พระราชาผู้ทรงธรรม

รูปภาพ
          พระราชปณิธานอันตั้งมั่น จากพระปฐมบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ความว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชาวสยาม” 

          คำว่า “แผ่นดิน” ปัจจัยส่วนประกอบของแผ่นดิน คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ (คือ “ธรรมชาติ”) และชีวิตของเรา ทรงรักษาดิน น้ำ ลม ไฟ หมายถึง ปัจจัยแห่งชีวิตไว้ให้เราและลูกหลานได้อยู่อย่างมีความสุข ตามพระราชปณิธานที่พระองค์รับสั่งไว้ว่า “เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”    “ในการทำงานกับฉัน จะวางโครงการที่ไหน จะทำกิจกรรมที่ใด ให้เคารพคำว่า ภูมิสังคม” 

          “ภูมิ” คือ ภูมิประเทศ สภาพแวดล้อมต่างๆ หรือเรียกแบบบ้านๆ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ  (แต่ละภาคนั้นมีภูมิประเทศที่ไม่เหมือนกัน) 

          “สังคม” คือ คนซึ่งเป็นคนในมิติที่มีขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อและค่านิยม ความคิดและการตัดสินใจของคนแต่ละพื้นที่ ดังนั้น ๒ สิ่งนี้มีความสำคัญมาก คือ  ภูมิประเทศและคน

ใช้ “ธรรม” ในการครองแผ่นดิน

          ทรงประกาศ Good Governance แล้ว ตระหนักถึงความสำคัญของคำว่า Good Governance หรือ ธรรมาภิบาลตามชาวต่างชาติ  พระองค์ตรัสว่า ธรรมะ คือ ความดี ความถูกต้อง หรือความยุติธรรม อยู่ใน “ทศพิธราชธรรม” หรือธรรมะของพระราชา ๑๐ ประการ  ธรรมที่ควรประพฤติ คือ จักรวรรดิวัตร ๑๒ สังคหวัตถุ ๔  “ทศพิธราชธรรม” คือ ธรรมของพระราชา ๑๐ ประการ หมายความว่า  พระราชาที่ดีทรงประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ จะให้ประเทศชาติจะมั่นคงและมีความสุขความสงบโดยถาวร ได้แก่ ทาน ศีล บริจาค ความซื่อตรง ความอ่อนโยน ความเพียร ความไม่โกรธ  ความไม่เบียดเบียน ขันติ ความเที่ยงธรรม

          ทรงเน้นย้ำแนวทางการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีตลอดจนใช้คุณธรรม+ความรู้และดำเนินชีวิตด้วยความเพียร เพื่อป้องกันให้รอดพ้นจากวิกฤตและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระราชทานให้ความสำคัญกับ “การพัฒนาคน” ในการดำเนินชีวิตอย่างมั่นคงบนพื้นฐานของการพึ่งตนเอง ความพอมีพอกิน การรู้จักพอประมาณการคำนึงถึงความมีเหตุผลการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีไม่ประมาท ตระหนักถึงความถูกต้องในหลักวิชามีคุณธรรม เป็นกรอบในการดำเนินชีวิตโดยมีแนวคิดในการทำงานคือ “เข้าใจ เข้าถึง และร่วมพัฒนา” อย่างสอดคล้องกับ “ภูมิสังคม” ที่หลากหลายของระบบภูมินิเวศ เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ประเพณี  เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน โดยประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจ เป็นการมุ่งสู่ “การพึ่งตนเอง” ดำเนินการด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง “ทำตามลำดับขั้นตอน” มีการทดลองด้วยความเพียร จนมั่นใจ จึงนำไปใช้ประโยชน์และเผยแพร่สู่สาธารณะ

การทำงาน  

          “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ตอบสนองความต้องการของประชาชน ทรงให้คำนึงถึงสภาพภูมิประเทศและสังคมวิทยาหรือที่ทรงเรียกว่า “ภูมิสังคม” พร้อมกับ“มุ่งพัฒนาคน”เพื่อให้การพัฒนาเป็นการ “ระเบิดจากข้างใน” โดยการสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนมีสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนา หรือปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทั้งนี้ทรงให้ยึดหลัก “การมีส่วนร่วม” ด้วยการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นโดยทรงให้ถือ “ประโยชน์ส่วนรวม”

          มุ่งผลสัมฤทธิ์ : ทรงมุ่งผลของความ “คุ้มค่า” มากกว่าความ “คุ้มทุน” ดังที่เคยมีพระราชกระแสว่า “ขาดทุนคือกำไร” การลงทุนที่ไม่คุ้มทุนแต่ให้ผลคุ้มค่า คือความอยู่ดีมีสุขของประชาชน ถือเป็นกำไรที่จำเป็นต้องลงทุน แม้การลงทุนนั้นจะไม่คุ้มทุนและไม่กลับมาเป็นตัวเงิน อีกทั้งยังมีลักษณะ “ไม่ติดตำรา”

          บริหารงานแบบประสานเชื่อมโยงกัน : ทรงประยุกต์นำความรู้แขนงต่าง ๆ มาทรงใช้เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศ ทรงศึกษาวิทยาการแต่ละประเภทอย่างลึกซึ้ง จนสามารถเข้าใจในวิทยาการเหล่านั้นและสามารถนำจุดดีจุดเด่นของความรู้ต่าง ๆ มา “ประสานเชื่อมโยง” ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพของประเทศ ทรงมีวิธีคิดอย่าง “องค์รวม” หรือมองอย่างครบวงจร ในการที่จะพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการหนึ่งนั้น จะทรงมองเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น และแนวทางแก้ไขอย่างเชื่อมโยงกัน จากนั้นพระองค์จะทรง “ทำตามลำดับขั้น”  ทรงเน้นการ “บริการรวมที่จุดเดียว” ในลักษณะบริการแบบเบ็ดเสร็จ

          เรียนรู้จากหลักธรรมชาติ : ทรงยึดธรรมะเป็นในการหาวิธีการแก้ปัญหาหรือแนวทางการพัฒนา เรื่องดิน น้ำ อาชีพ และสิ่งแวดล้อม คือ “ธรรมชาติ” ทรงศึกษา เรียนรู้หลัก “ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ” เพื่อนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ทรงมองปัญหาธรรมชาติอย่างละเอียด หากต้องการแก้ไขธรรมชาติจะต้องใช้ธรรมชาติเข้าช่วย อาทิการแก้ไขน้ำเน่าเสีย แทนที่จะทรงพิจารณาถึงโรงงานบำบัดน้ำเสียกลับทรงมองว่าในธรรมชาติจะมีขบวนการอะไรที่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้  เช่น การใช้บ่อตกตะกอน เพื่อให้เกิดการตกตะกอนขึ้นโดยกระบวนการทางธรรมชาติ นอกจากนี้ทรงใช้หลัก “การใช้อธรรมปราบอธรรม” ในการบำบัดน้ำเสีย ตลอดจนทรงอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืนโดยใช้วิธีการ “ปลูกป่าในใจคน” เป็นต้น

          “...ทฤษฎีใหม่...ยืดหยุ่นได้และต้องยืดหยุ่น เหมือนชีวิต ของเราทุกคน ต้องมียืดหยุ่น..."  พระราชทานทฤษฎีใหม่สำหรับเกษตรกรเพื่อเดินทางไปสู่ความพอเพียง สามารถก้าวข้ามอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดจากระบบทุนนิยม

          ชัยชนะแห่งการพัฒนา : การมุ่งสู่ “ชัยชนะแห่งการพัฒนา” จึงเป็นการพัฒนาและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร ให้มีความเจริญ และอยู่ดีกินดีโดย“ต่อสู้กับความยากจน”ของมวลราษฎรด้อยโอกาสในชนบทที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศให้พ้นจากความทุกข์ยากเมื่อประชาชนพ้นจากความทุกข์ยากสามารถพึ่งตนเองได้ก็จะมีอิสระและเสรีภาพ อันจะนำไปสู่การเป็น “ประชาธิปไตย”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระอัจฉริยภาพในการพัฒนาหลากหลายด้าน ซึ่งปรากฏแก่สายตาทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ นับตั้งแต่พระองค์ได้ทรงครองราชย์สมบัติ ได้ทรงมีพระราชกรณียกิจและทรงคิดค้นแนวปฏิบัติและทฤษฎีเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่พสกนิกรชาวไทย ทั่วทั้งแผ่นดินมาเป็นลำดับโดยพระองค์ได้คิดค้น ทฤษฎี องค์ความรู้ และหลักคิดเพื่อดำรงชีพ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เช่น “ทฤษฎีใหม่” ที่มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรที่มีที่ดินทำกินจำกัดและทำการเกษตรแบบผสมผสาน “ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง” ที่มุ่งเน้นให้ประชาชนพึ่งตนเองดำรงชีพอย่างสมดุลและเป็นไปตามวิถีชีวิตของคนไทยแต่อดีต นอกจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้คิดค้นหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ โดยเฉพาะภัยแล้งที่ประเทศไทยประสบเป็นประจำทุกปี ซึ่งพระองค์ได้ทรงศึกษาและค้นคว้าเพื่อใช้ประโยชน์จากน้ำในบรรยากาศ โดยให้ฝนตกนอกฤดู ที่ใช้ชื่อว่า “ฝนหลวง” หรือ “ฝนเทียม” โดยทฤษฎีดังกล่าวนี้ ได้เป็นที่ยอมรับของประเทศทั่วโลก

          นอกจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ ซึ่งพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัตินั้นล้วนแต่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเป็นล้นพ้น และสามารถแก้ไขปัญหาของสังคมไทยได้ ได้แก่ การแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ กังหันชัยพัฒนา เป็นการเติมอากาศออกซิเจนให้แก่น้ำ เป็นการลดความเน่าเสียของน้ำ และการแก้ไขปัญหาน้ำเสียที่อาศัยเทคโนโลยีธรรมชาติช่วยธรรมชาติ (โครงการศึกษา วิจัย และพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ) นอกจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ โดยได้มีพระราชดำริให้มีโครงการหลวง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ภูเขาทางภาคเหนือนับเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม มาใช้เพื่อการเพาะปลูก และพัฒนาอาชีพแก่ชาวไทยภูเขา

          นอกจากพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ต่อประชาชนชาวไทยแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังได้มีการปฏิบัติพระองค์ที่คนไทยได้ถือเป็นแนวปฏิบัติ โดยเฉพาะการทรงงานของพระองค์นั้นได้ดำเนินการในลักษณะสายกลางสอดคล้องกับสภาพรอบข้าง ละเอียดรอบคอบ และสามารถปฏิบัติได้ โดยเป้าหมายเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและยึดเป็นแบบอย่างในการเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท เพื่อประโยชน์ผลดีต่อตนเอง และประเทศชาติโดยรวม


2022 © ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาราชภัฏเพชรบุรี