยพวนที่มาบปลาเค้า ยังเป็นชุมชนที่ยังรวมกลุ่มได้อย่างเหนียวแน่น อาจารย์อุทัย เล็กกี้ หนึ่งในคณะผู้ก่อตั้งและดูแลพิพิธภัณฑ์เล่าให้ฟังว่า สิ่งหนึ่งที่บ่งบอกความเป็นลูกหลานพวนที่นี่ คือ นามสกุล ที่มักจะขึ้นต้นได้ด้วยคำว่า "คำ" เช่น คำเนตร หรือ คำเกต  บ้านไทยพวน มาบปลาเค้า เริ่มเป็นที่รู้จักกว้างขึ้นก็เมื่อได้รับคัดเลือกให้เป็นชุมชนวัฒนธรรมนำร่องที่มีสภาวัฒนธรรมตำบลเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในอำเภอท่ายาง ซึ่งเป็นแรงจูงใจที่ทำให้เกิดการรื้อฟื้นและส่งเสริมประเพณีและกิจกรรมอื่น ๆ ตามมาในชุมชน อาทิ การก่อตั้ง "ศูนย์เยาวชนทอผ้าวัฒนธรรมไทยพวน"  การก่อตั้งโรงสีข้าวซ้อมมือภายในพื้นที่วัด กิจกรรมดังกล่าวกลายเป็นอีกสิ่งที่หนึ่งที่ไว้ "รับแขก" สำหรับคนที่สนใจเข้ามาชมหรือดูงาน (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. 2555.)

อัตลักษณ์ผ้าไทพวน

          คุณนลินรัตน์ คำปุ้ยธนันท์ธร สาวไทพวนบ้านมาบปลาเค้า อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า ผ้าของชาติพันธุ์พวนในจังหวัดเพชรบุรี เราต่อสู้กันมายาวนาน 20 กว่าปี ต้องบอกว่าผ้าไทพวนเพชรบุรีเป็นการสร้างอัตลักษณ์เหม่อหรืออัตลักษณ์ใหม่ อาจจะไม่มีความเป็นเบ้าดั้งเดิมเหมือนของอาจารย์ถนอม คงยิ้มละมัย ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไททรงดำ ขออนุญาตใช้คำของอาจารย์ทวีโรจน์ กล่ำกล่อมจิตต์ ท่านบอกว่าของแม่ถนอมคือ ผู้ใช้ ผู้สืบทอด ผู้สืบต่อ แต่ของไทพวนเพชรบุรี เราคือ ผู้สร้าง เราสร้างขึ้นมาใหม่ แต่ยังคงรากเหง้าของชาติพันธุ์ไทพวนดั้งเดิมไว้ ซึ่งอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์พวนในประเทศไทยโดยรวม มีอัตลักษณ์การทอผ้าใน 3 เทคนิค คือ 

  1. มัดหมี่ ตัวอย่างผ้ามัดหมี่ของไทพวนเชียงขวางตอนนี้อายุ 60 กว่าปี นี่คือซิ่นมัดหมี่ คือการมัดลายแล้วก็เอาไปทอ เหมือนกับทางภาคอีสาน อันนี้เป็นมัดหมี่เต็ม แล้วอันนี้ของไทยพวนเชียงขวางของไทยพวนซำเหนือ ในประเทศลาวไทยพวนไม่ได้มีอยู่แต่ที่เชียงขวางก็ยังมีที่ซำเหนือ ซำเหนือจะเป็นลายหมี่ขั้น ผ้าชาติพันธุ์ลาวจะต้องมีหัวซิ่น ตัวซิ่นและตีนซิ่น แบบที่อาจารย์ถนอมว่าถ้าเอาตีนซิ่นขึ้นเป็นการแอบแช่งแม่ผัว จะเป็นอัปมงคลกับชีวิตมากๆ ส่วนอันนี้เป็นซิ่นมัดหมี่ของหลวงพระบาง อันนี้ของเวียงจันทน์ โดยคุณแม่ของอนันดา เอฟวิ่งแฮม แก้วศิริ ให้มาเป็นของขวัญเพราะเราตัดชุดพวนเพชรบุรีไปให้ จากตัวอย่างจะสังเกตได้ว่ามีตีนจกข้างล่างและเป้นจกลายนาค ตัวอย่างอีกชิ้นหนึ่งเป็นของหลวงพระบาง ซิ่นหมี่ของหลวงพระบางตอนจกนะคะ และตัวอย่างอีกชิ้นเป็นของไทยพวนเมืองพุนก็มีหน้าเหมือนของเพชรบุรีเนี่ยเราสืบอันนี้คือหนึ่งอย่างก็คือมัดหมี่
  2. แบบจกหรือแบบขิด แบบจกที่ดังที่สุดในประเทศไทยคือ จกเมืองสุโขทัยเป็นเมืองผู้ดี เขาเรียกเมืองผู้ดี ก็คือคนสุโขทัย ส่วนเมืองพวนเมืองผู้ร้ายคือเพชรบุรี นี่คืออัตลักษณ์ของคนพวนมี 2 แบบที่ได้รับฉายาว่าเป็นผู้ฮ้าย เพราะพวนเพชรบุรีเป็นคนเมืองนักรบ บ่แม่นพวนเมืองสุโขทัยหรือพวนลพบุรี ที่ส่วนใหญ่เป็นเมืองทอผ้าเขาก็เลยเรียกว่าพวนผู้ดี อันนี้ก็คือลักษณะของการทอผ้าจก ตอนนี้ผ้าไทยพวนจังหวัดเพชรบุรีมีการพัฒนาขึ้นมาใหม่ เราได้มีการศึกษาแล้วว่าเราสืบเรื่องจก ไม่สืบเรื่องมัดหมี่ โดยไปดูที่จกสุโขทัย เราทำงานเราก็มีความรู้ทางด้านชาติพันธุ์ของเรา เราก็บอกว่าเราสืบเรื่องจก เพชรบุรีเราไม่นุ่งซิ่นหมี่  นุ่งจกทั้งตัว จกเต็มตัว
  3. หม้อห้อมย้อมคราม ที่คนคิดว่าเชียงใหม่เป็นผู้ผลิต จริง ๆ แล้วบ้านทุ่งโฮ่ง ชาวไทพวนจังหวัดแพร่ เป็นผู้ผลิตส่งขายที่เชียงใหม่ที่เป็นอัตลักษณ์ในการย้อมครามของคนแพร่ 

          ทั้งสามแบบนี้คืออัตลักษณ์ที่ชัดเจนของผ้าไทพวนในประเทศไทย ส่วนเรื่องการนุ่งห่ม คนพวนนั้นเป็นคนที่มีอารยธรรมสูง มีศิลปะและวัฒนธรรม แต่ก็เป็นคนที่มีการปรับตัวสูงมากกับการที่พลัดพรากจากถิ่นเดิมไปอยู่ในที่ต่างๆ ก็จะพยายามปรับตัวเพื่อให้อยู่อย่างสงบ ส่วนอันนี้คืออัตลักษณ์ในเรื่องของการแต่งกาย แต่จริงๆแล้วคนพวนเรา ที่เราสามารถตามหากันเจอได้ คือ ภาษา และอัตลักษณ์ทางโครงสร้างทางกายภาพ ผู้สาวพวน โครงสร้างจะสูงใหญ่ หน้าผากกว้าง คางมน ผิวขาวเหลือง เอวเล็ก ก้นใหญ่ อกใหญ่ เขาว่าเป็นแม่พันธุ์ชั้นดี ต้วอย่างคือ นลินรัตน์ คำปุ้ยธนันท์ธร ที่ได้รับการยอมรับจากมหาลัยมหิดลว่า เป็นผู้หญิงพวนที่มีอัตลักษณ์ชัดเจนที่สุดในประเทศไทย

การคงอยู่หรือการเปลี่ยนแปลงของผ้าไทพวน

          เป็นผู้สาวพวนต้องเฮ็ดได้ 3 เรื่อง คือ ปะพวนได้ จับเส้นเป็น นุ่งซิ่นเป็นและทอผ้าได้ เฮาครบแล้ว คือจับเส้นขนมจีนได้เคยไปเรียนมา 2 ปีก่อนบวชลูกชาย ต้องเข้าไปจับเส้นขนมจีนในวัด คือการเรียนรู้เพื่อให้ได้พวก ไม่งั้นเขาจะไม่มาช่วยเรา อีกอย่างคือสาวพวนต้องทอผ้าเป็น และนุ่งซิ่นเป็น คุณนลินรัตน์ ได้สาธิตการนุ่งซิ่นของไทยพวนให้ดูกันสด ๆ คือ การนุ่งซิ่นที่ถูกต้อง ดูที่ผ้าซิ่นก่อน จะต้องมีหัวซิ่น ตัวซิ่น และตีนซิ่น ลักษณะของผ้าซิ่นจะเป็นห่วงวงกลม ให้ม้วนเป็นลักษณะของห่วงแล้วสอดขาเข้าไปในห่วงทีละข้าง แล้วคลื่ผ้าลง นุ่งขึ้นมาเหนือสะดือ ประมาณ 1 ฝ่ามือ การนุ่งซิ่นให้เป็นซิ่นคือการป้ายผ้านุ่งไปขวาหรือไปซ้ายตามแต่ละบุคคลจะถนัด ไม่มีผิด ไม่มีถูก ถ้าจะผิดคือ การเอาตีนซิ่นขึ้นด้านบน ผ้าซิ่นที่มี 2 ตะเข็บ มีเทคนิคในการนุ่งซิ่นโดยซ่อนตะเข็บด้านหนึ่งไว้ โดยเวลานุ่งซิ่นให้ด้านตะเข็บด้านหนึ่งไว้ข้างขาด้านนอก ด้านซ้ายหรือขวาก็ได้ตามแต่ถนัด ใช้มืออีกข้างดึงผ้าซิ่นไปด้านหน้าให้ตึง และใช้มือด้านตะเข็บที่อยู่ข้างขาเอื้อมไปจับผ้าซิ่นตรงกลางระหว่างตะเข็บข้างขากับมือที่จับผ้าซิ่นไว้ด้านหน้าสุด แล้วพบเข้ามาหาดตัว โดยตะเข็บอีกด้านจะซ่อนไว้ข้างใน สันทบจะมีชายสอบอยุ่ข้างใน ให้ดึงออกมาเล็กน้อยแล้วจัดให้สวยงาม สามารถเดินเที่ยวห้างได้ แต่ถ้านุ่งแบบพร้อมใช้คือเมื่อพับแล้วเหน็บชายผ้านุ่งไว้ที่เอวด้านใดด้านหนึ่งได้เลย

          การเปลี่ยนแปลง ขณะนี้ผ้าไทยพวนเพชรบุรีกำลังจะไปอเมริกาแล้ว ไปกับราชภัฏมา คุณศรีวงศ์ อาญาสิทธิ์ เป็นสาวไทพวนบ้านหนองปลาไหล ชุดเราฝากเพื่อนไป คือคุณใหญ่ เดอะภูเขา เอาไปเดินอยู่ในงานที่ราชภัฏเอาไปแสดง ตอนนี้พี่ศรีวงศ์ Order ชุดไทพวนเพชรบุรีมา 25 ชุด เพื่อเอาไปให้นางงามที่จะประกวดในงานประจำปีของเขา Miss Thai New Year โดยชุดไทพวนเพชรบุรีก็ถูกเลือก เพื่อเอาไปใช้เป็นชุดอัตลักษณ์ของสมาคมสตรีไทยในแอลเอ ต้องขอเสียงปรบมือให้พี่ศรีวงศ์สาวไทพวนจากจังหวัดเพชรบุรี บ้านหนองปลาไหล ที่เธอรักในความเป็นเพชรบุรี แล้วก็เราในฐานะที่เป็นผู้สร้าง รู้สึกมีความยินดีที่สุดที่วันนี้ชุดเราไปอยู่ในอเมริกา และนอกจากนี้เจ้าหน้าที่ของสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ก็จะใช้ชุดของเราในงานประจำปี อันนี้ก็มีเชื้อสายพวนอยู่ที่นั่น ก็เอาไปอีก 20 ชุด เมื่อโควิดมันหายไปแล้ว ตอนนี้ทุกอย่างจะถูกหยุดด้วยโควิด พวกเราจะต้องรักษาชีวิตเอาไว้ ให้รอดจากโควิดให้ได้ สิงที่คุณนลินรัตน์ได้สร้างขึ้น มันคือสิ่งใหม่ มันตะแบงได้ แต่อย่างของ อ. ถนอม ไม่มีใครกล้าตะแบง อ. ถนอม ท่านเห็นของตัวเองก็ปกป้อง เห็นของคนอื่นก็ปกป้อง นี่คือปูชนียบุคคลที่แท้จริงของเพชรบุรี แต่ผ้าไทพวนของคุณนลินรัตน์ ซึ่งเป็นผู้ออกแบบ ผู้สร้าง ถ้าแต่งชุดไทพวนต้องเป๊ะ แต่เมื่อไหร่ขึ้นแฟชั่น จะเป็นอิสระ เราจะไม่กักขังผ้าของเรา

          นี่คือวิวัฒน์ของผ้าไทพวนเพชรบุรี น้องหมิวเป็นนางแบบคนสุดท้ายที่ต้องขอร้องให้เข้ามา present เขาบอกว่าหนูอยากแต่งชุดไทพวนเพชรบุรีอยู่แล้ว อยากมากเลย แต่พี่ไม่ให้คุณหมิวแต่งชุดแบบนี้หรอก เอาผ้าไปเลย 2 ชิ้น ครูหมิวก็ออกแบบและแต่งมาโชว์ นี่คือการที่ครูหมิว Create เอง เป็นผ้าที่ยังไม่ได้เย็บ พึ่งออกมาจากโรงทอเลย ยังไม่ได้ทำอะไรทั้งนั้น โยนผ้าให้แล้วไม่ได้ว่าอะไรมาก เอาที่แนวคิดของครูหมิวเลย ครูหมิวก็จัดชุดนี้มา แล้วครูหมิวก็ได้รางวัลด้วย รบกวนครูหมิวเดินแบบนางงามให้น้องๆ ได้เห็น ไอเดียของพี่ก็คือดำดิ่งสู่อดีตเพื่อศึกษารากเหง้าของเราให้รู้ว่าเราเป็นใครมาจากไหน นำขึ้นมาในปัจจุบันรับรู้ แล้วนำสู่อนาคต คือ การขายหลายผ้า เราเคยไปอบรมเรื่องการส่งออกผ้ามา คนที่จะทำผ้าส่งออกต้องมีวิสัยทัศน์ไกล ต้องนอกคอกเป็ย รอบคอบ และต้องเคารพวัฒนธรรม วัฒนธรรมกับแฟชั่นต้องจับมือกัน วัฒนธรรมต้องใจกว้างให้แฟชั่นเข้ามา เมื่อเราใจกว้าง แฟชั่นจะเคารพเรา ทำไมคุณใหญ่ เดอะภูเขาถึงยอมรับมาดามลั่นทมขาวว์ เพราะเขาอิสระให้กับแฟชั่น ตุณใหญ่ผ้าพี่เนี่ยคุณใหญ่จะไปทำอะไรก็ได้ ถ้าไม่ได้นุ่งซิ่น เอาไปตัดเป็นสูตร หรือเป็นอะไรก็ได้ นี่คือการที่เราเปิดใจ ของคุณนลินรัตน์มันคิดใหม่ทำใหม่มันจะตะแบงได้และเราเป็นคนออกแบบเอง สามารถที่จะ Create ได้ สำหรับผ้าที่ครูหมิวแต่งมาวันนี้มีคนจองแล้วนะ ราคาผืนละ 7,500 บาท ก็เลยเอามาทำแฟชั่นก่อน แล้วก็จะส่งให้เขา วันนี้ที่ขอฝากเอาไว้สำหรับเด็ก ๆ ด้วย ในแนวคิดของมาดามลั่นทมขาวว์ ถึงแม่ว่าเราจะใช้ผ้าโบราณ และเป้นผ้าที่ยังทออยู่ในลาว สุดท้ายจะพูดถึงว่าแรงกดดันที่เอาผ้าเพชรบุรีเข้าตลาดผ้าไทยเนี่ย ว่าเรายังไม่ได้ทอด้วยตัวเอง วันนี้คุณนลินรัตน์คิดผ้าลายนาคของจังหวัดเพชรบุรีมาแล้ว กำลังจะทอ ขอบคุณเพียงเท่านี้ก่อน แล้วก็ขอบคุณน้องหมิวด้วยที่อุตส่าห์มาโชว์ให้นะคะขอบคุณค่ะขอบใจหลายๆ ค่ะ

การพัฒนาต่อยอดลายผ้าไทพวน

          ความกดดันทั้งหมดทั้งมวลที่บอกว่า ผ้าของมาดามลั่นทมขาวว์ มิใช่ผ้าที่ทอในไทยนั้น ทำให้เราเกิดแรงฮึด หรือแรงบรรดาลใจว่าคนเพชรบุรีเป็นคนนักเลงจริง ตามจกนักเลงจริงของสาวเพชรบุรี นี่คืออนาคตของสาวเพชรบุรี ลายซิ่นจกลายนาคของสาวพวนเพชรบุรี ออกแบบโดยคุณนลินรัตน์ คำปุ้ยธนันธ์ทร หรือ มาดามลั่นทมขาวว์ สาวนไทยพวน บ้านมาบปลาเค้า อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี จากความฝันที่ต้องการสร้างผ้าจกลายนาคเป็นของตนเอง ด้วยฝีมือการออกแบบของสาวไทพวนเพชรบุรีด้วยการทอของชาวไทพวนเพชรบุรี ให้เป็นสมบัติของแผ่นดินถิ่นเพชรบุรีต่อไปในอนาคต เพราะว่าคุณนลินรัตน์ เชื่อว่าโดยสายเลือดสาวไทพวนที่เก่งในการทอผ้า คุณนลินรัตน์ทำได้ และใช้เวลาศึกษาเรื่องผ้าจกมาเป็นเวลา 2 ปีกว่า ตั้งแต่ปี 2560 ไปเรียนจกที่ไทยคั่ง จังหวัดอุทัยธานี และนี่คือการออกแบบแบบแรกใช้ชื่อว่าซิ่นจกเจ้านางพวน ลายนางพญานาคี พริบพรีพวน signature ของรูปนี้อยู่ที่เพชรเม็ดกลาง พวน เพชร พริบพรี มีความสอดคล้องด้วยเรื่องของชาติพันธุ์ ชาติกำเนิด ทั้งแผ่นดินเกิดและแผ่นดินบรรพชน จุดศูนย์กลางคือเพชร 1 เม็ด นี่คือคำว่าแผ่นดินพริบพรีนคร จังหวัดเพชรบุรี อันเป็นแผ่นดินเกิดของคุณนลินรัตน์ พวนได้มาจากอักษรตัวธรรพ์ คำว่าพวนในสัญลักษณ์นี้ที่อาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ ศิลปินแห่งชาติสาขาวิจิตรศิลป์ ชาวไทพวน จังหวัดสิงห์บุรี ปูชนียบุคคลที่ชาวพวนทั่วประเทศยกย่อง ท่านได้มอบลิขสิทธิ์การใช้ลายนี้ให้กับคุณนลินรัตน์ สาวพวนเพชรบุรี ในฐานะน้องสาว เอาไว้ใช้ สามารถเผยแพร่ได้ ก็เลยขออนุญาตนำลักษณะตัวอักษรที่ท่านออกแบบลงมาไว้ในลายผ้า แต่สลับตำแหน่งกัน ตัวนี้ ๗ อ่านว่า พ พาน นี่ ๐ อ่านว่า ว แหวน และตัวนี้ ฯ อ่านว่า น หนู ทั้ง 3 ตัว คือ พวน ดอกไม้ 3 ดอกมีความหมายอยู่ 2 นัยยะคือ ดอกบัว หมายความว่าในพระพุทธศาสนา มีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ชาวไทพวนเป็นชาติพันธุ์ที่มีอารยธรรมสูง เรานับถือศาสนาพุทธมาตั้งแต่เรามีอาณาจักรพวนเชียงขวาง เสรางนคร เมื่อ1300 ปีก่อนล่มสลาย ชาวไทพวนที่กระจัดกระจายไปอยู่ทั่วโลกยังคงนับถือศาสนาพุทธอย่างเคร่งครัด ไปวัดไปวา นุ่งซิ่น และความหมายอีกนัยยะหนึ่ง คุณนลินรัตน์ขออาจารย์ประหยัดใส่เอาไว้ คือ ดอกฝ้าย ชาวไทพวนนั้นจะทอผ้าด้วยฝ้าย ในอดีตเราไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ทอผ้าไหม เพราะผ้าไหมต้องฆ่าสัตว์ ต้องเสียชิวิตของเส้นหม่อนไหม และ 3 ดอก คือ 3 เทคนิคในการทอ คือ ทอแบบมัดหมี่ เป็นพวนทางภาคอีสาน อุดรธานี หนองคาย ลพบุรี ส่วนพวนแบบจกหรือขิดก็จะเป็นพวนสุโขทัย เพชรบุรีก็สืบเรื่องจกหรือขิด เราสืบทอด้วยจก มันคืออัตลักษณ์ของเรา ที่เราสืบจากบรรพชนเรามา ไม่ได้ผิดเพืี้ยน และก็อีกอันหนึ่งคือผ้าม่อฮ่อมย้อมคราม ของพวนทุ่งโฮ่ง จังหวัดแพร่ หรือพวนทางภาคเหนือ นี่คืออัตลักษณ์

          คุณนลินรัตน์ คำปุ้ยธนันท์ธร ได้ถ่ายทอดรหัสจากสัญลักษณ์ดังกล่าว มาใส่ไว้ในลายผ้าของพวนเพชรบุรี ด้วยพื้นที่ในการออกแบบ ต้องปรับให้ตัวอักษรอยู่คนละจุดจากสัญลักษณ์ต้นแบบเดิมของอาจารย์ประหยัด ซึ่งไม่ได้เป็นการลอกเรียนแบบของท่านทั้งหมด ได้ปรึกษากับ ดร.ถนัด จันทร์ทอง ปราชญ์ชาวพวนแล้วว่า สามารถใช้ได้ แต่จะไม่ลอกทั้งหมด โดยนำอักษรมาใช้อ้างอิง เมืองเพชรบุรีของเราเป็นเมืองที่มีอารยธรรมสูง เพราะฉะนั้นลายผ้าแต่ละลายที่นำมาออกแบบและพัฒนานั้นจะต้องเป็นของที่สูงค่า เหมาะสมกับการเป็นเมืองสามวัง เหมาะกับการเป็นลายซิ่นแห่งเจ้านางพวนพริบพรี และตัวอักษร น หนู ในลายผ้าก็คือ นาค จะต้องให้ Balance กันทั้ง 2 ด้าน พวน เพชร พริบพรี นี่คือชื่อแรกที่คุณนลินรัตน์ได้ตั้งชื่อลายนี้เอาไว้จากจินตนาการ และเมื่อสร้างเสร็จแล้ว นาคหรือนาคี จะออกมา 9 เศียร 9 สี คุณนลินรัตน์ จึงได้ให้คำจำกัดความลายนี้ทั้งหมดว่า “นางพญานาคีพริบพรีพวน” ผ้าลายนี้คือผ้าของเจ้านางพวนเพชรบุรี เจ้านางพวนแห่งอาณาจักรพวนที่คุณนลินรัตน์นับถือและใช้จิตญาณของท่านมาออกแบบคือ มหาเทพีผมดำคำอ่อน กษัตริย์ผู้ครองนครพวนองค์เดียว องค์ที่ 27 พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์เป็นมหาเทพี เพราะฉะนั้น การสร้างผ้านี้คือ เพื่อเทิดทูนพระองค์เจ้านางแห่งเสรางนครพวน วันนี้ลายนาคีพริบพรีพวนที่ท่านเห็นยังไม่สมบูรณ์ วิบากกรรมของการทำผ้าลายนาคก็ไม่ใช่เรื่องง่าย คุณนลินรัตน์ใช้เวลา 6 เดือนที่เดินทางศึกษาผ้าลายนาค ของชาวไทลื้อ ชาวไทยพวน ชาวไทยยวน ชาวไทยคั่ง ทั่วประเทศ ใช้เวลาอีก 2 ปี 6 เดือน ในการเรียนรู้ทั้งซิ่นจกแม่แจ่ม ไทยลื้อ  เชียงราย เชียงของ เพื่อศึกษาเรียนรู้ว่าผ้าของที่อื่นเป็นอย่างไร เพื่อนำมาประกอบให้เป็นผ้าของเพชรบุรี คุณนลินรัตน์ทอผ้าพื้นเป็นจากชาวไทดำ ได้รับการเรียนรู้จกจากชาวไทยคั่ง และชาวไทยญวนจากราชบุรี ทอผ้าให้คุณนลืนรัตน์นำมาใช้ตัดชุด และได้มีการเดินทางไปศึกษาไทยลื้อที่เชียงของ อยากจะบอกว่าสุดท้ายแล้วลายนี้ยังไม่สมบูรณ์ ผ้ายังไม่มีสีหรือเรื่องราว Signatorr ของความหมาย ดังนั้นอันนี้แค่ต้นแบบสำหรับผ้าที่จะให้ท่านเห็นว่าสีสันเป็นยังไง คอยดูผ้าจก จะทิ้งท้ายเอาไว้ให้ผู้ที่มีส่วนร่วมในการให้สี ให้ความหมาย กับลายนาคีพริบพรีพวน ทั้ง 9 เศียร 9 สี นี่คือคนคนหนึ่งที่เป็นนักประวัติศาสตร์นักค้นคว้าของจังหวัดลำพูนเขามีความเป็นชาติติพันธุ์ไทยยอง และมีความรู้ทางด้านศิลปะและให้คำปรึกษาในการออกแบบสีสันที่ใช้ให้กับคุณนลินรัตน์ และสีแต่ละสีก็มีความหมาย มีที่มา มีที่ไป ที่เขาได้ศึกษาค้นคว้าต้องขอขอบคุณ อาจารย์ ดร. เอื้อมพร โตภานุรักษ์กุล ที่ได้นำพาให้เรามีกัลยาณมิตรช่วยทำให้ผ้าแห่งรัก ลายผ้าแห่งรักของสาวพวนเพชรบุรีหรือเจ้านางพวนเพชรบุรี สมบูรณ์ขึ้นพร้อมทอ สำหรับวันนี้ดิฉันในฐานะผู้ออกแบบต้องขอบคุณทุกท่าน ทุกฝ่าย ทุกจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นแม่ชีนอม ชาวไทยลื้อที่เชียงของ น้องกาญจน์ที่สอนให้ได้รู้จักวิธีการในการจก ครูมาลีที่ได้สอนให้ทอผ้า เป็นชาวไทดำ แล้วก็พี่อนงค์ จากราชบุรี คูบัว ชาวไทยยวน และหนุ่มไทยยอง ติดตามตอนต่อไปนะคะว่าบุคคลผู้นั้นคือใครเมื่อผ้าผืนแรกของดิฉันเสร็จเรียบร้อย สวยเสกได้ by มาดามลั่นทมขาวว์ นักเลงนุ่งซิ่นถิ่นเพชรบุรี ขอบเจอหลายๆ สวัสดีค่ะ

บุคคลหรือกลุ่มคนที่สืบสานผ้าไทพวนเพชรบุรี

1. คุณนลินรัตน์ คำปุ้ยธนันท์ธร “มาดามลั่นทมขาวว์” บ้านเลขที่ 34 หมู่ 1 ต.มาบปลาเค้า อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี รหัสไปรษณีย์ 76130 เบอร์โทรศัพท์ 086-1738758 หรือโทร 032-506323 ID Line: bymadam เฟสบุ๊ค: web.facebook.com/madamlunthomkhow
  • ผู้คิดค้นการสร้างอัตลักษณ์ใหม่การแต่งกายของไทพวนเพชรบุรี 
  • ผู้สืบสานตำนานไทยพวน ผ่านการแสดงบทเพลงร่วมสมัยภายใต้ภาพลักษณ์สาวพวนเพชรบุรีในนามกลุ่มลั่นทมขาวสาวพวนฯ ตั้งแต่ปี 2540 
  • ผู้สร้างชุดไทยพวนเพชรบุรี และสืบทอดการทอผ้า สืบสานการนุ่งซิ่นแบบเบ้าสาวไทพวน
  • ผู้นำกลุ่มเยาวชนนุ่งซิ่นสืบสานตำนานบรรพชนผลงานกว่า 20 ปี
  • ปัจจุบันเป็นเจ้าของและผู้ผลิตผ้าซิ่นและเสื้อผ้าในแบบสาวพวนเพชรบุรี ในนามตราสินค้า “มาดามลั่นทมขาวว์”
2. กลุ่มลั่นทมขาวสาวพวน (จำปาขาวสาวพวน) เกิดจากการรวมตัวของเยาวชนลูกหลานชาวไทพวน บ้านมาบปลาเค้า อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี จุดประสงค์เพื่อสืบสานตำนานเรื่องราวของบรรพบุรุษชาวไทพวน ที่อพยบมาจากเมืองเชียงขวางประเทศลาว โดยผ่านการแสดง และบทเพลงร่วมสมัย ด้วยการใช้ชุดการแต่งกายแบบไทยพวนเพชรบุรี ที่ทางชุมชนไทพวนได้ริเริ่มสร้างสรรค์ขึ้นมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา
3. ชมรมไทพวนเพชรบุรี โทรศัพท์ 090-5754796

Subject

เครื่องแต่งกาย -- ไทยพวน
สิ่งประดิษฐ์
หัตถกรรม
ผ้าทอ -- ไทยพวน
ไทยพวน -- ผ้า
ชาติพันธุ์ -- ไทยพวน
ผ้า -- ไทยพวน

Coverage

เพชรบุรี
ท่ายาง
ละติจูด 12.968666 ลองติจูด 99.946601

Date

28/03/2563

Type

text

Language

tha

Relation

  • นลินรัตน์ คำปุ้ยธนันทร, (ผู้บรรยบาย). (2563). การเสวนาเรื่อง ผ้าทองและการพัฒนาอัตลักษณ์ผ้าชาติพันธุ์ในจังหวัดเพชรบุรี. เพชรบุรี: [วีดีโอไฟล์] สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี.
  • อรศิริ ปาณินท์. (2546). ภูมิปัญญาชาวบ้านในเรือนพื้นถิ่นไทพวนในประเทศไทย : การนำไปสู่สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นใหม่บนฐานของภูมิปัญญาและเทคโนโลยีท้องถิ่น. กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  • กลุ่มลีลาวดีขาวสาวพวน (จำปาขาวสาวพวน). (2555). กลุ่มลีลาวดีขาวสาวพวน (จำปาขาวสาวพวน). สืบค้น 26 มี.ค. 2563. จาก https://web.facebook.com/KlumLeelaWadee/.
  • ชมรมไทยพวน จังหวัดเพชรบุรี. (2556). ชมรมไทยพวน จังหวัดเพชรบุรี. สืบค้น 26 มี.ค. 2563. จาก https://web.facebook.com/ชมรมไทยพวน-จังหวัดเพชรบุรี-553762004648265/.
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2562). ผ้าและกรรมวิธีการทอ : ผ้​าจก. สืบค้น 2 เม.ย. 2563. จาก https://www.bot.or.th
  • นลินรัตน์ คำปุ้ยธนันท์ธร. (2563). มาดาม ลั่นทมขาวว์ (นลินรัตน์ คำปุ้ยธนันท์ธร). สืบค้น 26 มี.ค. 2563. จาก https://web.facebook.com/nalinrat.klampui.
  • Museum Thailand. (2559). หม้อห้อม หรือ ม่อฮ่อ แท้จริงแล้วควรเขียนอย่างไร. สืบค้น 29 มี.ค. 2563. จาก https://www.museumthailand.com
  • ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2555). รีวิวของพิพิธภัณฑ์ไทยพวน วัดมาบปลาเค้า. สืบค้น 26 มี.ค. 2563. จาก https://db.sac.or.th/museum
  • ศูนย์สารสนเทศหม่อนไหมและประชาสัมพันธ์ กรมหม่อนไหม. (ม.ป.ป.). ผ้าขิด. สืบค้น 2 เม.ย. 2563. จาก https://qsds.go.th
  • สถาบันวัฒนธรรมศึกษา. (2556). ผ้าทอไทยพวน. สืบค้น 26 มี.ค. 2563. จาก http://ich.culture.go.th/index.php
  • สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี. (2563). 630318 เสวนา เรื่อง “ผ้าทองและการพัฒนาอัตลักษณ์ผ้าชาติพันธุ์ในจังหวัดเพชรบุรี”. สืบค้น 21 เม.ย. 2564. จาก https://photos.app.goo.gl/UUaTEmvcKEoqZJUSA

Rights

สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นหน่วยงานทางการศึกษาไม่แสวงหาผลกำไร - ใช้สำหรับการศึกษาเท่านั้น

Geolocation