พระบรมราโชวาท : กระบวนการคิดวินิจฉัยปัญหาเชิงวิทยาศาสตร์
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
พิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สําเร็จการศึกษาจากสถาบันราชภัฏ
ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร (พ.ศ. 2535)

รูปภาพ

         พระบรมราโชวาท สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สําเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยครู ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันพุธ ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 (ภาคบ่าย)

         กระบวนการคิดวินิจฉัยปัญหาเชิงวิทยาศาสตร์ การที่กรมฝึกหัดครูมีนโยบายเร่งรัดให้วิทยาลัยครูเร่งรัดผลิตบุคลากรสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม ความก้าวหน้าทางวิชาการและเทคโนโลยี เพื่อสนองความต้องการของตลาดแรงงานนั้น ถือได้ว่าเป็นการขยายงานของวิทยาลัยครูให้กว้างขวาง และเปิดโอกาสให้นักศึกษามีโอกาสได้เลือกเรียนตามความถนัดและสนใจ ซึ่งเป็นที่น่ายินดี

        บัณฑิตเป็นผู้มีพื้นฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่แล้ว น่าจะได้นำกระบวนการคิดวินิจฉัยปัญหาเชิงวิทยาศาสตร์ไปใช้ประกอบความคิดในการทำงานให้มาก จักได้เกื้อกูลให้แต่ละคนประสบความสำเร็จได้แน่นอน การใช้ความคิดของบุคคลนั้นอาจพูดได้ว่ามีอยู่สามระดับ 

        ระดับแรก เป็นการคิดตัดสินปัญหาตามความพอใจไม่อาศัยกฎเกณฑ์ ย่อมมีโอกาสผิดพลาดได้มาก 

        ระดับที่สอง เป็นการใช้ประสบการณ์หรือความเคยชินเป็นเกณฑ์พิจารณาตัดสิน ซึ่งแม้จะดีกว่าระดับแรก แต่ก็อาจถูกหรือผิดได้เท่า ๆ กัน 

        ระดับที่สาม เป็นการวินิจฉัยตัดสินด้วยหลักเกณฑ์และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ คือมีการวิเคราะห์วิจารณ์อย่างถี่ถ้วนเป็นระบบ ด้วยหลักวิชาและเหตุผลให้จนประจักษ์ความจริงทุกด้าน ซึ่งช่วยให้สามารถตัดสินปัญหาได้ถูกต้องเที่ยงตรง 

ท่านทั้งหลายจึงควรเข้าใจและเล็งเห็นคุณค่าของความรู้ความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ตามนัยที่กล่าว และนำมาปฏิบัติให้เคยชิน ให้สมกับที่เป็นบัณฑิต


2022 © ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาราชภัฏเพชรบุรี