ศิลปะการแทงหยวกเมืองเพชรบุรี

DSC_0231.jpg
Image_9.jpg
yuak.jpg
กาบหล้วย.jpg
การนุรักษ์-10.jpg
Image_7.jpg
การนุรักษ์-11.jpg
การนุรักษ์-12.jpg

Title

ศิลปะการแทงหยวกเมืองเพชรบุรี

Creator

ทวี นวมนิ่ม

Description

          ศิลปะการแทงหยวก เป็นงานฝีมือที่สร้างสรรค์โดยช่างผู้ชำนาญ ใช้วัสดุธรรมชาติที่หาง่าย ผลงานมีระยะเวลาในการคงอยู่ในระยะสั้น ๆ ไม่คงทนถาวร คามลักษณะของวัสดุ โดยเป็นการนำหยวกกล้วยมาฉลุลวดลายประดับตกแต่งในงานต่างๆ ทั้งงานมงคลและงานอวมงคล ได้แก่ งานบวช งานโกนจุก งานกฐิน ทําบุญขึ้นบ้านใหม่ งานพิธีทางศาสนา ทําบุษบกแห่พระวันออกพรรษา และ งานศพ เป็นต้น (กันยา อื้อประเสริฐ และเกษร แสนสุวรรณ์. 2549)

          ศิลปะการแทงหยวกเมืองเพชรบุรี เป็นศิลปะพื้นบ้านที่มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เข้ามาในเพชรบุรีตอนปลายของอยุธยา และพัฒนาสืบต่อกันเรื่อยมาทั้งรูปแบบและวิธีการจนกลายเป็นศิลปะของเพชรบุรี ซึ่งการผสมผสาน วิวัฒนาการ และการประยุกต์ศิลปะการแทงหยวกให้เป็นลักษณะของเพชรบุรี เป็นไปอย่างรวดเร็วและกลมกลืน เนื่องจากเพชรบุรีเป็นเมืองช่างศิลปะแต่ดั้งเดิม มีสกุลช่างต่าง ๆ มากมาย ซึ่งเป็นช่างพื้นเมืองที่ได้รับการเรียนรู้ถ่ายทอดกันในหมู่ของตน มีศูนย์รวมของช่างแต่ละสกุลอยู่ตามวัดต่าง ๆ เช่น สกุลช่างวัดใหญ่สุวรรณรามฯ สกุลช่างวัดเกาะ สกุลช่างวัดพระทรง สกุลช่างวัดยาง เป็นต้น (พูลสวัสดิ์ มุมบ้านเซ่า, 2543)

          เมื่อค้นหาความเป็นมาของงานแทงหยวกในพงศาวดาร พบว่า สยามประเทศ หรือประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นชาติแรกและชาติเดียวในโลก ที่มีงานช่างแทงหยวก ถือเป็นงานช่างของคนไทยโดยแท้จริง ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังไม่ปรากฏว่ามีชาติใดใช้งานแทงหยวกมาประกอบพิธีกรรมต่างๆ และคุณวิริยะ สุสุทธิ ในฐานะทายาทผู้สืบสานงานงานแทงหยวกสกุลช่างเมืองเพชรบุรีคนหนึ่ง ได้เป็นผู้ไปขอจดลิขสิทธิ์งานแทงหยวกไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้คนไทยภูมิใจว่า งานแทงหยวก ต้นกำเนิดมาจากเมืองไทยโดยแท้จริง

          และช่างแทงหยวกของเมืองเพชรบุรีหลายท่าน ได้มีโอกาสถวายงานตกแต่งพระจิตกาธานในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์หลาย ๆ พระองค์ อาทิ พิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, สมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนาฯ, สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นต้น

ความเป็นมาและความสำคัญ

          เมื่อค้นหาความเป็นมาของงานแทงหยวกในพงศาวดาร พบว่า สยามประเทศ หรือประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นชาติแรกและชาติเดียวในโลก ที่มีงานช่างแทงหยวก ถือเป็นงานช่างของคนไทยโดยแท้จริง ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังไม่ปรากฏว่ามีชาติใดใช้งานแทงหยวกมาประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ และคุณวิริยะ สุสุทธิ ในฐานะทายาทผู้สืบสานงานแทงหยวกสกุลช่างเมืองเพชรบุรีคนหนึ่ง ได้เป็นผู้ไปขอจดสิทธิบัตรงานแทงหยวกไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้คนไทยภูมิใจว่า งานแทงหยวก ต้นกำเนิดมาจากเมืองไทยโดยแท้จริง

          ความสำคัญของการแกะสลักหยวกกล้วยที่ปรากฎในวรรณคดี ขุนช้างขุนแผน เมื่อพระไวยกล่าวถึงการทำพี้ว่า ให้ขุดศพนางวันทองขึ้นมา แล้วกล่าวถึงการทำพิธีว่าสถานที่วางหีบศพนั้นตกแต่งอย่างสวยงามเเละวิจิตรพิสดารเป็นรูปภูเขา มีน้ำตกมีสัตว์ต่างๆ มีกุฏิพระฤษี มีเทวดา เช่น รามสูร เมขลา ที่ตั้งศพที่เป็นภูเขานี้เห็นจะเป็นประเพณีไทยที่เก่าเเก่ ที่ทำเช่นนั้นก็คงหมายถึงว่า เขาพระสุเมรุคงเป็นที่เทวดาอยู่ตรงกับสวรรค์  ผู้ตายนั้น ถือว่าจะต้องไปสวรรค์ เช่น พระเจ้าแผ่นดินตาย เรียกว่า “สวรรคต” จึงนิยมทำศพให้เป็นภูเขา พระสุเมรุหรือเมรุ คือ ทำที่ตั้งเป็นภูเขาทั้งสิ้น ต่อมาคงจะเปลี่ยนแปลงไป เช่น งานหลวงเล็กทำเป็นภูเขา เปลี่ยนทำเป็นเครื่องไม้เพราะอาจทำให้สวยงามให้เป็นชั้นลดหลั่นลงมาเป็นเหลี่ยมจะหักมุมย่อให้วิจิตรพิสดารอย่างใดก็ได้ เเต่เเม้จะเอาภูเขาพระสุเมรุ จริง ๆ ออกไปก็ยังคงเรียกเมรุตามที่เคยเรียกมา เมรุ จึงกลายเป็นที่ตั้งศพไป

          บ้างก็ว่าศิลปะการแทงหยวกเกิดขึ้นจากสมัยพระนเรศวรมหาราชล่าแผ่นดิน  ในสมัยก่อนช่างอันดับ  1  คือ  ช่างเหล็ก  อันดับ  2  คือช่างแทงหยวก  ไปรบที่ไหนก็ตายที่นั่น  เผาที่นั่น  ใช้ไม้ไผ่เป็นเชิงตะกอน  แล้วนําหยวก (ต้นกล้วย)  มาคุมเชิงตะกอนก่อนจะเผา  แล้วพัฒนาหยวกให้เกิดลวดลายที่สวยงาม  จนเกิดคุณค่าแห่งความงามต่อสังคมไทยเรา  ในการแทงหยวกจะช่วยพัฒนาสังคมในด้านจิตใจ  ให้คนเห็นคุณค่า  “ปรัชญา”  ความสดสวย  ไม่ช้าก็เหี่ยวแห้งเป็นธรรมดาตามหลักศาสนา

          ศิลปะการแทงหยวกในเพชรบุรี เป็นศิลปะพื้นบ้านที่มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เข้ามาในเพชรบุรีตอนปลายของอยุธยา และพัฒนาสืบต่อกันเรื่อยมาทั้งรูปแบบและวิธีการจนกลายเป็นศิลปะของเพชรบุรี ซึ่งการผสมผสาน วิวัฒนาการ และการประยุกต์ศิลปะการแทงหยวกให้เป็นลักษณะของเพชรบุรี เป็นไปอย่างรวดเร็วและกลมกลืน เนื่องจากเพชรบุรีเป็นเมืองช่างศิลปะแต่ดั้งเดิม มีสกุลช่างต่าง ๆ มากมาย ซึ่งเป็นช่างพื้นเมืองที่ได้รับการเรียนรู้ถ่ายทอดกันในหมู่ของตน มีศูนย์รวมของช่างแต่ละสกุลอยู่ตามวัดต่าง ๆ เช่น สกุลช่างวัดใหญ่สุวรรณรามฯ สกุลช่างวัดเกาะ สกุลช่างวัดพระทรง สกุลช่างวัดยาง เป็นต้น (พูลสวัสดิ์ มุมบ้านเซ่า, 2543)

          ศิลปะการแทงหยวกของเพชรบุรี แต่เดิมใช้ตกแต่งเมรุในพิธีเผาศพ ซึ่งเมรุที่ทำขึ้นเพื่อเผาศพของเพชรบุรีมีธรรมเนียมแตกต่างไปจากที่อื่น นิยมสร้างเมรุให้มีความวิจิตรสวยงาม ใช้เวลาสร้างเมรุเป็นเวลานาน การออกแบบก่อสร้างเป็นฝีมือของสกุลช่างเมืองเพชรบุรี การตั้งเมรุใช้โกศบรรจุแทนโลงศพ ในส่วนฐานเมรุลูกโกศจะมีการแทงหยวกประดับอย่างสวยงาม เป็นการทำคล้ายพิธีหลวงแห่งราชสำนัก ซึ่งความจริงสามัญชนไม่มีระเบียบปฏิบัติได้ เข้าใจว่าคนเพชรบุรีทำกันมานานจนเป็นประเพณีนิยม ซึ่งประเพณีการตั้งเมรุเผาศพกลางแจ้งแบบโบราณนี้ ในปัจจุบันยังนิยมสืบสานต่อกันมาแต่เป็นส่วนน้อย อันเนื่องมาจากค่าใช้จ่ายในการประกอบพิธีค่อนข้างสูงมาก ถ้าเปรียบเทียบกับการเผาศพในเมรุแบบถาวร ซึ่งมีอยู่ทั่วไปตามวัดต่าง ๆ นอกจากนี้ยังสามารถนำศิลปะการแทงหยวกไปใช้ในพิธีมงคลต่าง ๆ ได้ เช่น งานเข้าพรรษา ออกพรรษา กฐิน ผ้าป่า เทศกาลสงกรานต์ หรือประกอบตกแต่งสถานที่ในงานสำคัญต่างๆ แม้พิธีกรรมต่างๆ ในศาสนาคริสต์ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า งานแทงหยวกเป็นเอกลักษณ์ที่ยืนยันความเป็นไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ

          อีกทั้งช่างแทงหยวกของเมืองเพชรบุรีหลายท่าน ได้มีโอกาสถวายงานตกแต่งพระจิตกาธานในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์หลาย ๆ พระองค์ อาทิ พิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, สมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนาฯ, สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นต้น

          แต่ในปัจจุบันศิลปะการแทงหยวกนับวันก็จะหมดไปกับวัฒนธรรมเก่า  ประเพณีต่าง ๆ  โดยความเร่งรีบทางประเพณี  เวลา  วัฒนธรรมใหม่ ๆ  มาทําให้พิธีการนั้นต้องเร่งรีบตามกันไป  ศิลปะการแทงหยวกที่ใช้ประกอบตกแต่งเชิงตะกอนก็หมดไป เพราะมีงานศพต่างก็ต้องรีบ จัดงานให้เสร็จไป  มีความจําเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการอนุรักษ์ไว้  ทั้งประเพณีเดิม  วัฒนธรรมเดิม  สังคมวิถีชีวิตเดิม และศิลปะเดิมควบคู่กันไป  จะทําให้ศิลปะการแทงหยวกนั้นยังคงอยู่และมีให้เห็น โดยเฉพาะควรมีการส่งเสริมอย่างลึกในทุก ๆ ด้าน  ทั้งทางด้านตัวบุคคล องค์ภูมิปัญญาที่ต้องมีการดูแลและสนับสนุนให้องค์ภูมิปัญญาด้านการแทงหยวกมีชีวิตความเป็นอยู่ที่พอจะเป็นแหล่งความรู้ได้ดี

องค์ความรู้เกี่ยวกับการแทงหยวก

          หยวก คือ ลำต้นกล้วยที่นำมาลอกออกมาเป็นกาบหรือแกนอ่อนของลำต้นกล้วย มีสีขาว งานเเทงหยวกมักใช้หยวกหรือกาบกล้วยตานี เพราะมีสีขาวดีและไม่สู้ที่จะเปลี่ยนสีเร็วนัก หากไม่มีกล้วยตานีจริง ๆ ก็สามารถใช้กล้วยน้ำว้าก็ได้

          งานแทงหยวก คือ การนำเอากาบกล้วยมาทำให้เป็นลวดลายต่างๆ โดยวิธีแทงด้วยมีดเเทงหยวกใช้สำหรับการประดับตกเเต่งที่เป็นงานชั่วคราว ตัวอย่างเช่น การประดับเบญจารดน้ำ ประดับร้านม้าเผาศพ ประดับจิตรกาธารการเเกะสลัก หยวกกล้วยนั้นเดิมจะทำในพิธีโกนจุก และงานศพ

          การแทงหยวก เป็นวิชาความรู้ที่ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่อดีต โดยใช้วัสดุที่หาง่าย คือ ต้นกล้วย มาสร้างงานฝีมือ ซึ่งมักใช้ในงานมงคลต่าง ๆ อาทิ งานโกนจุก งานบวช งานกฐิน งานผ้าป่า งานเข้าพรรษา ออกพรรษา เทศกาลสงกรานต์ เป็นต้น ตลอดจนงานอวมงคล หรืองานศพ มักใช้การแทงหยวกกล้วยตกแต่งประดับประดาเมรุเผาศพ นอกจากนี้ยังใช้การแทงหยวกในการประกอบตกแต่งสถานที่ในงานสำคัญต่างๆ ในศาสนาคริสต์ และงานตกแต่งอื่นๆ สืบทอดกันมาหลายร้อยปี

          การสลักหยวกหรือการแทงหยวก เป็นงานฝีมือช่างประเภทหนึ่งที่อยู่ในช่างสิบหมู่ ประเภทช่างสลักของอ่อน ย้อนหลังไปประมาณ 20-30 ปี ขึ้นไป มีประเพณีที่เกี่ยวกับการแทงหยวกกล้วยอยู่ 2 อย่าง คือ การโกนจุกเเละการเผาศพ (โดยเฉพาะศพผู้ที่มีฐานะปานกลาง) งานโกนจุกหรือประเพณีการโกนจุก จะมีการจำลองเขาพระสุเมรุ ตามความเชื่อ เเล้วตกเเต่งภูเขาด้วยรูปสัตว์ต่างๆ ส่วนภูเขาพระสุเมรุจะตั้งอยู่ตรงกลางร้านม้า ซึ่งทำโครงสร้างด้วยไม้เเล้วหุ้มด้วยหยวกกล้วยเเกะสลักเป็นลวดลายต่างๆ ประเพณีการเผาศพก็เช่นกัน จะทำ ร้านม้า ซึ่งทำโครงสร้างด้วยไม้แล้วประดับด้วยหยวกกล้วยแกะสลักอย่างงดงาม

          ในปัจจุบัน คำว่า “ร้านม้า” จะไม่ค่อยได้ยินบ่อยนักหรือบางคนอาจจะไม่เคยได้ยินเลยก็ว่าได้ หรือ อาจจะได้ยินแล้วก็ตีความตามรูปคำไปเลยว่าเป็นที่ม้าอยู่อาศัยหรือที่เลี้ยงม้า ขายม้า จึงขอนำเสนอเรื่องร้านม้า เเละการสลักหยวกกล้วย (เเทงหยวก)

          การสลักหยวกหรือการแทงหยวกนั้น ผู้ที่เป็นช่างจะต้องได้รับการฝึกหัดจนเกิดความชำนาญพอสมควร เพราะการสลักหยวกกล้วยนั้นช่างจะไม่วาดลวดลายลงไปก่อน จับมีดได้ก็ลงมือสลักกันเลยทีเดียว จึงเรียกตามการทำงานนี้ว่า “การแทงหยวก” ประกอบกับมีดที่ใช้มีปลายเเหลม เมื่อพิจารณาดูเเล้วก็เหมาะสมที่จะเรียกว่า “แทงหยวก” ต่อมามีการศึกษาวิจัยงานแทงหยวกและผู้วิจัยเสนอให้ใช้คำเรียกขานงานแทงหยวกว่า "จำหลักหยวก"

เอกลักษณ์การแทงหยวกของช่างเมืองเพชรบุรี

          ความเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะการแทงหยวกจังหวัดเพชรบุรี เป็นองค์ความรู้ที่เกิดจากการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น มีความเป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากที่อื่น คือ การแทงหยวกแบบฟรีแฮนด์ สามารถแทงหยวกได้โดยไม่ต้องวาดลวดลายลงบนกาบกล้วย การนําลักษณะของธรรมชาติมาดัดแปลงเป็นลวดลายในการแทงหยวก การประยุกต์ใช้สีเคมีทําการแรลาย และการแกะสลักเครื่องสดมาประดับตกแต่งให้เกิดความสวยงาม (ดวงจันทร์ สุสุทธิ. 2551) 

          ตามคํากล่าวของช่างประสม สุสุทธิ ที่ว่า เอกลักษณ์การแทงหยวกของเมืองเพชร ช่างแทงหยวกต้องมีการเรียนรู้ลวดลายที่จะแทงหยวกให้อยู่ในความทรงจําอย่างแม่นยํา เวลาปฏิบัติการแทงหยวก จะไม่ต้องใช้แบบลวดลายไปวางไว้บนหยวก ช่างแทงหยวกทุกคนสามารถแทงลวดลายต่างๆ แบบฟรีแฮนด์ได้เป็นอย่างดี 

          คํากล่าวของช่างเลี่ยม เครือนาค ได้กล่าวว่า เอกลักษณ์การแทงหยวกของเมืองเพชร แตกต่างจากที่อื่น คือ การแทงหยวกแบบฟรีแฮนด์ ช่างสามารถแทงหยวกได้เลย โดยไม่ต้องวาดลายก่อน ฝึกฝนโดยการเขียนลายไทยให้คล่องก่อนแล้วแทงหยวกได้เลย 

          ช่างสาลี่ แสนสุด กล่าวว่า การแทงหยวกของจังหวัดเพชรบุรีที่แตกต่างจากที่อื่น คือ ช่างต้องรู้ลายและจําลายไทยได้อย่างแม่นยําพร้อมที่จะแทงลวดลายบนหยวก(กาบกล้วย) ได้โดยมิต้องเขียนลวดลายหรือลอกลายใส่ลงไปบนหยวก ฉะนั้นจึงถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นซึ่งไม่มีใครหรือจังหวัดใดทําได้เช่นนี้ และลวดลายที่ใช้ในการแทงหยวกจะมีการดัดแปลง และประยุกต์นําลายไทยมาใช้ โดยใช้การเลียนแบบธรรมชาติ มาสร้างสรรค์ลายบนหยวกให้เกิดความสวยงาม และเป็นแบบเฉพาะ เป็นเอกลักษณ์ของช่างแทงหยวกเมืองเพชรบุรี

          ช่างวิริยะ สุสุทธิ ได้กล่าวว่า มีการประยุกต์ลายที่ใช้ในการแทงหยวก โดยการเลียนแบบธรรมชาติ เป็นลายธรรมชาติ ซึ่งมีความอ่อนช้อยงดงาม โดยได้จากเถาไม้เลื้อยนํามาดัดแปลงเป็นลายกนกเปลว สาหร่ายหรือปะการังใต้ทะเลนํามาดัดแปลงเป็นลายกนกสาหร่าย ลายรักร้อยได้มาจากดอกรักที่นํามาร้อยเป็นพวงมาลัย แม้กระทั่งพุ่มหางสัตว์ เช่นหางสิงโตนํามาดัดแปลงเป็นลายหางโต หรือจากใบไม้ เช่น ใบเทศนํามาดัดแปลงเป็นลายกนกใบเทศ และลายต่างๆ อีกมากมายประกอบด้วย ลายเกสรกระจังรวน ลายกระจังปฏิญาณ และลายกลีบบัวที่ช่างแทงหยวกได้นํามาดัดแปลงจนเกิดเป็นลายเฉพาะของช่างแทงหยวกเมืองเพชรบุรีที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มาประกอบกับลายดั้งเดิม คือ ลายฟันปลา ลายฟันสาม และลายฟันห้า นอกจากนี้ยังมีลวดลายที่ใช้ประกอบการแทงหยวก เช่น ลายหน้ากระดานรักร้อย ลายหน้ากระดานรัดเกล้า ลายหน้ากระดานกนกเปลว ลายหน้ากระดานลูกฟักก้ามปู ลายเถา ลายกนกใบเทศ ลายเสาต่อยอด ลายเสาหางโตซึ่งช่างจะต้องมีความชํานาญในการแทงลวดลายเป็นพิเศษที่จะต้องวางลวดลายให้อยู่บนกาบกล้วยที่มีพื้นที่จํากัด อันเป็นจุดเด่นเฉพาะของเมืองเพชร อีกทั้งประยุกต์ลายน่องสิงห์พัฒนาเป็นลายสาหร่ายประกอบการทําเสา เกิดความแปลกตาละเอียด อ่อนช้อย สวยงาม (ดวงจันทร์ สุสุทธิ. 2551)

วัสดุและอุปกรณ์ในการแทงหยวก ประกอบด้วย

1. หยวก

ใช้หยวกจากต้นกล้วยตานี เพราะไม่แตกง่าย ปัจจุบันต้นกล้วยตานีหายาก และมีขนาดไม่เหมาะสมสำหรับใช้งาน จึงนิยมใช้ต้นกล้วยน้ำว้าแทน โดยต้องเป็นต้นกล้วยน้ำว้าสาว คือต้นกล้วยที่ยังไม่มีเครือ หรือยังไม่ออกหวีกล้วย ต้นกล้วยจะอ่อนแทงลวดลายได้ง่าย

2. มีดแทงหยวก

โดยการตีดิบ ไม่ต้องเอาไปเผาไฟ มีความคมทั้งสองด้าน ปลายแหลมคม ส่วนด้ามจับก็ทำตามความถนัดของช่างแต่ละคน

3. มีดปาด

สำหรับการตกแต่งมุมหยวกกล้วย และตัดหยวกให้เกิดความสวยงาม

4. กระดาษสีอังกฤษ

ใช้สำหรับรองรับลวดลายต้นกล้วยให้ปรากฏชัดเจน

5. ตอก

ใช้สำหรับประกอบหยวกเข้าเป็นส่วนต่าง ๆ

6. ไม้กลัด

สำหรับยึดเหนี่ยวหยวกกับโครงสร้างเนื้ออ่อน

 

ขั้นตอนการแทงหยวกกล้วย

  1. การไหว้ครู เพื่อรำลึกถึงครูอาจารย์ มีธูป 3 ดอก เทียนขี้ผึ้ง 1 เล่ม ดอกไม้ 3 สี สุรา 1 ขวด ผ้าขาวม้า 1 ผืน เงินค่าครู 142 บาท หรือขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมความเชื่อของคนในแต่ละท้องถิ่นซึ่งอาจมีขั้นตอนการไหว้ครูไม่เหมือนกัน
  2. เลือกต้นกล้วยตานีหรือต้นกล้วยน้ำว้าต้นสาว ๆ คือ ต้นกล้วยที่ยังไม่ออกผล ถ้าออกปลี ออกลูกแล้วจะใช้ไม่ได้ เพราะกาบกล้วยจะกรอบเปราะหักง่าย แต่ถ้าเป็นต้นกล้วยที่ยังสาว ๆ ไม่มีลูกกาบกล้วยจะอ่อนเหนียวไม่หักง่าย ต้องเลือกต้นใหญ่พอสมควร ร้านม้าเผาศพทั่วไปจะใช้ประมาณ 10 ต้น ต่อร้านม้า 1 ครั้ง
  3. เมื่อได้ต้นกล้วยมา ก็จะลอกกาบกล้วยออกเป็นกาบๆ จนถึงแกนของลำต้นให้เหลือประมาณ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5-3 นิ้ว เอาไว้ทำฐานล่างเมื่อลอกกาบกล้วยออกมาแล้วก็ต้องคัดขนาด คือกาบใหญ่ๆ รอบนอกก็เอาไว้สำหรับแทงลาย ต่าง ๆ ส่วนกาบเล็ก ๆ ก็ใช้ทำอกกลาง 
  4. แทงลวดลายบนหยวกกล้วยให้เป็นลวดลายต่าง ๆ ควรมีการวางแบบและพุดคุยกันในกลุ่มช่างแทงหยวกก่อนว่า จะมีรูปแบบในภาพรวมอย่างไร แล้วค่อยแบ่งหน้าที่กันแทงหยวกตามความถนัดของช่าง วิธีการแทงหยวกให้เกิดลวดลายต่าง ๆ เป็นงานที่ต้องอาศัยความชำนาญ มิฉะนั้นจะเกิดความเสียหายได้ง่าย สิ่งที่ควรคำนึงคือ การจับมีด ต้องให้มีดตั้งฉากกับหน้าตัดของหยวก จะทำให้รอยตัดตั้งฉากสวยงาม ดังรูป 

 ซึ่งการแทงหยวกมีลวดลายไม่กี่ชนิด อาทิ

  • ลายฟันหนึ่ง หรือฟันปลา แทงหยวกด้วยมีดฉลุที่คมทั้งสองด้านและปลายแหลมคมในลักษณะขึ้นลง ๆ ในลักษณะซิกแซก แทงหยวกเดินหน้าและถอยหลัง แนวตรงในระยะห่างที่เท่า ๆ กัน โดยใช้แนวเส้นหยวกกล้วยเป็นแนวหลัก ใช้เป็นลายประกอบได้เยอะมาก
  • ลายฟันสาม หรือกระจังฟันสาม หรือลายกระชังตาอ้อย มีรูปแบบมาจากลายตาอ้อย ใช้ประกอบลายในพิธีของสามัญชนจนถึงขุนนางชั้นผู้ใหญ่ รวมไปถึงพระบรมวงศานุวงศ์ด้วย
  • ลายฟันห้า มัลีกษณะคล้ายลายฟันสามแต่ละเอียดกว่าในเรื่องของหยักลาย ใช้ในพิธีสำคัญ ๆ ต่าง ๆ ใช้ประกอบลายบนฉัตร หรือชั้นบนเหนือหีบศพ

 

  • ลายกระจังหู หรือลายกระจังปฏิญาน เป็นลายประยุกต์ที่ใช้ประกอบกับลายฟันสามและลายฟันหนึ่ง ไม่นิยมใช้กับส่วนที่เป็นฐาน เนื่องจากลายกระจังรวนเป็นลายแบบบัวคว่ํา นิยมใช้กับส่วนบนและส่วนกลางเท่านั้น มีหลายชนิด เช่น กระจังรวน กระจังใบเทศ เป็นต้น
  • ลายกระจังรวน เป็นลายประยุกต์ที่คิดขึ้นใหม่ในยุคหลังแตกต่างจากลวดลายที่มีมาแต่โบราณ ไม่เพียงแต่เพิ่มความงดงามของการแทงหยวก แต๋เป็นการอวดฝีมือของช่างแทงหยวกแต่ละคนอีกด้วย
  • ลายหน้ากระดานแนวนอน ใช้ประกอบส่วนคาน ฐานชั้นล่าง และชั้นประกอบฉัตร ลวดลายพัฒนาจากลายเครือเถาที่นำมาผูกกันและเลื้อยออกไปทั้งสองด้าน ช่างแทงหยวกจะต้องแทงให้เท่ากันทั้งด้านซ้ายและขวา
  • ลายเสา เป็นลายที่ใช้ประกอบส่วนตัวเสา อาจมีลักษณะคล้ายกับลายหน้ากระดานแนวนอน เพียงแต่ต้องเริ่มจากข้างล่างขึนข้างบน เปรียบเสมือนต้นไม้ที่โต จะต้องเริ่มจากพื้นดินสู่เวหา
  • ลายน่องสิงห์ เป็นลายที่ลอกเลียนแบบจากน่องสิงห์ในงานปูนปั้นต่าง ๆ ที่พบเห็นได้ทั่วไป ซึ่งสิงห์เป็นสัตว์ป่าหิมพราน
  • ลายสาหร่ายน่องสิงห์ พัฒนาการมาจากลายน่องสิงห์ เพิ่มความพริ้วไหวของตัวลายกนกเข้าไป เปรียบเสมือนสาหร่ายที่พริ้วไหวในท้องทะเล ใช้เป็นลายประกอบเสาแนวตั้งทั้งหมด
  • ลายหลังนาค เป็นลายที่แทงมาเพื่อเพิ่มความน่าสนใจของลายฟันหนึ่ง มีลักษณะคล้าย ลายน่องสิงห์ แต่มีความละเอียดอ่อนมากกว่า
  1. การประกอบเป็นลายชุด เมื่อทำลวดลายต่างๆ ได้เพียงพอตามความต้องการเเล้วถึงขั้นตอนการประกอบหยวก เพื่อให้งานมีสีสันสดใส อาจใช้กระดาษสีมันวาวหรือกระดาษสีอังกฤษประกอบเป็นพื้นบนหยวกเรียกว่า “พนัง” จะส่งผลให้ลวดลายปรากฎเด่นชัดยิ่งขึ้น โดยพนังจะคัดเลือกกาบกล้วยที่อยู่ด้านนอก
  2. นำหยวกที่ประกอบลายแต่ละส่วนแล้วไปประดับตกแต่งตามโครงสร้างต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ เพื่อทำเป็นเสาล่าง พรึง เสาบน รัดเกล้าเเละฐานล่าง โดยใช้ตอกผิวไม้ไผ่เย็บให้ติดกัน เเล้วติดเเต่งมุมให้เรียบร้อยเป็นอันเสร็จ

แนวทางการอนุรักษ์ศิลปะการแทงหยวก

  1. การใช้คำเรียกขานชื่องานแทงหยวก ควรใช้คำว่า "จำหลักหยวก" แทนคำว่า "แทงหยวก" ซึ่งมีความหมายเช่นเดิม แต่เมื่อได้ยิน ได้ฟัง ได้เห็น ก็จะเกิดสุนทรีย
  2. ควรบรรจุรายวิชาการจำหลักหยวกลงในหลักสูตรของนักเรียน นักศึกษา ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา ตลอดจนอุดมศึกษา
  3. ควรเชิญช่างฝีมือพื้นบ้านหรือช่างจำหลักหยวกผู้มีความเชี่ยวชาญมาเป็นวิทยากรพิเศษให้แก่สถานศึกษา
  4. ครู อาจารย์ ผู้สอนทางด้านศิลปะ ควรใฝ่รู้ในศิลปะวิทยาการท้องถิ่นอันเป็นภูมิปัญญาของชาติ
  5. ควรมีสถานที่จัดแสดงผลงานของช่างฝีมือและผู้สนใจ อาทิ หอศิลป์, ศูนย์เรียนรู้, พิพิธภัณฑ์, โรงละคร ตลอดจนกิจกรรม/งานต่าง ๆ ทางวัฒนธรรม เป็นต้น
  6. จัดการประกวด การคัดสรร และการยกย่องผู้มีผลงานดีเด่น เป็นการประกาศเกียรติคุณของคนดีมีฝีมือ
  7. เผยแพร่องค์ความรู้ด้านการจำหลักหยวกในรูปแบบต่าง ๆ อย่างถูกต้อง ครบถ้วน ตามช่องทางต่าง ๆ อาทิ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อมัลติมีเดีย, เว็บไซต์, โทรทัศน์, วิทยุกระจายเสียง, Socials Network ต่าง ๆ ตลอดจนการบรรยายและการสาธิต
  8. จัดหาและเชื่อมโยงแหล่งสร้างเครื่องมือการจำหลักหยวก
  9. ส่งเสริม สนับสนุนงานออกแบบสร้างสรรค์และงานวิจัยต่อยอดการสร้างสรรค์ผลงานหรือผลิตภัณฑ์จากการจำหลักหยวก ให้เหมาะกับสังคมปัจจุบัน

ศิลปินหรือช่างผู้สืบสานงานแทงหยวกเพชรบุรี

  1. นายพิณ อินฟ้าแสง (พ.ศ. 2438-2515) โดยครูหวน ตาลวันนา เป็นผู้ครอบครูและให้การแนะนำ
  2. นายเทศ ลอยพโยม (พ.ศ. 2450-2531) เป็นศิษย์ของพระอาจารย์เป้า ปัญโญ แห่งวัดพระทรง
  3. นายประสม สุสุทธิ (พ.ศ. 2464-2554) ครูช่างผู้ฟื้นฟู รวบรวมช่างและอนุรักษ์งานแทงหยวก เป็นศิษย์ของครูเลิศ พ่วงพระเดช และพระอาจารย์จันทร์ ศุภโร แห่งวัดมหาสมณาราม
  4. นายเลี่ยม เครือนาค (พ.ศ. 2472-2555) ครูช่างแทงหยวก
  5. นายหอม วงศ์ทองดี (พ.ศ. 2477) ครูช่างแทงหยวก
  6. นางสาลี่ แสนสุด
  7. ร.ต. เสนีย์ สุสุทธิ
  8. นายอเนก สุสุทธิ
  9. นายพิษณุ สุสุทธิ
  10. นายจักรี สุสุทธิ
  11. นายสงกรานต์ สุสุทธิ
  12. นายพัฒนา สุสุทธิ
  13. นายศานิต สุสุทธิ
  14. นายวิริยะ สุสุทธิ (พ.ศ 2513-ปัจจุบัน)
  15. นายสุรชัย จุ้ยมี
  16. นายสุพจน์ วงศ์ทองดี
  17. นายมุธิชัย จันพุฒ

Subject

แทงหยวก
ทัศนศิลป์
ภูมิปัญญาท้องถิ่น
ศิลปกรรม
ช่างสิบหมู่
สกุลช่างเมืองเพชร

Coverage

เพชรบุรี

Date

15 พ.ค. 2562

Type

text

Language

tha

Relation

อ้างอิง

หนังสือภายในห้องสมุด

  • พูลสวัสดิ์ มุมบ้านเซ่า. (2543). ศิลปะการแทงหยวก. กรุงเทพฯ : คณะศิลปกรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
  • สุนันท์ นีลพงษ์. (2549). กระบวนการปรับใช้งานจำหลักหยวกประกอบเครื่องสดในงานมงคล. เพชรบุรี : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี.
  • วิทยาลัยครูเพชรบุรี สหวิทยาลัยทวารวดี. (2537). เอกสารประกอบการพิจารณาเพื่อเสนอให้ปริญญากิตติมศักดิ์สาขาวิชาศิลปะศาสตร์ สายศิลปกรรมศาสตร์และศิลปะประยุกต์ โปรมแกรมวิชาศิลปกรรม. เพชรบุรี : วิทยาลัยครูเพชรบุรี.
  • พระราชทานเพลิงศพ ผศ.บัวไทย แจ่มจันทร์. (2542). ช่างเมืองเพชร. เพชรบุรี : เพชรภูมิการพิมพ์.
  • สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเพชรบุรี. (2539). สถาปัตยกรรมเรือนยอดจังหวัดเพชรบุรี. เพชรบุรี : สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเพชรบุรี.

เว็บไซต์

  • ห้องสมุดเมืองเพชร (2553). การแทงหยวกภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านศิลปะ. สืบค้น 12 ก.พ. 2562. จาก  https://www.muangphet.com/library/tangyuak/index.html

สื่ออิเล็กทรอนิกส์

  • กันยา อื้อประเสริฐ และเกษร แสนสุวรรณ์. (2549). ศิลปะการแทงหยวกของเพชรบุรี. นครปฐม : หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  • ดวงจันทร์ สุสุทธิ. (2551). ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านศิลปะการแทงหยวกจังหวัดเพชรบุรี. สารนิพนธ์ กศ.ม. (ธุรกิจศึกษา). กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

วีดีโอที่เกี่ยวข้อง

Rights

สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เป็นหน่วยงานทางการศึกษาไม่แสวงหาผลกำไร - ใช้สำหรับการศึกษา ค้นคว้า วิจัยเท่านั้น