พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ (พ.ศ. ๒๓๙๔ – ๒๔๑๑)

รูปภาพ

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

 
             พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ (พ.ศ. ๒๓๙๔ – ๒๔๑๑) เสด็จประพาสและประทับเมืองเพชรบุรี ตั้งแต่ครั้งทรงผนวช (พ.ศ. ๒๓๗๖) ได้ธุดงค์มาประทับที่เพชรบุรีหลายแห่ง เสด็จฯ มาทรงบำเพ็ญสมณธรรม ณ ถ้ำเขาย้อยประทับแรมที่วัดมหาสมณารามเชิงเขาวัง เสด็จประพาสเขาหลวง วัดใหญ่สุวรรณาราม และเสด็จทางชลมารคไปประพาสเหนือแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณเขาลูกช้าง เป็นต้น และทรงแสดงธรรมโปรดชาวบ้านหลายครั้ง  เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ได้เสด็จประพาสและประทับที่เมืองเพชรบุรีอีกหลายครั้ง  ตามที่คณะผู้วิจัยสำรวจข้อมูลได้ ดังนี้
 
พ.ศ. ๒๔๐๑
ช่วงระยะที่ทรงผนวชก่อนขึ้นครองราชย์เสด็จประพาสและประทับที่เมืองเพชรบุรี
๑๘ มีนาคม  เสด็จประพาสเพชรบุรี  ทอดพระเนตรการบูรณะพระพุทธรูปที่ถ้ำเขาหลวงและทอดพระเนตรการก่อสร้างพระตำหนักพลับพลาที่บนเขามหาสมน
๒๐-๒๑ ธันวาคม  เสด็จประพาสเพชรบุรี โดยเรือพระที่นั่ง (ชลมารค) เพื่อทอดพระเนตรถ้ำเขาหลวง  เขาสมน (เขาวัง) และประทับแรมที่ค่ายหลวงบางทะลุโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระนครคีรี
 
พ.ศ. ๒๔๐๒
๗ กรกฎาคม โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งต่างๆ บนยอดเขามไหศวรรย์ ทรงก่อพระฤกษ์พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์และพระราชทานนามเขา “สมน”
๒๗ ตุลาคม  เสด็จฯ โดยเรือกลไฟพระที่นั่ง ทรงปิดทองพระในถ้ำเขาหลวง และทรงถวายผ้าพระกฐิน ที่พระอารามต่างๆ ประจำปี เช่น วัดมหาสมณาราม วัดคงคาราม เป็นต้น ในช่วงปีเดียวกัน ยังโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่นาจำนวน ๗๑๔ ไร่ ๒ งาน ที่บริเวณทุ่งเขาพนมขวดและโปรดเกล้าฯ ให้มีการฟื้นฟูประเพณีแรกนาขวัญ เริ่มใหม่ใน พ.ศ. ๒๔๐๓ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๐๗ โปรดฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดสมน พระราชทานเงิน ๕๐ ชั่ง  ทำการบูรณะและพระราชทานนามวัดว่า “วัดมหาสมณาราม”   และโปรดเกล้าฯ ให้พระอินช่างเขียน (ขรัวอินโข่ง) ชาวบางจานเพชรบุรี     วาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง ประดับภายในและโปรดฯ ให้ยกวัดมหาสมณารามเป็นวัดหลวงชั้นโทชั้นวรวิหาร แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๐๓  ทรงพระราชทานระฆังเหล็ก ๒ คู่และขอนไม้ไว้ที่หอระฆังของวัดอีกด้วย โปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนและสะพานช้างข้ามแม่น้ำแบบก่ออิฐถือปูน   โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนน เช่น ถนนราชวิถี  ถนนคีรีรัฐยา ถนนพานิชเจริญ  สร้างตึกตลาดแถวสองฝั่งถนน 
 
พ.ศ. ๒๔๐๓
ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในการปฏิสังขรณ์ยอดพระเจดีย์บนยอดเขาพนมขวดที่ชำรุด เนื่องจากถูกฟ้าผ่า 
ทรงประกาศ “พระบรมราชโองการพระนครคีรี พ.ศ. ๒๔๐๓ (จ.ศ. ๑๒๒๒) ทรงอนุญาตให้ชาวเพชรบุรีได้เข้าเฝ้าและยังเปิดโอกาสให้ราษฎรที่มีความทุกข์ร้อน ถูกข้าราชการเบียดเบียนหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมทางโรงศาลให้เข้าถวายฎีการ้องทุกข์ได้
๑๐ พฤษภาคม  โปรดเกล้าฯ ให้แห่พระ โดยขบวนเรือ (จากกรุงเทพฯ ไปเมืองเพชรบุรี)  ไปยังวัดมหาสมณาราม
๒๔ มิถุนายน  เสด็จฯ เมืองเพชรบุรี
๒๐ ตุลาคม เสด็จฯ เมืองเพชรบุรี
 
พ.ศ. ๒๔๐๔ 
๑๘ กุมภาพันธ์  โปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นที่รับแขกเมือง เช่น ราชทูตปรัสเซีย (มิสเตอร์คอลลอยเลน เบิร์กกอนต์เอวเลนเบอร์ก) ให้พักผ่อนที่เมืองเพชรบุรี
๑๕  มีนาคม   โปรดเกล้าฯ ให้ทูตฮอลันดาขออนุญาตให้มิสเตอร์ไตสมันออกมาชมและหาพืชพันธุ์ไม้ที่ป่าเพชรบุรี
๑๘ ตุลาคม  โปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์   ประกอบพระราชพิธีในการฉลองพระชันษาที่พระนครคีรี
๑๑-๑๒ พฤศจิกายน  ทอดพระเนตรดาวพุธเข้าดวงอาทิตย์ที่เขาวังเมืองเพชรบุรี  ในโอกาสเสด็จฯ เฉลิมพระราชมนเทียรที่พระนครคีรี และบรรจุพระธาตุในพระเจดีย์ศิลาที่ยอดเขามหาสวรรค์ (ประกาศเทวดาในวันเจริญพระพุทธมนต์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุในองค์พระสุทธเสลเจดีย์) เสด็จฯ ด้วยเรือกลไฟกลับมาถึงพระนคร
๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๐๑-๒๔๐๔  เสด็จประพาสเพชรบุรี โดยเรือพระที่นั่ง (ชลมารค) ทอดพระเนตรการบูรณะพระพุทธรูปที่ถ้ำเขาหลวง พระตำหนักพลับพลาที่บนเขามหาสมน และการสร้างพระนครคีรี
 
พ.ศ. ๒๔๐๕ 
๒๕ มกราคม-๙ กุมภาพันธ์ เสด็จประพาสเพชรบุรี ด้วยเรือกลไฟ 
 
พ.ศ. ๒๔๐๖ 
โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์พระปรางค์เดิมของโบราณที่วัดมหาธาตุ
โปรดเกล้าฯ ให้ เรจิอองดอนเนอร์ ผู้นำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของประเทศฝรั่งเศส ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องราชฯ  ชมเมืองเพชรบุรีและพระนครคีรี ด้วยเรือเสพย์สหายไมตรี
๑๘ มิถุนายน  โปรดเกล้าฯ ให้ทูตเนียดาลัน (เนเทอร์แลนด์) ยีมีเจมัดเซล พร้อมด้วยคณะ จำนวน  ๔๒ คนเข้าชมพระนครคีรี
 
พ.ศ. ๒๔๐๗ 
เสด็จประพาสเพชรบุรีทางชลมารคโดยเรือพระที่นั่ง   โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีโสกันต์ พระเจ้าลูกเธอสองพระองค์ คือ พระองค์เจ้าพักตรพิมลพรรณและพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้ามัณยาภาธรบน     พระนครคีรี
๑๓ กุมภาพันธ์   เสด็จประพาสเมืองเพชรบุรี  ทอดพระเนตรเขา ป่าไม้   ทรงวัดแดดและวัดดาว คำนวณตำแหน่งเส้นรุ้ง เส้นแวง และทรงทราบการทำนุบำรุงราษฎรสุขหรือเดือดร้อนประการใด เสด็จทอดพระเนตรเขาป่าไม้ในแขวงเมืองเพชรบุรี ราชบุรี และกาญจนบุรี  และโปรดเกล้าฯ ให้เลิกกฎหมายโบราณห้ามผู้หญิงเล่นละครนอก (ละครโรงใหญ่) และละครชาตรี (ละครโรงเล็ก)
 
พ.ศ. ๒๔๑๐
โปรดเกล้าฯ ให้จัดทำแผนที่เมืองเพชรบุรีตั้งแต่ปากน้ำบ้านแหลมขึ้นไปตามลำแม่น้ำจนถึงต้นน้ำเพชรบุรี โปรดเกล้าฯ เสวยและสรงน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีที่วัดท่าไชยศิริทรงรับสั่งว่าจืดสนิทดีให้พระยาเพชรบุรีจัดเอาน้ำที่วัดท่าไชยศิริ ส่งเข้ากรุงเทพฯ เดือนละครั้งๆ ละ ๓๐ – ๔๐ ตุ่มเคลือบจีน ในรัชกาลนี้น้ำเพชรยังได้ใช้ในการทูตเป็นน้ำกินน้ำใช้สำหรับราชทูต อุปทูตตรีทูตที่จำทูลพระราชสารออกไปเจริญพระราชไมตรีในต่างประเทศ (เสยย์  เกิดเจริญและคณะ, ๒๕๔๒: น.๖๑-๑๖๓ ; มูลนิธิพระเทพสุวรรณมุนี, ๒๕๔๔: น.๕๓-๑๕๕)

2022 © ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาราชภัฏเพชรบุรี