พระบรมราโชวาท : ต้องศึกษาเพื่อให้เกิด “ความฉลาดรู้”
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
พิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สําเร็จการศึกษาจากสถาบันราชภัฏ
ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร (พ.ศ. 2537)

รูปภาพ

            พระบรมราโชวาท สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สําเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยครู ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันอังคาร ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2537

             ต้องศึกษาเพื่อให้เกิด “ความฉลาด” ความรู้นั้นสำคัญยิ่งใหญ่ เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดความฉลาดสามารถและความเจริญก้าวหน้า มนุษย์จึงใฝ่ศึกษากันอย่างไม่รู้จบสิ้น แต่การเล่าเรียนความรู้นั้น แม้จะเรียนได้สูงเพียงใด มีเทคโนโลยีอันทันสมัยใช้มากอย่างไร หากเรียนไม่ถูกถ้วน ก็อาจไม่ช่วยให้ฉลาดหรือเจริญแท้จริงได้ การศึกษาหาความรู้จึงสำคัญตรงที่ว่า ต้องศึกษาเพื่อให้เกิด “ความฉลาดรู้” คือรู้แล้วสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง ๆ โดยไม่เป็นพิษเป็นโทษ

             การศึกษาเพื่อความฉลาดรู้ มีข้อปฏิบัติที่น่ายึดเป็นหลักอย่างน้อยสองประการ 

             ประการแรก เมื่อจะศึกษาให้รู้สิ่งใด ควรจะได้ศึกษาได้ตลอดครบถ้วนทุกแง่มุม ไม่ใช่เรียนรู้แต่เพียงบางส่วนบางตอน หรือเพ่งเล็งเฉพาะแต่เพียงบางแง่บางมุม 

             อีกประการหนึ่ง ซึ่งต้องถือปฏิบัติพร้อมกันไปด้วยเสมอ คือ ต้องพิจารณาศึกษาเรื่องนั้น ๆ ด้วยความคิดจิตใจที่ตั้งมั่นเป็นปรกติ และเที่ยงตรงเป็นกลาง โดยไม่ยอมให้รู้เห็นหรือเข้าใจตามอำนาจความเหนี่ยวนำของอคติ ไม่ว่าจะเป็นอคติฝ่ายชอบหรือฝ่ายชัง มิฉะนั้น ความรู้ที่เกิดขึ้น จะไม่เป็นความรู้แท้ หากแต่เป็นความรู้ที่ถูกอำพรางไว้ ให้คลาดเคลื่อนวิปริตไปต่าง ๆ จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์จริง ๆ โดยปราศจากโทษมิได้ 

              บัณฑิตทั้งหลายได้ชื่อว่าเป็นผู้มีปัญญา เป็นนักศึกษาค้นคว้า ขอให้มีหลักในการเรียนรู้ อย่างน้อยก็ตามที่ได้กล่าว คือจะศึกษาสิ่งใด ก็พยายามพิจารณาศึกษาให้หมดจดทุกแง่ทุกมุม ด้วยจิตใจที่เที่ยงตรงเป็นกลาง จึงจะได้รับประโยชน์จากการศึกษาค้นคว้าสมบูรณ์บริบูรณ์ดังประสงค์

 

 

พระบรมราโชวาท สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สําเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยครู ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันอังคาร ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2537


2022 © ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาราชภัฏเพชรบุรี