พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๖ (พ.ศ. ๒๔๕๓–๒๔๕๘)

รูปภาพ

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

 
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๖ (พ.ศ. ๒๔๕๓–๒๔๕๘) 
เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร ตำแหน่งรัชทายาทได้เสด็จมาประทับแรมที่เพชรบุรี ถึงสองครั้ง ดังนี้
ครั้งแรก วันที่ ๑-๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๒ เสด็จมาประทับแรมที่แพกลางแม่น้ำเพชร หน้าจวนผู้ว่าราชการเมืองเพชรบุรี ทรงร่วมในพระราชพิธีฉลองพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา และเฉลิมพระชนมพรรษา ๕๗ พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
 
ครั้งที่สอง วันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ เสด็จมาประทับแรมที่พลับพลาในพระราชวังบ้านปืน เสด็จทรงร่วมในพระราชพิธีก่อพระฤกษ์พระตำหนักบ้านปืน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า-เจ้าอยู่หัวทรงปลูกต้นตะเคียน และโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรงปลูกต้นปีบ   พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ปลูกต้นไม้พระองค์ละต้น เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ ช่วงรัชสมัยของพระองค์ทรงเสด็จฯ มาประทับ ณ เมืองเพชรบุรี หลายครั้ง
 
พ.ศ. ๒๔๕๗
๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๗ เสด็จประพาสตัวเมืองเพชรบุรี และทอดพระเนตรกรีฑาของกองทหารราบที่ ๒๔ ต่อมาในวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๗  เสด็จทางไกลกองเสือป่าเสนาหลวงรักษาพระองค์ กองลูกเสือหลวงโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ตรงไปตำบลเขาย้อย อ้อมไปทางด่านทับตะโก จึงเดินทางกลับไปอำเภอจอมบึง และค่ายหลวงบ้านโป่ง
 
พ.ศ. ๒๔๕๙  
๒๔ เมษายน พระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมืองเพชรบุรี  ณ  พลับพลาทองในสนามกลางเมืองเพชรบุรี เชิงเขาวัง  (ปัจจุบันอัญเชิญเก็บรักษาไว้ที่สำนักงานคลังจังหวัดเพชรบุรี) โดยมีกระแสพระราชดำรัสว่า "เราขอให้พระแสง ซึ่งเป็นของที่เราใช้สอยอยู่เนืองๆ มอบไว้ขอให้ข้าราชการแลอาณาประชาชนเมืองเพ็ชร์ พร้อมกันรับพระแสงของเราเป็นเครื่องหมายแห่ง พระราชอำนาจ เพื่อใช้ปราบปรามเหล่าร้ายที่จะมาคิดย่ำยีพระราชอาณาจักร สำหรับปราบปรามคนพาลทุจริตที่จะคิดร้ายต่อประชาชนชาวเมือง นอกจากนี้ ให้เป็นเครื่องเตือนใจให้ข้าราชการผู้รับตำแหน่งปกครอง ราษฎรใช้อำนาจโดยยุติธรรม เพื่อให้ได้รับความศุขเสมอหน้ากันในหมู่ราษฎรชาวเมืองเพ็ชร์นี้ ส่วนน่าที่ของพลเมืองทั้งหลาย เมื่อได้รับความปกครองอยู่ร่มเย็นเปนศุขแล้ว เป็นน่าที่จงรักภักดีต่อตัวเราผู้เป็นเจ้านายของเจ้าทั้งหลาย โดยตั้งใจที่จะปฎิบัติตามพระราชกำหนดกฎหมาย เพื่อฟังคำตักเตือนของผู้ปกครอง ที่เราตั้งแทนตัวเช่นนี้จะนับว่าราษฎรทั้งหลาย ได้ช่วยรักษาพระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินและเป็นผู้สมควรรับพระแสงราชสาตราไว้ในเมืองนี้ต่อไป"
 
๙–๑๐ พฤษภาคม  เสด็จพระราชดำเนินทางรถไฟ ไปจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในคราวเสด็จพระราชดำเนินกลับพระนคร ทรงแวะประทับที่ พระราชวังบ้านปืน
 
พ.ศ. ๒๔๖๐
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินหัวเมืองปักษ์ใต้ เพื่อสำรวจคอคอดกระ ทรงประทับแรมที่พระราชวังรามราชนิเวศน์ (บ้านปืน) ทั้งเสด็จฯ ไปและเสด็จฯ กลับ
 
พ.ศ. ๒๔๖๑
๑๐ เมษายน เสด็จพระราชดำเนินจากกรุงเทพฯ โดยรถไฟพระที่นั่งพิเศษถึงสถานีเพชรบุรี เวลา ๕.๓๐ ทรงเสด็จประทับที่พระรามราชนิเวศน์ วันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๑  เสด็จไปประทับ ณ ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ   เมื่อคราวประชวรพระโรครูมาติซั่ม นายแพทย์ประจำพระองค์ได้กราบบังคมทูลแนะนำให้เสด็จประทับพักผ่อนที่ชายทะเล  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักค่ายหลวง  บางทะลุ
 
๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๑ เสด็จพระราชดำเนินค่ายหลวงบางทะลุ จังหวัดเพชรบุรี ประทับแรมที่พระราชวังบ้านปืนใน ในวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ เสด็จไปประทับแรมที่ค่ายหลวงบางทะลุ เสด็จประทับแรมที่พระราชวังบ้านปืนอีกครั้งหนึ่ง  หลังจากได้เสด็จประทับแรมที่ค่ายหลวงบางทะลุ ก่อนที่จะเสด็จกลับกรุงเทพฯ
 
๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ เสด็จประทับแรมที่พระราชวังบ้านปืน และในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม โปรดเกล้าฯ ให้ชาวเพชรบุรี ได้เข้าเฝ้าละอองธุลีพระบาทและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนพระยาพิไชยสุนทร ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี (ทอง  จันทรางศุ) เสด็จกลับจากเพชรบุรี กลับกรุงเทพฯ โดยรถไฟพิเศษ
 
พ.ศ. ๒๔๖๒
๒๙ เมษายน เสด็จประทับแรม ณ หาดเจ้าสำราญ ๑ คืน ก่อนที่จะเสด็จกลับกรุงเทพฯ
 
พ.ศ. ๒๔๖๕
๒๓ เมษายน เสด็จพระราชดำเนินเป็นครั้งสุดท้าย ทรงเสวยพระกระยาหารกลางวันที่พระรามราชนิเวศน์ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรชายา  ต่อมาเสด็จไปทรงพักผ่อนที่ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ
 
พ.ศ. ๒๔๖๖
๒๑ พฤษภาคม  เสด็จฯ ประทับค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ  โดยรถไฟพระที่นั่ง แล้วทรงประทับพระเก้าอี้หามไปยังชายฝั่งทะเลที่บางควาย ในการสร้างพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ประทับพลับพลาชั่วคราว ทอดพระเนตรเรือใบและละครชาตรีของคณะ “หม่อมเมือง”
 
พ.ศ. ๒๔๖๗ 
๑๒ เมษายน- ๒๐ มิถุนายน เสด็จฯ ประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบทในฤดูร้อน ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน

2022 © ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาราชภัฏเพชรบุรี