ศาสตร์พระราชา : อนุรักษ์ดิน น้ำ ป่า พัฒนาคนและพลังงาน

       พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสนพระราชหฤทัยและศึกษาปรากฏการณ์ของธรรมชาติ ตั้งแต่เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ทรงทราบถึงความสัมพันธ์ของธรรมชาติ อันได้แก่ ป่าไม้ น้ำ ดิน พลังงาน และสิ่งมีชีวิต หรือจะเรียกว่า "ดิน น้ำ ลม ไฟ" ซึ่งพึ่งพิงกันอย่างมีปฏิสัมพันธ์และเชื่อมโยงด้วยวิธีทางธรรมชาติอย่างเป็นวัฏจักร ดังพระราชดำรัสความว่า  "...อาจมีบางคนเข้าใจว่าทำไมจึงสนใจเรื่องชลประทานหรือเรื่องป่าไม้ จำได้เมื่ออายุ 10 ขวบ ที่โรงเรียนมีครูคนหนึ่ง ซึ่งเดี๋ยวนี้ตายไปแล้ว สอนเรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องการอนุรักษ์ดิน และให้เขียนว่าภูเขาต้องมีป่า อย่างนั้นเม็ดฝนลงมาแล้วจะชะดินลงมาเร็ว ทำให้ไหลตามน้ำไป ไปทำความเสียหาย ดินหมดจากภูเขาไหลตามสายน้ำไป ก็เป็นหลักของป่าไม้ เรื่องการอนุรักษ์ดิน และเป็นหลักของชลประทานที่ว่า ถ้าเราไม่รักษาป่าไม้ข้างบน จะทำให้เดือดร้อนตลอดตั้งแต่ดินบนภูเขาจะหมดไป กระทั่งอาจที่จะมีตะกอนลงมาในเขื่อน มีตะกอนลงมาในแม่น้ำ ทำให้น้ำท่วม นี่นะ เรียนมาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ..." พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2512
        เมื่อทรงทราบถึงสาเหตุของปัญหาภาวะแห้งแล้ง น้ำท่วมภาวะอากาศแปรปรวนที่เกิดขึ้น จึงพิจารณาจากวัฏจักรของธรรมชาติดังกล่าว ที่ทรงศึกษาตั้งแต่พระชนมายุเพียง 10 พรรษา และนำหลักการและปรากฏการณ์ทางธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อมนุษย์และธรรมชาติ
พระราชกรณียกิจทุก ๆ ด้าน จะมีการศึกษาทดลองถึงผลกระทบ และจะทรงระมัดระวังเป็นอย่างมากเพื่อไม่ให้เป็นการทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่ออนุรักษ์ระบบนิเวศให้มีสภาพดีขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นการส่งเสริมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น โดยเฉพาะการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ แหล่งน้ำ ฟื้นฟูสภาพดิน และการสร้างพลังงานทดแทนนั้น จะทรงสนพระราชหฤทัยเป็นพิเศษจนทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนได้น้อมนำแนวพระราชดำริไปปฏิบัติตามจนเกิดผลประโยชน์มากมายทั่วประเทศ
        ปรากฏการณ์ของดิน น้ำ ลม ไฟ ป่า และคน เป็นความสัมพันธ์ทางธรรมชาติ ที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาของทรัพยากรที่เปลี่ยนแปลงไปและอยู่ไกลตัว โดยหารู้ไม่ว่า ปรากฏการณ์ของทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ หากไม่เข้าใจหรือเข้าไม่ถึง ก็ไม่สามารถทำให้ความจริงของชีวิตถูกต้องได้ ดังนั้นเรื่องธรรมดา ๆ ของทรัพยากร จึงไม่เป็นทรัพยากรธรรมดาอย่างที่มองกัน แต่เป็นทรัพยากรอันมี "คุณ" ที่เราต้องคิดสร้าง คิดรักษา คิดใช้ประโยชน์ให้ถูกต้องและอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนเพราะ "ทรัพยากรธรรมชาติ" แท้ที่จริง คือ "ชีวิต" นั่นเอง


#ศาสตร์ของพระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
#พอเพียงเพื่อยั่งยืน


2022 © ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาราชภัฏเพชรบุรี