พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๑๑ – ๒๔๕๓)

รูปภาพ

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

              พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๑๑ – ๒๔๕๓) ทรงโปรดฯ เมืองเพชร และมีพระเมตตาต่อชาวเพชรบุรี ทรงเจริญรอยตามพระยุคลบาทพระบรมชนกนาถ ทรงคุ้นเคยกับเมืองเพชรและชาวเพชรบุรีตั้งแต่ครั้งเป็นพระบรมราชปิโยรส  เมื่อครั้งผนวชเป็นเณรได้เสด็จมาประทับที่ศาลาการเปรียญจัตุรมุข วัดมหาสมณาราม   เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ก็ได้เสด็จประพาสเพชรบุรีตลอดรัชกาล ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๑๘-๒๔๕๓ ทรงสัมพันธ์กับเมืองเพชรบุรีในเรื่องต่างๆ  มีอาหารการกินสมบูรณ์ทั้งอาหารและน้ำจืด  เรื่องอากาศที่เมืองเพชรบุรีถูกกับพระอนามัย  เรื่องน้ำเพชรที่ทรงโปรดอยู่เป็นนิตย์  ทรงมีสัมพันธ์กับเมืองเพชรบุรีในฐานะทรงมีบาทบริจาริกา (เจ้าจอมก๊ก “อ”) ถึง ๘ คน ทรงใช้เพชรบุรีเป็นที่ประทับแรมและพักผ่อนพระราชอิริยาบถและรับรองแขกเมือง เช่น ดุ้กโยฮัน อัลเบรกต์และพระชายา  โปรดเกล้าฯ ซื้อที่ดินที่บ้านปืน ตำบลบ้านหม้อ ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์  เพื่อสร้างเป็นพระตำหนัก “ศรเพชรปราสาท” เป็นแบบโมเดิลสไตล์ศตวรรษที่ ๒๐ ในยุโรป และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนของเมืองขึ้น ๔ สาย คือ ถนน  ราชดำเนิน  ถนนดำรงรักษ์, ถนนราชดำริ, ถนนบริพัตร และถนนในเขตพระตำหนัก ๒ สาย คือ ถนนคันธนู และถนนสนามไชย เป็นต้น
          โปรดเกล้าฯ ให้ปลูกต้นมะฮอกกานี ตามแนวถนนทั้ง ๖ สาย จำนวน ๑,๐๓๑ ต้น โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานอุรุพงษ์ เป็นอนุสรณ์แด่พระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภชและสะพานนเรศวรข้ามคลองวัดเกาะเชื่อมถนนบริพัตรกับถนนพานิชเจริญและถนนอมาตยาวงศ์   โปรดเกล้าฯ ยกวัดใหญ่สุวรรณารามเป็นวัดหลวง ทั้งนี้การเสด็จประพาสเพชรบุรีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามลำดับช่วงเวลา มีดังนี้
 
พ.ศ. ๒๔๑๘
๑๑-๑๘ กุมภาพันธ์  เสด็จประพาสเพชรบุรี  ทรงประทับบนพระนครคีรี  เสด็จประพาสเขามหาสวรรค์ ถ้ำเพิง  ถ้ำพัง เขาพนมขวด  สวนมะตูม ทรงทอดพระเนตรในเมืองและตลาด  การนวดข้าว และทรงมนัสการพระพุทธปฏิมากรณ์ ๔ พระองค์ และพระพุทธรูปองค์ใหญ่ เขาหลวงและพระราชทานเงินตราเป็น มูลกัปปิยภัณฑ์แก่พระมหาสมณวงศ์ วัดมหาสมณารามและเขาบันไดอิฐ
 
พ.ศ. ๒๔๒๙
๑๐ กุมภาพันธ์–๑ มีนาคม   เสด็จประพาสเพชรบุรี ทรงประทับบนพระนครคีรีเสด็จประพาสเขามหาสวรรค์ ถ้ำเพิง  ถ้ำพัง วัดพระนอน เขาหลวง และทอดพระเนตรที่ต่างๆ ในถ้ำ  ทรงปิดทองพระพุทรูป    เสด็จประทับเขาบันไดอิฐและถ้ำเขาบันไดอิฐ   เสด็จฯ วัดถ้ำแถลบ  ถ้ำสาลิกา ถ้ำเจ็ดแท่นและเขาลูกช้าง วัดกำแพงแลง  ทอดพระเนตรการแข่งรันแทะ  เสด็จประพาสเขาหลวงถ้ำวัวนอน ลงใน   ถ้ำหลวงโปรดให้มีสดับปกรณ์  ถ้ำพระพิมพ์ ถ้ำพระเผือก เขาดอก ถ้ำจีน และพระราชทานเงินให้ชาวบ้านธงไชย
 
วันที่ ๒๐-๒๑ กุมภาพันธ์  เสด็จพระราชดำเนินจากพระนครคีรี  โดยม้าพระที่นั่งเสด็จประพาสเขาลูกช้าง  และนมัสการรอยพระพุทธบาท  ทรงพระราชดำริให้ ปฏิสังขรณ์เป็นมณฑปสวม รอยพระพุทธบาท  โปรดเกล้าฯ ให้ท่ารำแก่คณะละครเพชรบุรี  ทรงพระราชนิพนธ์นิราศเมืองเพชรบุรี   ที่ชาวเพชรบุรีเรียกว่า  “นิราศเมืองเพชรฉบับจ้าว” นับเป็นจดหมายที่สำคัญฉบับของบ้านเมืองที่เมืองเพชรบุรี
 
พ.ศ. ๒๔๓๙
โปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมพระนครคีรี ใหม่ทั้งหมด
โปรดเกล้าฯ ประพาสถ้ำเขาหลวงนมัสการพระพุทธรูปประจำราชวงศ์ (รัชกาลที่ ๑-รัชกาลที่ ๔ พระพุทธรูปใหญ่ประจำถ้ำและพระพุทธรูปต่างๆ และทรงปิดทอง บางครั้งก็ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสดับปกรณ์ในถ้ำเขาหลวงถวาย รัชกาลที่ ๔  สมเด็จพระเทพศิรินทร์และพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์    พระราชทานเงินให้พระยาเพชรบุรี ซ่อมบูรณะพระพุทธรูปในถ้ำเขาหลวง และพระราชทานเงินบำรุงวัดมหาสมณารามและวัดโพธารามด้วย   พระราชทาน            เงินให้หมอดันลัปและคณะมิสชันนารีที่เพชรบุรีในการสร้างโรงเรียนโรงคนไข้ และโรงคนชรา
 
พ.ศ. ๒๔๔๖     
๑๙ มิถุนายน  เสด็จประพาสเพชรบุรี ในพิธีเสด็จฯ เปิดการเดินรถไฟเพชรบุรีและสถานีรถไฟเพชรบุรี
 
พ.ศ. ๒๔๔๗
๑๗ กรกฎาคม และ ๒๔-๒๙ กรกฎาคม เสด็จประพาสหัวเมือง ๑๗ กรกฎาคม ทรงประทับที่ราชบุรี โดยรถไฟขบวนพิเศษมายังเมืองเพชรบุรี โดยไม่ได้มีการแจ้งอย่างเป็นทางการ ต่อมาระหว่างวันที่
๒๔-๒๘ กรกฎาคม  พ.ศ. ๒๔๔๗  เสด็จฯ โดยทางเรือ ทรงประทับ ณ พลับพลา หน้าจวนเจ้าเมือเพชรบุรี (ผู้ว่าราชการ) เสด็จประพาสทางเรือข้างเหนือน้ำ บางทะลุ และเสด็จฯ พระนครคีรี ตลอดจนประพาสวัดต่างๆ ในเมืองเพชรบุรี  ช่วงวันที่ ๒๙ กรกฎาคม  เสด็จประพาสวัดต่างๆ และทรงถวาย กัปปิยภัณฑ์ไว้บำรุงวัดใหญ่สุวรรณาราม แล้วเสด็จกลับพระนคร
 
พ.ศ. ๒๔๕๒
๑๑-๑๘ กันยายน  เสด็จฯ ทรงประทับบนแพที่ประทับหน้าจวน โดยเรือและเสด็จกลับทางรถไฟ ในการเสด็จประพาสเพชรบุรีครั้งนี้ ทรงทอดพระเนตรวัดใหญ่สุวรรณาราม เสด็จประพาสที่ตำบลบ้านปืนและวัดเกาะ วัดมหาสมณาราม พระราชทานเงินบำรุงวัด ๘๐๐ บาท  เสด็จฯ บ้านลาว ตำบลยี่หน  เสด็จฯ พระนครคีรี  ออกที่ประทับเมืองเพชรบุรี  ทรงยกวัดสุวรรณาราม (วัดใหญ่) ขึ้นเป็นวัดหลวงและ ทอดพระเนตรวัดอุทัย
 
๒๑ กันยายน  เสด็จฯ วัดใหญ่สุวรรณาราม ทรงซักถามในการก่อสร้างพระอุโบสถและศาสนาการเปรียญ
 
๒๖ กันยายน-๑๐ ตุลาคม เสด็จฯ ทางชลมารค ประพาสทางเหนือถึงบ้านปืน  ทอดพระเนตรที่จะสร้างวังและโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินต่อสำหรับสร้างวัง   เสด็จประพาสในคลองวัดเกาะไปถึงตำบลท่าหิน   ประกอบพิธีในงานพระราชพิธีฉลองพระชนมพรรษาที่ท้องพระโรง  ทอดพระเนตรที่ซึ่งจะตัดถนนจากสถานีรถไฟไปบ้านปืนและทอดพระเนตรถางป่าทำวะนะด้วย
 
๓ -๙ ธันวาคม   เสด็จโดยรถไฟพระที่นั่ง  ประทับพักแรมที่ตำบลบ้านปืน ทอดพระเนตรการวางแปลนที่จะสร้างพระราชวัง  ทอดพระเนตรแบบพระที่นั่ง  ทอดพระเนตรพื้นที่ที่จะขยายพระราชวัง  ทอดพระเนตรการตกแต่งพระนครคีรีสำหรับรับแขกเมือง ตามลำดับ
 
พ.ศ. ๒๔๕๓
๘-๑๔ กรกฏาคม เสด็จฯ โดยรถไฟ ประทับที่พลับพลาบ้านปืน   เสด็จฯ ท้องพระโรงที่ประทับตำบลบ้านปืนเมืองเพชร โปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทอดพระเนตรฐานรากพระที่นั่ง  ทอดพระเนตรแผนที่และทรงกะทำการงานต่างๆ ในการนี้เสด็จโดยรถม้าพระที่นั่งทอดพระเนตรถนนดำรงรักษ์และถนนราชดำเนิน ทอดพระเนตรสะพานอุรุพงษ์ และพระเก้าอี้หามเสด็จหลังวัดสิงห์ถนนราชดำริ และทรงโปรดเกล้าฯ บวชนาคหลวง บุตรของพระยาสุรินทรฤาไชย ณ วัดมหาสมณราม เสด็จฯ กลับพระนครด้วยรถไฟพระที่นั่ง
 
๑๐ สิงหาคม – ๑๑ กันยายน เสด็จประพาสเพชรบุรี    ในวันที่ ๑๔ สิงหาคม เสด็จพระราชดำเนินมาเพชรบุรี โดยรถไฟพระที่นั่ง ประทับแรม ณ พลับพลาน้อย ในเขตพระราชฐานบ้านปืน ทอดพระเนตรถนนในเขตพระราชฐานบ้านปืนถึงสะพานอุรุพงษ์ ทรงพระเก้าอี้หามทอดพระเนตรถนนตัดใหม่ถึงวัดป้อมพระราชทานนามว่า  “ถนนบริพัตร”  และทอดพระเนตรถนนต่างๆ  ประพาสตลาดเมืองเพชร และทรงกำหนดการพระราชพิธีก่อฤกษ์พระตำหนักที่ทรงสร้างใหม่ ตำบลบ้านปืน ทรง      พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ (พิธีขอฝน)  ทอดพระเนตรสถานที่ริมแม่น้ำ ซึ่งจะโปรดเกล้าฯ ให้ทำสะพานจากถนนดำรงรักษ์ และตัดถนนอินทารามไปบรรจบถนนบริพัตร  ตลอดจนทอดพระเนตรกิจการต่างๆ ของเมืองเพชรบุรี (เสยย์  เกิดเจริญ, ๒๕๔๒: น. ๖๓-๑๐๙ ; กรมศิลปากร, ๒๕๑๖: น.๑-๒๕)

2022 © ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาราชภัฏเพชรบุรี