พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ (พ.ศ.๒๔๖๘-๒๔๗๗)

รูปภาพ

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

 
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ (พ.ศ.๒๔๖๘-๒๔๗๗)
พ.ศ.๒๔๖๗
เอกสารจดหมายเหตุฉบับแรกที่แสดงถึงพระราชประสงค์แห่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในการสร้างที่ประทับส่วนพระองค์ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ได้แก่   พระราชหัตถเลขาจากวังศุโขทัย ลงวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ โปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าอิทธิเทพสวรรค์ กฤดากร ผู้อำนวยการศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภาไปอำนวยการสร้างวังใหม่ที่ตำบลหัวหิน คือ วังไกลกังวล และตรวจการที่จะซ่อมแซมแก้ไขพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน (กรรณิการ์     ตันประเสริฐ, ๒๕๔๖: น. ๗-๑๐)
 
พ.ศ. ๒๔๗๕
อันเป็นปีที่กรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๑๕๐ ปี คณะราษฎร์ได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตยในช่วงที่เสด็จแปรพระราชฐาน ณ วังไกลกังวล
 
พ.ศ.๒๔๗๖
เสด็จแปรพระราชฐาน ณ วังไกลกังวล ได้เสด็จประพาสเพชรบุรี ช่วงเดือนพฤษภาคมศกเดียวกันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีเสด็จฯ ประพาสป่าต้นน้ำเพชร ซึ่งเป็นที่อยู่ของชาวกะเหรี่ยงบ้านสองพี่น้อง และประทับแรมอยู่ที่นั่นเป็นเวลาสามวันด้วยเต็นท์ที่ประทับ เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรบ้านเรือนของชาวกะเหรี่ยงและพระราชทานยารักษาโรคชาวกะเหรี่ยงต่างปลาบปลื้มยินดีที่ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินอย่างใกล้ชิดเป็นครั้งแรก ได้ถวายผลไม้ที่เขาปลูกและจัดฟ้อนรำเพลงกะเหรี่ยงถวายทั้งสามคืน ได้เสด็จฯลงสรงน้ำหน้าที่ประทับด้วย  ทรงพระสำราญก่อนเสด็จฯ กลับได้พระราชทาน “เสมาเงินป.ป.ร.”ด้วยพระหัตถ์แก่ช่างกะเหรี่ยงทุกคน (กัณฑาทิพย์ สิงหะเนติ, ๒๕๔๙: น.๕๕) ทอดพระเนตรต้นน้ำเพชรบุรี เสด็จฯ วัดมหาธาตุวรวิหาร ทอดพระเนตรการซ่อมแซมพระปรางค์ และพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ร่วมบูรณะพระปรางค์ จำนวนเงิน ๑,๕๐๐ บาท โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงศึกษาธิการใช้พระราชวังรามราชนิเวศน์เปิดเป็นโรงเรียนต่างๆ อาทิ โรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรม ต่อมาในเดือนตุลาคมศกเดียวกันได้เกิดกบฏบวรเดช กองทหารจังหวัดเพชรบุรี มีพระยาสุรพันธ์เสนี เทศาภิบาลมณฑลราชบุรี พันตรีหลวงสร สิทธยานุการ (สิทธิ์  แสงชูโต) ผู้บังคับการทหารบกราบที่ ๑๔ เพชรบุรี พระยาวิเศษฤาชัย (ม.ล.เจริญ  อิศรางกูล) ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีได้ประกาศกฎอัยการศึก เฉพาะจังหวัดเพชรบุรี และระดมทหารกองหนุนเพื่อถวายความปลอดภัยแก่รัชกาลที่ ๗ และพระบรมวงศานุวงศ์ต่อมาทั้งสามท่านนี้ได้ถูกจับกล่าวหาว่าเป็นกบฏ ขณะเกิดเหตุการณ์ทรงประทับอยู่ ณ วังไกลกังวล เป็นเหตุให้ทรงตัดสินพระทัยเสด็จออกจากวังไกลกังวลไปประทับที่จังหวัดสงขลา ราว ๑ เดือน จึงเสด็จฯ กลับกรุงเทพ
 
พ.ศ. ๒๔๗๗ 
ในวันที่  ๒ มีนาคม ทรงสละราชสมบัติและมิได้เสด็จกลับฯ ประเทศไทยอีกเลย ประทับที่ประเทศอังกฤษจวบจนเสด็จสวรรคต (เสยย์  เกิดเจริญ, ๒๕๔๐: น.๖๖)

2022 © ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาราชภัฏเพชรบุรี