เกษตรทฤษฎีใหม่
องค์ความรู้ศาสตร์พระราชา ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ (กลางน้ำ)

รูปภาพ

           เป็นการบริหารจัดการทรัพยากรดินและน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยแบ่งแปลงที่ดินออกเป็นสัดส่วน ได้แก่ สระน้ำ นาข้าว พืชไร่ไม้ผล และที่พักอาศัยรวมทั้งคอกสัตว์และพื้นที่ปลูกผักสวนครัว ที่สำคัญคือการมีแหล่งน้ำสำรองในที่ดินของตนเองเพื่อใช้ในช่วงฤดูแล้ง หากอยู่ใกล้กับอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนก็สามารถรับน้ำที่มาเติมได้ ตามแนวพระราชดำริอ่างใหญ่เติมอ่างเล็ก อ่างเล็กเติมสระน้ำ อย่างไรก็ตามการแบ่งสัดส่วนของที่ดินมีความยืดหยุ่นไปตามสภาพภูมิศาสตร์ของแต่ละภูมิภาค ศึกษาเพิ่มเติมจากโครงการพระราชดำริในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ ดังนี้

  • โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ บ้านหนองคอกไก่ ต. เขากระปุก อ. ท่ายาง จ. เพชรบุรี ติดต่อ โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ โทรศัพท์ 0-3247-2701, 0-3247-2703 โทรสาร 0-3247-2702 หรือทางอีเมล์ chmrpth@gmail.com 

  • ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต. สามพระยา อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี โทรศัพท์ : 0-3259-3252-3 โทรสาร : 0-3259-3252

  • โครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หมู่ที่ 6 ต. สามพระยา อ. ชะอํา จ. เพชรบุรี ติดต่อ มูลนิธิชัยพัฒนา โทรศัพท์/โทรสาร 0-3259-3100

  • โครงการศูนย์สาธิตพืชไร่และพืชสวนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต. ท่าแร้ง อ. บ้านแหลม จ. เพชรบุรี ติดต่อ ศูนย์สาธิตพืชไร่และพืชสวนเพชรบุรี ต. ท่าแร้ง อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี โทรศัพท์ 0-3240-1560 หรือศูนย์วิจัยพืชสวนเพชรบุรี อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี  โทรศัพท์ 0-3259-4067-8 โทรสาร 0-3259-4067

  • โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง หมู่ที่  8 และ 10 ต. เขาใหญ่ อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี ติดต่อ ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง  อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี 76120 โทรศัพท์ 0-3247-1100 โทรสาร 0-3247-1543 หรือที่ สหกรณ์จังหวัดเพชรบุรี โทร. 0-3242- 5260 ต่อ 12

  • โครงการตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย หมู่ที่ 5 ต. ดอนขุนห้วย อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี และหมู่ที่ 5, 6 ต. ท่าคอย อ. ท่ายาง จ. เพชรบุรี ติดต่อ กองพลพัฒนาที่ 1 / กองอำนวยการควบคุมและประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ค่ายศรีสุริยวงศ์ ต. ดอนตะโก อ. เมือง จ. ราชบุรี  โทรศัพท์ 0-3232-7801-2 ต่อ 52428, 0-3220-7383 โทรสาร 0-3232-8561

 

การจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยและ ที่ทำกิน

          ให้แบ่งพื้นที่ ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 30:30:30:10 ซึ่งหมายถึง
          - พื้นที่ส่วนที่หนึ่ง ประมาณ 30% ให้ขุดสระเก็บกักน้ำ เพื่อใช้เก็บกักน้ำฝนในฤดูฝนและ ใช้เสริมการปลูกพืชในฤดูแล้ง ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์น้ำและพืชน้ำต่าง ๆ
          - พื้นที่ส่วนที่สอง ประมาณ 30% ให้ปลูกข้าวในฤดูฝน เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน สำหรับครอบครัวให้เพียงพอตลอดปี เพื่อตัดค่าใช้จ่ายและสามารถพึ่งตนเองได้
          - พื้นที่ส่วนที่สาม ประมาณ 30% ให้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ฯลฯ เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน หากเหลือบริโภคก็นำไปจำหน่าย
          - พื้นที่ส่วนที่สี่ ประมาณ 10% เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์และโรงเรือนอื่น ๆ
 

หลักการและแนวทางสำคัญ

          1. เป็นระบบการผลิตแบบพอเพียง ที่เกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเองได้ในระดับที่ประหยัดก่อน ทั้งนี้ชุมชนต้องมีความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันทำนองเดียวกับการ "ลงแขก" แบบดั้งเดิม เพื่อลดค่าใช้จ่าย
          2. เนื่องจากข้าวเป็นปัจจัยหลักที่ทุกครัวเรือนจะต้องบริโภค ดังนั้น จึงประมาณว่าครอบครัวหนึ่งทำนา 5 ไร่ จะทำให้มีข้าวพอกินตลอดปี โดยไม่ต้องซื้อหาในราคาแพง เพื่อยึดหลักพึ่งตนเองได้อย่างมีอิสรภาพ
          3. ต้องมีน้ำเพื่อการเพาะปลูกสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้ง หรือระยะฝนทิ้งช่วงได้อย่างพอเพียง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องกันที่ดินส่วนหนึ่งไว้ขุดสระน้ำ โดยมีหลักว่าต้องมีน้ำเพียงพอที่จะทำการเพาะปลูกได้ตลอดปี ทั้งนี้ได้พระราชทานพระราชดำริเป็นแนวทางว่า ต้องมีน้ำ 1,000 ลูกบาศก์เมตร ต่อการเพาะปลูก 1 ไร่ โดยประมาณ ฉะนั้น เมื่อทำนา 5 ไร่ ทำพืชไร่หรือไม้ผลอีก 5 ไร่ (รวมเป็น 10 ไร่) จะต้องมีน้ำ 10,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี
          ดังนั้น หากมีพื้นที่ 15 ไร่ จึงมีสูตรคร่าว ๆ ว่า แต่ละแปลงประกอบด้วย นา 5 ไร่ พืชไร่พืชสวน 5 ไร่ สระน้ำ 3 ไร่ ลึก 4 เมตร จุประมาณ 19,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็น ปริมาณน้ำที่เพียงพอที่จะสำรองไว้ใช้ยามฤดูแล้ง และที่อยู่อาศัยและอื่น ๆ 2 ไร่ รวมทั้งหมด 15 ไร่
          4. การจัดแบ่งแปลงที่ดินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคำนวณและคำนึงจากอัตราถือครองที่ดินถัวเฉลี่ย ครัวเรือนละ 15 ไร่ อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรมีพื้นที่ถือครองน้อยกว่าหรือมากกว่านี้ ก็สามารถใช้อัตราส่วน 30:30:30:10 ไปเป็นเกณฑ์ปรับใช้ได้ กล่าวคือ
                    - 30% ส่วนแรก ขุดสระน้ำ (สามารถเลี้ยงปลา ปลูกพืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักกะเฉด ฯลฯ ได้ด้วย)
                    - 30% ส่วนที่สอง ทำนา
                    - 30% ส่วนที่สาม ปลูกพืชไร่ พืชสวน (ไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้ใช้สอย ไม้สร้างบ้าน พืชไร่ พืชผัก สมุนไพร เป็นต้น)
                    - 10% สุดท้าย เป็นที่อยู่อาศัยและอื่นๆ (ถนน คันดิน กองฟาง ลานตาก กองปุ๋ยหมัก โรงเรือน โรงเพาะเห็ด คอกสัตว์ ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผักสวนครัวหลังบ้าน เป็นต้น)
           อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวเป็นสูตรหรือหลักการโดยประมาณเท่านั้น สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมโดยขึ้นอยู่กับสภาพของพื้นที่ ดิน ปริมาณน้ำฝนและสภาพแวดล้อม เช่น ในกรณีภาคใต้ที่มีฝนตกชุกกว่าภาคอื่น หรือหากพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำมาเติมสระได้ต่อเนื่อง ก็อาจลดขนาดของบ่อหรือสระน้ำให้เล็กลง เพื่อเก็บพื้นที่ไว้ใช้ประโยชน์อื่นต่อไปได้

2022 © ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาราชภัฏเพชรบุรี